‘นักลงทุนกอดเงินสด’ สูงสุดรอบ 21 ปี สะท้อน ‘ตลาดหุ้นมะกัน’ ส่อซึมยาว

‘นักลงทุนกอดเงินสด’ สูงสุดรอบ 21 ปี
ภาพจาก Pixabay
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

เป็นที่แน่นอนแล้วว่า นับจากนี้ไปคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะต้องขึ้นดอกเบี้ยแบบรัว ๆ ต่อเนื่องกัน หลังจากเงินเฟ้อเดือนเมษายนยังทรงตัวในระดับสูงที่ 8.3% แม้จะต่ำกว่าเดือนมีนาคมซึ่งอยู่ที่ 8.5% ก็ตาม ซึ่งสร้างความกลัวให้กับนักลงทุนเพราะเกรงว่าเศรษฐกิจจะถดถอย นั่นหมายถึงสภาวะที่ไม่เอื้อต่อตลาดหุ้น

เมื่อเร็ว ๆ นี้ แบงก์ ออฟ อเมริกา เปิดเผยผลสำรวจที่น่าสนใจ ผลสำรวจนี้ได้จากการสอบถามบรรดาผู้จัดการกองทุนที่มีเงินลงทุนภายใต้การบริหารจัดการ 8.72 แสนล้านดอลลาร์ พบว่านักลงทุนเหล่านี้เลือกที่จะถือเงินสดในระดับสูงที่สุดนับจากเดือนกันยายน 2001 โดยพวกเขาระบุว่า

ปัจจัยเสี่ยงใหญ่ที่สุดก็คือการที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอย่างดุดัน รองลงมาคือเศรษฐกิจโลกที่อาจจะถดถอย รวมทั้งเกรงว่าจะเกิดภาวะ stagflation หรือสภาพที่เศรษฐกิจชะงักแต่เงินเฟ้อสูง ระดับความกลัวของนักลงทุนที่มีต่อปัจจัยเหล่านี้ถือว่าสูงสุดนับจากปี 2008 อันเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินร้ายแรงในสหรัฐ

แบงก์ ออฟ อเมริกา ชี้ว่า ผลสำรวจสะท้อนให้เห็นว่ามุมมองของนักลงทุนที่มีต่อตลาดหุ้นนั้น “ซึมเซาสุดขีด” พวกเขาเห็นว่าตลาดหุ้นยังไม่ลงไปแตะจุดต่ำสุด เนื่องจากเฟดจะยังขึ้นดอกเบี้ยอีก ตลาดหุ้นจึงจะตกไปเรื่อย ๆ ทำให้โดยรวมแล้วนักลงทุนเลือกจะถือเงินสด ตามด้วยการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ สินค้าเกี่ยวกับสุขภาพ และสินค้าจำเป็นสำหรับการอุปโภคบริโภค

ขณะเดียวกันนักลงทุนขายอย่างหนักในหุ้นเทคโนโลยี นับเป็นการขายมากที่สุดนับจากปี 2006 โดยเฉพาะหุ้นเทคโนโลยีที่เกิดภาวะฟองสบู่แล้ว นอกจากนี้ยังขายหุ้นยุโรปและตลาดเกิดใหม่อย่างหนักด้วย

นักกลยุทธ์หลายคนชี้ว่า ผลสำรวจดังกล่าว ให้ภาพในอนาคตที่ซบเซาของหุ้นทั่วโลก ซึ่งย่ำแย่อยู่แล้วหลังจากดิ่งลงรายสัปดาห์มากที่สุดนับจากวิกฤตการเงินปี 2008 แม้ว่าจะฟื้นกลับมาได้เล็กน้อยในบางวันก็ตาม แต่เชื่อว่าในอนาคตจะปรับลงได้อีก อย่างไรก็ตาม มีนักกลยุทธ์บางคน เช่น เคต มัวร์ จากแบล็กร็อกอิงก์ และมาร์โค โคลาโนวิก จากเจพี มอร์แกน เชส เห็นว่า ความกังวลของนักลงทุนเรื่องเศรษฐกิจถดถอยนั้นมากเกินไป

ท่ามกลางปัญหาเงินเฟ้อสหรัฐที่สูงในรอบ 40 ปี “เบน เบอร์แนงคี” อดีตประธานเฟดในสมัยรัฐบาล จอร์จ ดับเบิลยู. บุช และ บารัก โอบามา ซึ่งมีบทบาทในการนำอเมริกาฝ่าวิกฤตการเงินเมื่อปี 2008 ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า แนวทางการทำงานของประธานเฟดคนปัจจุบันมีความผิดพลาด ที่หลีกเลี่ยงไม่ลงมือสกัดเงินเฟ้ออย่างรวดเร็วเพราะกลัวว่าจะทำให้ตลาดช็อก แม้ตนจะเข้าใจเหตุผลเบื้องหลังความล่าช้านี้ แต่จะดีกว่าถ้าเฟดลงมือเร็วกว่านี้

เบอร์แนงคีระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเกิด stagflation โดยที่เศรษฐกิจไม่เติบโต เงินเฟ้อสูงและอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น

ทางด้าน “เจอโรม พาวเวลล์” ประธานเฟด ล่าสุดนี้ได้ออกมาย้ำว่า เฟดไม่ลังเลที่จะขึ้นดอกเบี้ยเรื่อย ๆ จนกว่าเงินเฟ้อจะต่ำลงในระดับที่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ ส่วนการขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อไปนั้น หากสภาพเศรษฐกิจยังเป็นเช่นปัจจุบัน ก็มีแนวโน้มจะขึ้นเพียง 0.5% พร้อมกับย้ำว่า “พันธกิจของเฟดคือทำให้เงินเฟ้อใกล้เคียงเป้าหมายที่ 2%” แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องแลกกับการที่อัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 3.6% ซึ่งสูงกว่าระดับต่ำสุดของปลายทศวรรษ 1960

“แม้จะทำให้การว่างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ตลาดแรงงานยังแข็งแกร่ง ผมสามารถพูดได้ว่ามีหลายหนทางที่เป็นไปได้ในการทำให้เศรษฐกิจซอฟต์แลนดิ้ง”

โดยก่อนหน้านี้พาวเวลล์กล่าวชื่นชมพอล โวเกอร์ อดีตประธานเฟดช่วงปลายทศวรรษ 1970 ที่มีชื่อเสียงในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อสูงของสหรัฐ ด้วยการขึ้นดอกเบี้ยจนกระทั่งสามารถกดเงินเฟ้อลดต่ำลงอย่างถาวร จึงยุติการขึ้นดอกเบี้ย