วิกฤตรัสเซียดันค่าก่อสร้างพุ่ง กรมชลจ่อปรับขึ้นค่ากลางประมูลรอบใหม่

ไม่หวั่นต้นทุนก่อสร้างพุ่ง กรมชลฯเดินหน้าโครงการชลประทาน ปี’65 ตามแผน 7 หมื่นล้านฉลุย ยืนยันไม่มีผู้รับเหมาถอนตัว-ปรับสัญญา เตรียมทบทวนค่ากลางใหม่อัพราคา 10% หลังราคาวัสดุก่อสร้าง พุ่ง 10-15% จากพิษวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ต้นทุนค่าขนส่งทุบซ้ำ ทั้งแรงงานก่อสร้างขาดกระทบไซต์งานชะลอ

นายเสริมชัย เซียวศิริถาวร ผู้อํานวยการสํานักพัฒนาแหล่งนํ้าขนาดใหญ่ กรมชลประทาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจทั่วโลก อีกทั้งล่าสุดเกิดวิกฤตสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อได้ส่งผลกระทบต้นทุนราคาเหล็ก ค่าวัสดุก่อสร้าง ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นมากกว่า 10-15%

อย่างไรก็ตาม โครงการชลประทานตามแผนงบประมาณปี 2565 ที่ทำสัญญาไปแล้ว ยังสามารถดำเนินงานต่อไปได้ โดยยังไม่มีคำสั่งให้ชะลอหรือถอนโครงการใด เพียงแต่ผลกระทบจากโควิดอาจจะทำให้เกิดปัญหาขาดแรงงานก่อสร้างบางโครงการ ซึ่งอาจจะทำให้ล่าช้าออกไปบ้างไม่มากนัก

อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น อาจกระทบกับการก่อสร้างโครงการชลประทานเฟสใหม่ที่ยังไม่มีการก่อสร้าง ยังไม่มีการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยค่าก่อสร้างอาจจำเป็นต้องปรับราคาประกวดเพิ่มขึ้น โดยกรณีหากมีการประกวดราคาโครงการรับเหมาก่อสร้าง ราคากลางอาจจะเพิ่ม 10% แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับรายการและขนาดของโครงการ

ยกตัวอย่าง หากโครงการก่อสร้างใช้งบประมาณ 2-3,000 ล้านบาท จะพิจารณาเป็นรายโครงการทั้งจากค่าวัสดุ งานดิน ราคาน้ำมัน ราคาเหล็ก ประกอบการพิจารณาราคา โดยที่น่าห่วงน่าจะเป็นราคาเหล็ก คอนกรีตเสริมเหล็ก เหล็กรีดร้อน ราคาขึ้นมากพอสมควร โดยเฉพาะตะเเกรงเหล็ก ราคาขึ้นจากปกติกว่า 30-50% จากสถานการณ์เหล็กโลกปรับตัวสูงซึ่งทั่วโลกเผชิญไม่ต่างกัน

โดยปัจจุบันโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการคลองระบายนํ้าหลากบางบาล-บางไทร ที่ก่อสร้างภายใต้งบประมาณ 21,000 ล้านบาท คืบหน้าแล้วกว่า 23.9% โดยมีผู้รับเหมา 3 ฉบับ 3 ผู้รับเหมา คือ บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งโครงการดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่สายป่านยาว ในช่วงที่ต้นทุนเพิ่มก็ยังสามารถจ่ายส่วนต่างเองได้ ส่วนบางรายที่เป็นรายเล็ก รับเหมาโครงการขนาดเล็กอาจต้องชะลอบ้าง

ทั้งนี้ ผู้รับเหมาทุกรายเล็กรายใหญ่ก็สามารถดำเนินการภายใต้สัญญาราคาชดเชยราคางานก่อสร้าง หรือค่า K ตามสัญญาราชการระบุ และกรมชลประทานเองก็ติดตามงานทุกวัน เร่งรัดงานให้เป็นไปตามแผน ภาพรวมทุกโครงการยังเป็นไปตามแผนมีล่าช้าบ้าง อย่างบางบาล-บางไทรช้ากว่าแผนเพียงแค่ 0.3% เพราะบางช่วงช่วงแรงงานต้องกักตัว สถานการณ์โควิดเป็นปัจจัยหลักในระยะเวลางานมากกว่า แต่เชื่อว่าหลังจากเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป ต้นทุนต่าง ๆ น่าจะคลี่คลายขึ้นจากภาวะสงครามและนโยบายผ่อนคลายมาตรการของรัฐบาล

“กรณีราคาวัสดุก่อสร้าง ราคาเหล็กก็มีสูตรราคาชดเชยราคางานก่อสร้าง หรือค่า K ตามสัญญาราชการระบุเพราะฉะนั้นผู้รับเหมาที่เป็นรายใหญ่มีสายป่านยาว ก็สามารถดำเนินงานปกติ ยังไม่มีรายใดมาถอนสัญญา แต่ต้องยอมรับว่าบางรายที่เป็นรายเล็ก ผู้รับเหมาโครงการขนาดเล็กอาจต้องชะลอบ้าง แต่ถอนตัวไปเลยก็ไม่มีเช่นกัน เพราะก่อนดำเนินการต้องเป็นไปตามสัญญาราชการอยู่แล้วไม่สามารถถอนโครงการได้ ซึ่งแนวทางที่ผ่านมาและตอนนี้ผู้รับเหมาสามารถทำหนังสือขอลด งดค่าปรับตามมาตรา 693 ภายใต้มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ก็สามารถทำได้ เพื่อบรรเทาต้นทุน ผลกระทบ” นายเสริมชัยกล่าว

รายงานข่าวระบุว่า ในปี 2565 กรมชลประทานได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายลงทุน 70,135 ล้านบาท เพื่อดําเนินงานก่อสร้าง งานปรับปรุง ซ่อมแซม โครงการศึกษาสํารวจออกแบบ งานขุดลอก โครงการระบบส่งน้ำ สถานีสูบน้ำไฟฟ้า ระบบส่งน้ำพร้อมอาคารประกอบ โครงการอ่างเก็บน้ำงานเพิ่มประสิทธิภาพ รวมจํานวนกว่า 9,554 รายการ

โดยในจำนวนนี้ มีโครงการดําเนินงานก่อสร้างด้านพัฒนาแหล่งน้ำ จํานวน 502 รายการ ซึ่งอยู่ภายใต้งบประมาณ 28,419 ล้านบาท หากดำเนินโครงการแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ทั้งสิ้น 1,506,548 ไร่ ปริมาณเก็บกักน้ำ จํานวน 1,092.19 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)