เบื้องหลังวิกฤต ‘คริปโต’ ผวาลามระบบการเงิน

คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินดิจิทัลหรือคริปโตเคอร์เรนซี ร่วงลงอย่างหนักเพิ่งจะทรงตัวได้ในตอนปลายสัปดาห์ แต่บรรยากาศก็ยังเต็มไปด้วยความเคลือบแคลงสงสัย และไม่ไว้วางใจอยู่ดีนั่นเอง

คริปโตเคอร์เรนซี มีธรรมชาติที่ผันผวนอย่างหนัก ที่พบเห็นกันเป็นประจำก็คือการขึ้นหรือลงมากถึง 10% ภายในวันเดียว จนกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปแล้ว

กระนั้นก็ยังมีคนที่พยายามสร้างเสถียรภาพให้กับเงินสกุลดิจิทัลทั้งหลายเหล่านี้ วิธีการหนึ่งที่นิยมกันมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็คือการออกสกุลเงินดิจิทัลที่มีดอลลาร์หนุนหลัง เพื่อค้ำประกันว่า ทุก ๆ 1 เหรียญดิจิทัล สามารถแลกเป็นดอลลาร์ได้จริง ๆ 1 ดอลลาร์

นั่นคือที่มาของ “สเตเบิลคอยน์”

สเตเบิลคอยน์ จำแนกออกได้เป็น 2 ประเภท หนึ่งคือเงินดิจิทัลที่มีเงินดอลลาร์ หรือมีทรัพย์สินที่แท้จริงหนุนหลังจริง ๆ ซึ่งอาจจะเป็นเงินดอลลาร์ หรือทรัพย์สินอื่น ๆ อาทิ อสังหาริมทรัพย์ เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันที่อัตรา 1 ต่อ 1 คือ 1 คริปโตต่อ 1 ดอลลาร์

อีกประเภทหนึ่งเรียกกันว่า “อัลกอริธมิค สเตเบิลคอยน์” คือเงินคริปโต ที่ออกโดยมีหลักทรัพย์หนุนหลังเช่นกัน แต่ไม่ได้เป็นทรัพย์สินจริง ๆ หากแต่เป็นสกุลเงินคริปโตอื่น ๆ ที่ผู้ออกถือครองอยู่เป็ทุนสำรอง เพื่อให้อ้างได้ว่าเป็นคริปโตที่มีหลักประกันในอัตรา 1 ต่อ 1 ดอลลาร์ เช่นเดียวกัน

ปัญหาของเงินดิจิทัลประเภทอัลกอริธมิค สเตเบิลคอยน์ ก็คือ ทุกอย่างเป็นเพียงแค่คำกล่าวอ้าง ที่ขึ้นอยู่กับความเชื่อของนักลงทุน เนื่องจากไม่มีวันที่หลักทรัพย์ที่ไม่มีเสถียรภาพจะกลายเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันให้สกุลเงินใด ๆ มีเสถียรภาพได้

“อัลกอริธมิค คอยน์” ไม่มีวันคงอัตราแลกเปลี่ยนกับดอลลาร์ไว้ที่ 1 ต่อ 1 ได้ ในกรณีที่ตลาดคริปโตทั้งตลาดร่วงลงอย่างหนัก ซึ่งนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับเงินคริปโตสกุลเทอร์รา ยูเอสดี (เรียกกัน
สั้น ๆ ว่า ยูเอสที) และลูนา ของเทอร์ราฟอร์ม แล็บ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

เมื่อเดือนกันยายน 2020 “โด กวอน” ผู้ก่อตั้งเทอร์ราฟอร์ม แล็บ ออกเหรียญคริปโตออกมา 2 ตัวพร้อม ๆ กัน หนึ่งคือ เทอร์รา ยูเอสดี หรือ “ยูเอสที” อีกหนึ่งคือ “ลูนา” โดยกำหนดให้ 1 ยูเอสที มีค่าเท่ากับ 1 ดอลลาร์ โดยอ้างว่ามีโทเค็นมูลค่า 18,000 ล้านดอลลาร์ หนุนหลัง ในขณะที่ปล่อยให้ ลูนา มีค่าเปลี่ยนแปลงขึ้นลงได้ตามกลไกตลาด

ทั้งยูเอสที และลูนา ถูกผูกโยงเข้าด้วยกัน ผ่านทาง Anchor Protocol อันเป็นระบบที่แยกต่างหากสำหรับใช้สร้างเสถียรภาพให้กับยูเอสที

ในกรณีที่ยูเอสที มีมูลค่าเกิน 1 ดอลลาร์ บริษัทสามารถออกเหรียญยูเอสทีเพิ่มขึ้นได้ ด้วยการลดจำนวนเหรียญลูนา ที่มีมูลค่าเทียบเท่ากับ 1 ดอลลาร์ลง

ในทางตรงกันข้าม หากยูเอสทีมีมูลค่าลดลงต่ำกว่า 1 ดอลลาร์ บริษัทก็จะเพิ่มจำนวนเหรียญลูนา ขึ้นโดยผ่านระบบที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง อย่าง Anchor Protocol ซึ่งจะจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้ที่ให้ยืม ยูเอสที ที่อัตรา 20% โดยจะจ่ายเป็นเหรียญยูเอสที หากไม่มีทั้งผู้ให้กู้และผู้ยืมมากพอ บริษัทจะเป็นผู้ทำหน้าที่อุดหนุนดอกเบี้ยเพื่อการนี้เอง โดยดึงจากเงินทุนประกอบการของบริษัท

ระบบที่ว่านี้ ทำให้เราเห็นได้ชัดว่า ทั้งยูเอสทีและลูนา ไม่น่าจะถูกเรียกว่า สเตเบิลคอยน์ เพราะมันไม่มีอะไรค้ำประกันเลยแม้แต่น้อย

ปัญหาเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2022 ที่ผ่านมา เมื่อมีผู้ถอนเงินมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์ ออกจาก Anchor ทำให้ Anchor หลงเหลือสภาพคล่องสำหรับใช้หนุนหลังยูเอสที ที่มีมูลค่าในตลาดในเวลานั้นสูงถึง 14,000 ล้านดอลลาร์ อยู่เพียงแค่ 300 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ผู้ถือยูเอสที พร้อมใจกันถอน ยูเอสที มูลค่า 3,800 ล้านดอลลาร์ ออกจาก Anchor ทำให้ค่าเงินยูเอสทีร่วงลงมาจาก 1 ดอลลาร์ เหลือเพียง 0.987 ดอลลาร์ และทำให้มูลค่าของลูนา หายไป 10% ในชั่วพริบตา

นั่นยังไม่นับเงินคริปโต ยูเอสที ที่ถูกขายผ่าน Curve และ Binance อีกต่างหาก

พอถึงวันที่ 8 พฤษภาคม เทอร์ราฟอร์ม แล็บ พยายามเติมสภาพคล่องของยูเอสทีตลอดทั้งวัน โดยการเทขายบิตคอยน์ มูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์ออกมา กระนั้นพอถึงเช้าวันที่ 9 พฤษภาคม ทุนสำรองของ Anchor ก็ลดฮวบลงเหลือเพียง 9,000 ล้านดอลลาร์ ราคาลูนาร่วงวูบทันที ในขณะที่ยูเอสที หล่นวูบลงมาอยู่ที่ 0.65 ดอลลาร์เท่านั้น

บิตคอยน์เองร่วงลงมาจาก 35,857 ดอลลาร์ ในวันที่ 7 พฤษภาคม ลงมาอยู่ที่ 29,735 ดอลลาร์ ในเช้าวันที่ 10 และ 25,500 ดอลลาร์ เมื่อถึงเช้าวันที่ 12 พฤษภาคม

ราคาหุ้นของคอยน์เบส ซึ่งเป็นตลาดแลกเปลี่ยนคริปโตก็วูบลงตามมาเช่นเดียวกัน

นักการเงินบางคนถึงกับระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเหมือนการจำลองวิกฤตการณ์หนี้เมื่อปี 2008 มาเกิดขึ้นอีกครั้้ง เพียงแต่ขนาดย่อมกว่าเท่านั้นเอง

กระนั้นก็อดมีคำถามเกิดตามมาไม่ได้ว่า วิกฤตครั้งนี้จะลุกลามต่อไปหรือไม่ และจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมมากน้อยแค่ไหนกันแน่