เอฟเฟ็กต์นโยบายเฟดขึ้นดอกเบี้ย กองบอนด์โลก เงินไหลออก 1.5 หมื่นล้าน

อัตราดอกเบี้ยนโยบาย เงิน

ความกังวลในทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เป็นเเรงกดดันการลงทุนตราสารหนี้ทั่วโลก สะท้อนจากการที่สัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ที่ลดลง

โดยข้อมูลจากบริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) พบว่า เม็ดเงินที่ไหลออกจากกองทุนตราสารหนี้โลก (global bond) มีสูงถึง 1.5 หมื่นล้านบาท ในไตรมาสแรกของปี 2565 นี้

“ชญานี จึงมานนท์” นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ฯ กล่าวว่า กองทุนกลุ่มตราสารหนี้โลกเป็นกองทุนต่างประเทศกลุ่มใหญ่ในอุตสาหกรรม แต่ปัจจุบันความนิยมในกลุ่มดังกล่าวลดลงอย่างมาก

โดยล่าสุด ณ ไตรมาส 1/2565 มูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 6.3 หมื่นล้านบาท ลดลงไปถึง 22.3% จากไตรมาส 4/2564 เกิดจากการที่เงินไหลออกมาก ทำให้อันดับกองทุนร่วงจากอันดับที่ 5 ไปอยู่อันดับ 6 ของกองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม term fund)

ทั้งนี้ มีปัจจัยสำคัญมาจากทิศทางดอกเบี้ยที่มีความชัดเจนว่า เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยหลายครั้ง ส่งผลให้หลายกองทุนมีผลตอบแทนติดลบในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยติดลบประมาณ 4.3% และเม็ดเงินไหลออกสุทธิเร่งตัวขึ้นไปที่ระดับ 1.5 หมื่นล้านบาท ในช่วงดังกล่าวจากปีที่แล้วทั้งปีที่มีเงินไหลออกสุทธิ 2.6 หมื่นล้านบาท

“ปัจจัยดอกเบี้ยยังคงเป็นประเด็นหลักสำหรับการลงทุนตราสารหนี้ในปีนี้อย่างไรก็ดี ในระยะยาวนั้นการลงทุนตราสารหนี้ยังคงเป็นส่วนสำคัญต่อการจัดพอร์ตการลงทุนในแง่ของความเสี่ยงที่ต่ำกว่า เมื่อเทียบกับการลงทุนประเภทอื่น เช่น ตราสารทุน (หุ้น) ซึ่งต้องเผชิญกับความเสี่ยงและความผันผวนของตลาดหุ้นที่มากกว่า” นางสาวชญานีกล่าว

สำหรับกองทุน global bond ที่ผลตอบแทนติดลบมากสุดตั้งแต่ต้นปี (YTD) นำโดยกองทุน AIA-DFI ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอไอเอ ที่ผลตอบแทนติดลบไป 12.22% ตามด้วยกองทุน KFDIVERS-A จาก บลจ.กรุงศรี ติดลบไป 11.03% และกองทุน SCBGSIF จาก บลจ.ไทยพาณิชย์ ติดลบไป 10.50% (ดูตาราง)

ขณะที่ “นันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่ตราสารหนี้ทั่วโลกต้องเผชิญกับความท้าทายเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นปีที่นโยบายการเงินโลกกำลังเปลี่ยนผ่าน จากการดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายเป็นแบบตึงตัว

โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐ ที่มีแรงกดดันมาจากอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวอยู่ในระดับสูงกว่า 8.5% สูงสุดนับตั้งแต่ปี 1982 และยังมีการคาดการณ์ว่าจะทรงตัวในระดับนี้ เป็นระยะเวลานานกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้

โดยสาเหตุหลักมาจากความต้องการสินค้าและบริการที่เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งยังมีเรื่องราคาพลังงานที่เร่งตัวสูงขึ้น จากความกังวลสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มมากขึ้นจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งไม่เพียงแต่เฟด ยังมีธนาคารกลางอีกหลาย ๆ แห่งทั่วโลกที่ต้องใช้มาตรการลักษณะคล้ายกัน

เพื่อลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อ โดยตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปสู่ระดับ 2.00-2.50% ในปลายปีนี้ และอาจสูงกว่า 3% ในปีหน้า ส่งผลให้ตราสารหนี้ทั่วโลกถูกเทขายและมีเงินลงทุนไหลออกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ราคาของตราสารหนี้ลดลง

“ถ้าจะลงทุนต้องเน้นลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น หรืออายุเฉลี่ยไม่เกิน 2 ปี เนื่องจากได้รับผลกระทบน้อยกว่าตราสารหนี้ระยะยาว ไม่แนะนำลงทุนในตราสารประเภท high yield เนื่องจากความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อาจส่งผลให้ credit spread มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น

และควรระมัดระวังการลงทุนตราสารหนี้ในกลุ่มตลาดที่กำลังพัฒนา เพราะมีความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่มีแนวโน้มอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ โดยอาจเลือกลงทุนผ่านกองทุนที่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อลดความเสี่ยงด้านค่าเงินได้” นางนันท์มนัสกล่าว

ฟาก “อรพรรณ ตัณฑประศาสน์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุน บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยีลด์) ของสหรัฐ เปลี่ยนแปลงในลักษณะหมี(bear flattening) อย่างต่อเนื่องในไตรมาส 1

โดยบอนด์ยีลด์ระยะสั้นอายุ 2 ปี ปรับตัวขึ้นแรง สะท้อนตลาด priced-in การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่เร็วขึ้นของเฟด โดยมองว่าเฟดอาจจะขึ้นดอกเบี้ยในปี 2565 ได้ 6-7 ครั้ง มากกว่าเมื่อตอนสิ้นปีที่แล้วที่มองว่า อาจจะขึ้นเพียง 2-3 ครั้ง ในขณะที่บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10 ปี ค่อนข้างผันผวน โดยคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 2.50-2.75% ในไตรมาส 3

“ในช่วง 1-2 ไตรมาสนับจากนี้ การลงทุนในตราสารหนี้อาจจะต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น และควรเลือกลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่มีอายุเฉลี่ยของกองทุนไม่ยาวมากนัก

หรือลงทุนในกองทุนตลาดเงินที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพ เพื่อลดความผันผวนให้พอร์ตการลงทุนโดยรวม และรอจังหวะกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่น เมื่อความชัดเจนในเรื่องนโยบายการเงินและทิศทางอัตราดอกเบี้ยมีมากขึ้น” นางอรพรรณกล่าว

เหล่านี้นับเป็นความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนจะต้องพิจารณาก่อนตัดสินใจลงทุน