เอฟเฟ็กต์รัสเซียบุก “ยูเครน” เร่งนักลงทุน “แห่ทิ้ง” จีน

คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

ผลเกี่ยวเนื่องจากที่รัสเซียทำสงครามรุกรานยูเครน ยังคงออกฤทธิ์ให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดนี้มีข้อมูลบ่งชี้ว่า นักลงทุนต่างชาติได้ทิ้งการลงทุนในจีนในระดับที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ทั้งนี้ ถึงแม้จะเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายอย่าง แต่ตัวเร่งสุดท้ายคือการที่รัสเซียรุกรานยูเครน เพราะทราบกันดีว่าจีนคือประเทศที่ใกล้ชิดรัสเซีย ซึ่งนอกจากไม่ยอมแซงก์ชั่นรัสเซียแล้ว ยังงดเว้นการประณามรัสเซียอีกด้วย

ตามข้อมูลของสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (ไอไอเอฟ) ระบุว่า เดือนมีนาคมปีนี้มีเงินลงทุนต่างชาติไหลออกจากจีน 1.75 หมื่นล้านดอลลาร์ สูงสุดเป็นประวัติการณ์อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยไหลออกทั้งตลาดพันธบัตรและหุ้น ขณะที่ข้อมูลจากทางการจีนก็แสดงให้เห็นเช่นกันว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้นักลงทุนต่างชาติทิ้งพันธบัตรรัฐบาลจีน 3.5 หมื่นล้านหยวน (ประมาณ 5.5 พันล้านดอลลาร์) พอถึงเดือนมีนาคม การทิ้งพุ่งขึ้นเป็น 5.2 หมื่นล้านหยวน (ประมาณ 8.1 พันล้านดอลลาร์)

“จอร์จ แม็กนัส” ผู้เชี่ยวชาญของศูนย์จีนศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และอดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ยูบีเอส ให้สัมภาษณ์ซีเอ็นเอ็นว่า การที่จีนแสดงท่าทีสนับสนุนรัสเซียในการรุกรานยูเครน เป็นตัวกระตุ้นให้เงินทุนต่างชาติไหลออกจากจีน เพิ่มเติมจากปัจจัยด้านมาตรการคุมโควิด-19 ให้เหลือศูนย์ของจีนที่ส่งผลลบอย่างแรงต่อเศรษฐกิจอยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้ล้วนเพิ่มความไม่แน่นอนต่ออัตราการเติบโตในอนาคตของเศรษฐกิจจีน

“มาร์ติน คอร์เซมปา” นักวิชาการอาวุโสสถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศปีเตอร์สัน ชี้ว่า ท่าทีของจีนที่เอียงข้างรัสเซียทำให้นักลงทุนกังวลว่าจีนอาจตกเป็นเป้าหมายในการแซงก์ชั่นด้วยหากช่วยเหลือรัสเซีย นอกจากนี้ตัวอย่างของรัสเซียกับยูเครน อาจกระตุ้นให้จีนเสริมกำลังทหารเพื่อกดดันหรือกำราบไต้หวัน เพิ่มความวิตกให้กับนักลงทุนจนนำไปสู่การไหลออกของเงินทุนจากไต้หวันอย่างมากเช่นกัน

คอร์เซมปาระบุอีกว่า ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้เงินทุนไหลออกจากจีน แต่ยังรวมถึงมาตรการคุมโควิด-19 แบบเข้มงวดที่ทำให้นักลงทุนกลัว นอกจากนั้นการที่ธนาคารกลางสหรัฐเตรียมขึ้นดอกเบี้ยค่อนข้างมากเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ทำให้การลงทุนจีนน่าสนใจน้อยลงในแง่ผลตอบแทนเมื่อเทียบกับสหรัฐ เพราะขณะที่สหรัฐเร่งขึ้นดอกเบี้ย แต่จีนใช้นโยบายผ่อนคลายเพื่อพยุงเศรษฐกิจ

“บร็อก ซิลเวอร์” กรรมการผู้จัดการไค่หยวน แคปิตอล กล่าวว่า สาเหตุที่เงินทุนไหลออกจากจีนมาก เพราะเกิดความไม่แน่ใจเกี่ยวกับพื้นฐานความน่าลงทุนของจีนมาแต่เดิม นับตั้งแต่รัฐบาลจีนเริ่มลงมือปราบปรามบริษัทเทคโนโลยีเมื่อ 2 ปีที่แล้วอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนกังวลว่ารัฐบาลจะเล่นงานเซ็กเตอร์อื่นด้วยในปีนี้

“นักลงทุนไม่อยากเล่นเกมทายว่าพรุ่งนี้รัฐบาลจะออกกฎระเบียบอะไรออกมาอีก ที่ทำให้บริษัทหรือธุรกิจที่น่าลงทุนหมดความน่าลงทุน”

กฎระเบียบใหม่ที่รัฐบาลจีนออกมาบังคับใช้เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ทำให้อุตสาหกรรมติวเตอร์เอกชนมูลค่า 1.2 แสนล้านดอลลาร์ของจีนปิดตัวลงบริษัทนับหมื่นต้องปิดกิจการ ตามมาด้วยการสั่งแบนบริษัทตีตี้ ผู้ให้บริการแอปดีลิเวอรี่ใหญ่สุดของจีน เพียงไม่กี่วันหลังจากตีตี้เปิดไอพีโอในตลาดสหรัฐ สร้างความตื่นตกใจให้กับนักลงทุนต่างประเทศ ทำให้เกิดการเทขายหุ้นจีนทั่วโลก และตีตี้ได้รับความเสียหายอย่างหนัก

“ฉี หวัง” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายลงทุนของเมกะทรัสต์ อินเวสต์เมนต์ในฮ่องกง ระบุว่า เงินลงทุนที่ไหลออกจากจีนส่วนหนึ่งอาจเข้าลงทุนในสินทรัพย์ที่เป็นดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวกันก็ชัดเจนว่ามีการย้ายเงินไปลงทุนอินเดียแทน

การปราบปรามภาคเอกชนส่งผลกระทบต่อบรรดากองทุนเอกชนที่เน้นลงทุนในจีนด้วย ซึ่งข้อมูลของพรีคิน บริษัทรวบรวมข้อมูลการลงทุน ระบุว่า ไตรมาสแรกปีนี้การระดมเงินดอลลาร์เพื่อลงทุนในจีนมีเพียง 1.4 พันล้านดอลลาร์ ลดลง 70% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

ขณะที่ผลสำรวจของเบน&คอมปะนีก็ออกมาในลักษณะเดียวกัน โดยพบว่ากองทุนหุ้นเอกชนที่เน้นลงทุนในจีน+ฮ่องกง+มาเก๊า+ไต้หวัน หรือที่เรียกว่า Greater China ดึงดูดเงินลงทุนใหม่ได้เพียง 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์ ในช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้ว ลดลง 54% จากครึ่งแรก เนื่องจากนักลงทุนเกิดความวิตกกังวลมากขึ้นจากปัญหาความไม่แน่นอนด้านการเมืองและเศรษฐกิจในตลาดจีน