ตระกูล ราชปักษา นำพา ศรีลังกา มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

May 11, 2022. REUTERS/Dinuka Liyanawatte

เหตุประท้วงและก่อการจลาจลในศรีลังกาที่ขยายไปทั่วประเทศตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน มาจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ประชาชนต่างเห็นว่า รัฐบาลตระกูล ราชปักษา มีส่วนต้องรับผิดชอบมากที่สุด

วันที่ 11 กรกฎาคม 2565 สถานการณ์ผู้ประท้วงผู้นำรัฐบาลในประเทศศรีลังกา ล่าสุดตามรายงานของ เอ็นดีทีวี ระบุว่ามวลชนได้เข้ายึดทำเนียบบ้านพักประธานาธิบดี โดยมีคลิปเผยแพร่ภาพผู้ประท้วงนั่งนับปึกเงินสดที่พบในทำเนียบบ้านพัก ประธานาธิบดีศรีลังกา หลังมวลชนนับพันคนบุกเข้าไปในอาคาร เมื่อวันเสาร์ที่ 9 ก.ค. ส่วนนายโกตาบายา ราชปักษา ประธานาธิบดี หนีออกไป ก่อนให้คนมาแจ้งว่าจะลาออกจากตำแหน่งวันพุธที่ 13 ก.ค.นี้

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 สำนักข่าว เอพี รายงานวิกฤตการณ์ที่ประเทศศรีลังกาว่า กองทัพส่งกำลังทหารและรถถังออกลาดตระเวนบนถนนในกรุงโคลอมโบ หลังจากประธานาธิบดี โกตาบายา ราชปักษา มีคำสั่งให้เคลื่อนกำลังทหารเข้ามารักษาความปลอดภัยในเมืองหลวง และให้สิทธิยิงผู้ก่อจลาจลและความรุนแรงได้

สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังเหตุปะทะกันครั้งใหญ่ระหว่างผู้ประท้วงและผู้สนับสนุนรัฐบาลเมื่อวันจันทร์ 9 พ.ค. ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปอย่างน้อย 9 ราย บาดเจ็บร่วม 200 คน กระทั่งนายกรัฐมนตรีมหินทา ราชปักษา ยอมลาออกจากตำแหน่ง และย้ายเข้าไปอยู่ในค่ายทหารของกองทัพเรือ

แต่ประชาชนยังคงประท้วงต่อเนื่อง เพราะต้องการให้ประธานาธิบดีลาออกไปด้วยกัน ระหว่างนั้นกลุ่มผู้ประท้วงที่โกรธแค้นพากันวางเพลิงเผาบ้านของบรรดาผู้นำรัฐบาล รวมถึงบ้านเก่าของต้นตระกูลราชปักษาในเมืองฮัมบันโททา ทางตอนใต้ของประเทศด้วย

ราชปักษา
(FILES) นายมหินทา ราชปักษา นายกรัฐมนตรี รับไว้จากนายโกตาบายา น้องของตนเอง ที่เป็นประธานาธิบดี  (Photo by Ishara S. KODIKARA / AFP)

การที่ทหารเข้ามาควบคุมเมืองหลวง ทำให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงกลาโหม นายกามวล กุนารัตเน ต้องออกมายืนยันว่า กองทัพไม่ได้เข้ายึดอำนาจใดๆ ประธานาธิบดีราชปักษาซึ่งเป็นทหารเก่ายังคงเป็นรมว.กลาโหมด้วย

“ไม่มีใครในหมู่เจ้าหน้าที่ทหารปรารถนาจะยึดอำนาจรัฐบาล มันไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศของเรา และไม่ง่ายด้วยที่จะทำเช่นนั้น” กุนารัตเนกล่าว และยืนยันว่า ทหารจะกลับเข้ากรมกองทันทีที่สถานการณ์ความมั่นคงเข้าสู่ภาวะปกติ

ศรีลังกาต้องเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงที่สุด นับแต่ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรเมื่อปี 1948 (พ.ศ.2491) ประชาชนต่างกล่าวโทษว่า วิกฤตครั้งนี้ส่วนใหญ่เกิดมาจากการบริหารงานที่ผิดพลาดของรัฐบาลที่นำโดยตระกูลราชปักษา

ซากรถยนต์ถูกเผาลอยอยู่ในสระบริเวณการปะทะระหว่างผู้ประท้วงสองฝาย ใกล้บ้านนายกฯ ราชปักษา May 10, 2022. REUTERS/Dinuka Liyanawatte

บริหารพลาด-หนี้สินล้นประเทศ

จากรายงานของสำนักข่าว รอยเตอร์ นักวิเคราะห์ต่างมองว่า การบริหารจัดการเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ผิดพลาด ส่งผลต่อภาคการเงินการคลังของประเทศ ค่าใช้จ่ายสูงล้ำเกินรายได้ ส่วนภาคการผลิตไม่อาจผลิตสินค้าและบริการอยู่ในระดับที่ไม่เพียงพอ

สถานการณ์ย่ำแย่ลงไปอีก เมื่อรัฐบาลตัดลดภาษีอย่างแรงนับจากปี 2562 ที่ชนะการเลือกตั้งสมัยสอง จากนั้นไม่นานก็เกิดสถานการณ์โรคระบาดโควิดเข้ามาซ้ำเติม ทำให้ฐานรายได้หลักของศรีลังกาที่ขึ้นอยู่กับภาคการท่องเที่ยวหายวับไปกับตา ส่วนการสร้างรายได้จากภาคแรงงานที่ไปทำงานต่างประเทศหดหายไปเช่นกัน

บรรดาบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินต่างแสดงความกังวลว่าสถานะการเงินการคลังของศรีลังกาไม่อาจจะจ่ายหนี้ต่างประเทศได้ จึงลดระดับความน่าเชื่อถือลงตั้งแต่ปี 2563 จนศรีลังกาถูกกันออกจากตลาดการเงินระหว่างประเทศไปโดยปริยาย

ขณะเดียวกัน การที่รัฐบาลศรีลังกานำเงินสำรองระหว่างประเทศออกมาใช้ ทำให้เงินร่อยหรอลงไปอย่างรวดเร็วมากกว่า 70% ภายในสองปี

นายหวังอี้ รมว.ต่างประเทศจีน มาพบนายมหินทา ราชปักษา เมื่อ 9 ม.ค. 2022. REUTERS/Dinuka Liyanawatte/File Photo

แม้ว่าปัจจัยด้านเศรษฐกิจของศรีลังกาย่ำแย่เต็มที รัฐบาลนายราชปักษาได้แต่เปิดการเจรจากับไอเอ็มเอฟ ทั้งที่ผู้นำฝ่ายค้านและผู้เชี่ยวชาญภาคการเงินจะเรียกร้องให้รัฐบาลต้องออกมาตรการออกมารับมือและปรับปรุงสถานการณ์ให้ดีขึ้น

แต่รัฐบาลกลับไม่ทำอะไร รอแต่ว่าจะเปิดประเทศรับการท่องเที่ยว อีกทั้งยังพยายามขอความช่วยเหลือจากสองชาติมหาอำนาจ คืออินเดียและจีนให้ช่วยเหลือ ทั้งที่อินเดียให้เงินสนับสนุนศรีลังกามาแล้วถึง 3,500 ล้านดอลลาร์ หรือราว 119,000 ล้านบาทในปีนี้

ร้านรวงในเมืองหลวงปิดตัว (AP Photo/Eranga Jayawardena)

ส่วนจีน นายราชปักษาขอให้ช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้ใหม่ จากที่ศรีลังกาติดหนี้จีนอยู่ 3,500 ล้านดอลลาร์ หลังจากเมื่อปลายปี 2564 จีนก็ให้ศรีลังกามาแล้ว 1,500 ล้านดอลลาร์ในรูปแบบ denominated swap

สำหรับการใช้ชีวิตของประชาชน นอกจากเผชิญกับสินค้าราคาแพง ต่อคิวยาวเหยียดหน้าปั๊มน้ำมัน เจอกับไฟดับอยู่บ่อย ๆ ที่น่าวิตกมากคือยารักษาโรคเหลือน้อยลงเรื่อย ๆ

ประธานาธิบดีราชปักษาพยายามดิ้นรนในตำแหน่งต่อไป หลังนายมหินทายอมลาออก โฆษกคณะรัฐมนตรีกล่าวว่าประธานาธิบดีมีแผนที่จะหารือกับนักการเมืองฝ่ายค้านโดยคาดหวังว่าจะจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในเร็ววัน

ส่วนกลุ่มนักธุรกิจเรียกร้องให้รัฐบาลหาทางออกโดยเร็ว สมาคมเครื่องนุ่งห่ม ตัวแทนภาคอุตสาหกรรมที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของศรีลังกาออกแถลงการณ์เมื่อวันอังคารที่ 10 .. ว่าเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลชุดใหม่จะเข้ามารับผิดชอบ

จากตระกูลเจ้าของที่ดินสู่อำนาจ

ด้าน บีบีซี ไทย รายงานเบื้องหลังการเข้าสู่การเมืองของตระกูลราชปักษาว่า ก่อนหน้าที่นายมหินทา ราชปักษา จะเริ่มมีชื่อเสียงในแวดวงการเมืองศรีลังกา ตระกูลราชปักษาไม่เคยเกี่ยวข้องกับการเมืองระดับชาติมาก่อน

ราชปักษาเป็นตระกูลเจ้าของที่ดินในเมืองฮัมบันโททา ซึ่งรับมรดกตกทอดสืบต่อกันมาหลายชั่วรุ่น จนกระทั่งนายมหินทาได้รับเลือกเป็น ส.ส.ครั้งแรกเมื่อปี 1970 (พ.ศ.2513) โดยเป็นผู้แทนราษฎรที่มีอายุน้อยที่สุดในรัฐสภา

ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1980 นายชามาล พี่ชายของนายมหินทาก็ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ด้วยเช่นกัน

ราชปักษา
ผู้ประท้วงใส่หน้ากากสมาชิกครอบครัวราชปักษาที่ก้าวมาเป็นรัฐบาล April 29, 2022.  (AP Photo/Eranga Jayawardena)

นายมหินทาได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก หลังกล่าวประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อกลุ่มกบฏฝ่ายซ้าย ในช่วงปี 1987-1989 (พ.ศ.2530-2532) ทั้งเรียกร้องให้สหประชาชาติเข้าแทรกแซงเพื่อแก้ไขสถานการณ์

ปี 1994 (พ.ศ.2537) นายมหินทาได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีแรงงาน ในรัฐบาลของประธานาธิบดีจันทริกา กุมาระตุงคะ

สิบปีต่อมาก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 2005 (พ.ศ.2548) และดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสองสมัย ระหว่างปี 2005-2015 (พ.ศ.2548-2558)

ช่วงเวลาดังกล่าวมีบทบาทสำคัญในการยุติสงครามกลางเมือง ซึ่งรัฐบาลของชาวพุทธเชื้อสายสิงหลได้สู้รบกับกลุ่มกบฏพยัคฆ์ทมิฬมานานเกือบ 30 ปี

ราชปักษา
FILE – Mahinda Rajapaksa, left, and his brother Gotabaya Rajapaksa  (AP Photo/Eranga Jayawardena, File)

พี่น้องเข้าสู่การเมืองพร้อมหน้า

แม้ในขณะที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสองสมัยแรกนั้น นายมหินทาจะถูกกล่าวหาว่ากระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน ต่อชนกลุ่มน้อยเชื้อสายทมิฬและชนกลุ่มน้อยที่ไม่ใช่ชาวพุทธ รวมทั้งถูกกล่าวหาว่าฉ้อราษฎร์บังหลวงอีกด้วย แต่เรื่องอื้อฉาวเหล่านี้ไม่อาจหยุดยั้งการนำญาติพี่น้องเข้ากุมอำนาจในภาคส่วนต่าง ๆ ของรัฐบาลได้

นายโกตาบายา น้องชายของนายมหินทาซึ่งเป็นประธานาธิบดีศรีลังกาคนปัจจุบัน เคยมีตำแหน่งระดับสูงในกระทรวงกลาโหมมาก่อน และมีบทบาทสำคัญในการช่วยพี่ชายปราบปรามกลุ่มกบฏพยัคฆ์ทมิฬ ในช่วงสงครามกลางเมือง

ส่วนนายชามาล พี่ชายของนายมหินทาได้รั้งตำแหน่งสูงในหลายกระทรวง รวมถึงกระทรวงเกษตร การประมง และการชลประทาน

ด้านนายบาซิลซึ่งเป็นน้องชายอีกคนนั้น นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีคลังและกำกับดูแลงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ

ครอบครัวราชปักษา / twitter : Gotabaya Rajapaksa

เครือญาติของพี่น้องทั้งสี่ยังได้ตำแหน่งสูงในรัฐบาลกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายนามาล ลูกชายของนายมหินทา ซึ่งได้เป็นถึงรัฐมนตรีกระทรวงกีฬา ขณะที่นายโยศิธา ลูกชายอีกคนได้เข้ามาช่วยพ่อบริหารงาน ในตำแหน่งหัวหน้าเจ้าหน้าที่ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

แม้ตระกูลราชปักษาต้องสูญเสียอำนาจทางการเมืองไปชั่วคราว หลังจากนายมหินทาแพ้การเลือกตั้งในปี 2015 แต่ 4 ปีหลังจากนั้นพวกเขาหวนคืนสู่สังเวียนการเมืองอีก โดยคราวนี้มีนายโกตาบายาเป็นตัวแทนลงทำศึกชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เนื่องจากกฎหมายห้ามนายมหินทาซึ่งเคยเป็นประธานาธิบดีแล้วถึงสองสมัยลงสมัครรับเลือกตั้งอีก

นายโกตาบายาหาเสียงด้วยการชูประเด็นชาตินิยม รวมทั้งเน้นย้ำถึงภาพลักษณ์ของผู้นำตระกูลราชปักษา ซึ่งมีผลงานโดดเด่นด้านการรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศเป็นสำคัญ

สิ่งนี้ทำให้นายโกตาบายาได้รับคะแนนเสียงท่วมท้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเกิดเหตุก่อการร้ายโดยกลุ่มที่เรียกตัวเองว่ารัฐอิสลาม หรือ ไอเอส ในเดือน เม.ย.2019 (พ.ศ.2562) คร่าชีวิตผู้คนไปถึง 250 ราย

นายมหินทา และนายโกตาบายา สองพี่น้องราชปักษา this file photo taken on November 22, 2019  (Photo by ISHARA S. KODIKARA / AFP)

ข้อกล่าวหาคอร์รัปชัน

เสียงเล่าลือว่าพี่น้องตระกูลราชปักษาทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง ไม่เคยลบเลือนหายไป แต่กลับมาโหมอีกครั้ง ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจหลังเกิดการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19

ประชาชนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่า นายมหินทาคือผู้เปิดทางให้เครือญาติในตระกูลเข้ามาปล้นชิงความมั่งคั่งของประเทศ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางการเงินส่วนตน ป้ายข้อความที่กลุ่มผู้ประท้วงชูและคำขวัญที่พวกเขาร้องตะโกนไปตามท้องถนน ล้วนแต่เรียกร้องให้ผู้นำรัฐบาล “คืนเงินที่ขโมยไป”

คะแนนนิยมที่ตกต่ำลงอย่างมากของตระกูลราชปักษาในตอนนี้ ถึงกับทำให้เกิดความร้าวฉานแตกแยกภายในหมู่พี่น้องกันเอง เมื่อช่วงปลายเดือน เม.ย. มีรายงานว่านายมหินทาและโกตาบายาขัดแย้งกัน ในเรื่องช่วงชิงอำนาจควบคุมกลุ่มผู้สนับสนุน

ประชาชนชุมนุมไล่ประธานาธิบดี April 19, 2022. REUTERS/Navesh Chitrakar

ภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำถึงขีดสุด ทำให้ประชาชนที่เคยลงคะแนนเสียงเลือกนายโกตาบายาเป็นผู้นำมาก่อน หันมาชูป้ายและตะโกนข้อความ “โกตา โก โฮม” (Gota go home) ซึ่งฟังดูคล้ายกับประโยคภาษาอังกฤษที่ว่า “ต้องกลับบ้านแล้ว”

อย่างไรก็ตามคำว่า “โกตา” ในที่นี้ คือชื่อเล่นของนายโกตาบายา ข้อความดังกล่าวจึงมีความหมายว่า “โกตากลับบ้านไป” ซึ่งเป็นการขับไล่ประธานาธิบดีคนปัจจุบันออกจากตำแหน่ง

แต่จนถึงบัดนี้ ยังไม่มีวี่แววว่านายโกตาบายาจะทำตามเสียงเรียกร้องนั้นแต่อย่างใด ในขณะที่เหตุจลาจลลุกลามสู่การเผาทำลายบ้านของเครือญาติตระกูลราชปักษา รวมทั้งบ้านของนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลหลายหลัง

บ้านรัฐมนตรีในรัฐบาลมหินทา ถูกผู้ประท้วงเผา in Arachchikattuwa, Sri Lanka, April May 9, 2022. REUTERS/Stringer

นอกจากนี้ยังมีการทำลายหลุมศพและอนุสรณ์สถานของบุพการีผู้ให้กำเนิดสี่พี่น้องราชปักษาด้วย เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าพวกเขายักยอกเงินของรัฐมาใช้ในการก่อสร้าง

มีการประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ และมีแววว่านายโกตาบายาอาจเดินหน้าปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงอย่างเด็ดขาด แม้ว่าบรรดารัฐมนตรีและนักการเมืองผู้สนับสนุนลาออกกันไปเกือบหมดแล้วก็ตาม

ตลอดสองทศวรรษมานี้ ตระกูลราชปักษาครองอำนาจสูงสุดในศรีลังกา จนมีมุขขำขันว่า ผู้แทนจีนที่มาเยือนศรีลังกาถามขึ้นด้วยความประหลาดใจ ว่า “ประเทศนี้ทุกคนนามสกุลราชปักษาหมดเลยหรือ” แต่ปัจจุบันนี้ มุขดังกล่าวไม่ขำอีกแล้ว

ความรุนแรงและเหตุจลาจลอาจดำเนินต่อไป แต่เป็นที่แน่นอนแล้วว่า ตระกูลราชปักษาได้สูญเสียการยึดกุมอำนาจอย่างเหนียวแน่นตลอดสองทศวรรษไปโดยสิ้นเชิง ซึ่งยากที่จะช่วงชิงกลับคืนมาได้อีกครั้ง

ศรีลังกาเข้าสู่ภาวะ ‘กลียุค’ เสี่ยงล้มละลาย ‘เบี้ยวหนี้’ นานาชาติ
ศรีลังกากระอัก วิกฤตเศรษฐกิจ ปธน.ปลดน้องพ้นรมว.คลัง ดิ้นตั้งรัฐบาลแห่งชาติ