
ย้อนประวัติศาสตร์เลือกตั้งใหญ่ต่างแดน หลังชัชชาติคว้าชัยกวาดแลนด์สไลด์เมืองหลวง
วันที่ 23 พฤษภาคม 2565 ปรากฏการณ์ “เขียว” ครองกรุง จากผลการเลือกตั้งที่ รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เมื่อ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ด้วยผลคะแนน ทำลายสถิติถึง 1,383,901 คะแนน ส่งผลให้นายชัชชาติ คว้าชัยชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.อย่างถล่มทลายชนิด “แลนด์สไลด์” คะแนนนำลิ่วเหนือผู้สมัครคู่แข่งคนอื่น ๆ
- สินมั่นคงฯ : คปภ.เกาะติดกระบวนการฟื้นฟูกิจการ-ส่งสัญญาณเตือน ปชช.
- ครม.เคาะแล้ว ซื้อสินค้าลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 5 หมื่นบาท เริ่ม 1 ม.ค. 67
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เงินเข้าบัญชีวันนี้ 38 จังหวัด

คำว่า แลนด์สไลด์ (Landslide victory) หรือชัยชนะอย่างถล่มทลาย เป็นศัพท์ทางการเมืองที่หมายถึง ผู้สมัครเลือกตั้งคนหนึ่ง หรือพรรคหนึ่ง ได้รับคะแนนเสียงชัยชนะอย่างท่วมท้น คำนี้เริ่มปรากฎครั้งแรกในสื่ออเมริกันช่วงคริสต์ทศวรรษ 1800
ซึ่งภายหลังนายวิลเลียม ซาไฟร์ (William Safire) คอลัมนิสต์การเมืองของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ อธิบายผ่านหนังสือพจนานุกรมการเมือง Safire’s Political Dictionary ไว้ว่า “แลนด์สไลด์” หมายถึงชัยชนะที่ขาดลอย ถล่มทลายจน “ฝัง” ผู้สมัครฝ่ายตรงข้าม ล้อมาจากคำว่า “แผ่นดินถล่ม” ในเชิงธรณีวิทยา ที่มวลดินฝั่งกลบทุกสิ่งอย่างที่ขวางหน้า
อย่างไรก็ตาม ไม่มีมีคำจำกัดความอย่างชัดเจนตามกฎหมายหรือตามรัฐธรรมนูญว่า ชัยชนะแบบแลนด์สไลด์ เป็นอย่างใด หรือต้องมีขอบเขตของชัยชนะในการเลือกตั้งแบบไหน คำว่า แลนด์สไลด์ จึงเป็นศัพท์ทางการรายงานข่าว และศัพท์ทางการเมืองที่ใช้พูดถึง ผู้สมัครที่สามารถกวาดชัยชนะอย่างถล่มทลายเท่านั้น ทว่าแลนด์สไลด์สะท้อนถึงการสนับสนุนจากประชาชนอย่างท่วมท้น

ย้อนไป 2 สองสัปดาห์ก่อนหน้าปรากฏการณ์ชัชชาติกวาดแลนด์สไลด์ เมื่อ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา เฟอร์ดินานด์ (บองบอง) มาร์กอส จูเนียร์ บุตรชายคนเดียวของอดีตประธานาธิบดีผู้อื้อฉาว นายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส สามารถคว้าชัยชนะในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ได้อย่างถล่มทลายแลนด์สไลด์เช่นกันด้วยคะแนน 31,463,887 เสียง หรือคิดเป็นร้อยละ 59.08

ในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งใหญ่ของหลายประเทศทั่วโลก แม้ไม่บ่อยนักที่จะเกิดปรากฏการณ์แลนด์สไลด์ แต่ก็มีไม่น้อยที่ผู้สมัครเลือกตั้งคว้าชัยชนะด้วยคะแนนเสียงถล่มทลาย สำหรับฟิลิปปินส์นอกเหนือจากชัยชนะของนายมาร์กอส จูเนียร์ ย้อนกลับไปยุคนายมาร์กอส ผู้เป็นบิดา ก็เคยคว้าชัยชนะจากการเลือกตั้งปี ค.ศ. 1981 ด้วยคะแนนสูงถึง 89% และชนะในทุกจังหวัด ซึ่งถือเป็นแลนด์สไลด์ครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองฟิลิปปินส์ เช่นเดียวกับนาย มานูเอล แอล. เกซอน รัฐบุรุษและอดีตประธานาธิบดี ซึ่งชนะเลือกตั้งฟิลิปปินส์ในปี 1941 ด้วยคะแนนเสียงสูงถึง 82%
สำหรับการแลนด์สไลด์ในการเมืองสหราชอาณาจักร ชัยชนะแลนด์สไลด์ครั้งล่าสุดคือการเลือกตั้งปี 2019 ซึ่งนายบอริส จอห์นสัน สามารถนำพรรคอนุรักษนิยมคว้าชัยชนะครั้งใหญ่ โดยได้คะแนนเสียงในสภาสามัญ 365 ที่นั่ง จากทั้งหมด 650 เพิ่มขึ้นจากครั้งก่อน 48 ที่นั่ง ซึ่งพรรคอนุรักษนิยมสามารถเจาะฐานเสียงของพรรคแรงงานได้ในหลายมณฑล ชัยชนะของนายบอริส จอห์นสัน ยังถือเป็นแลนด์สไลด์ครั้งใหญ่ที่สุดของพรรคอนุรักษนิยมนับตั้งแต่การเลือกตั้งปี 1987 ทำลายสถิติแลนด์สไลด์ของนางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์
ส่วนฝรั่งเศสชัยชนะครั้งถล่มทลายเกิดขึ้นล่าสุดเมื่อปี 2002 จากการที่นายฌาค ชีรัก กวาดคะแนนเสียงได้สูงถึง 82% ขณะที่การเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกานั้นมีปรากฏการณ์แลนด์สไลด์เกิดขึ้นในหลายครั้ง โดยครั้งสำคัญเช่น แฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral college) สูงถึง 472 หรือคิดเป็น 88.9%

เลือกตั้งปี ค.ศ. 1952 ประธานาธิบดีดไวท์ ดี. ไอเซนฮาวร์ ได้รับคะแนนเสียงคณะผู้เลือกตั้ง 442 คิดเป็น 83.2%, เลือกตั้งปี ค.ศ. 1964 ประธานาธิบดีลินดอน บี. จอห์นสัน ได้รับคะแนนเสียงคณะผู้เลือกตั้ง 486 เสียง หรือคิดเป็น 90.3%, เลือกตั้งปี 1972 ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน คว้าคะแนนเสียงคณะผู้เลือกตั้ง 520 เสียง หรือคิดเป็น 96.7%, เลือกตั้งปี 1984 ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน คะแนนเสียงคณะผู้เลือกตั้ง 525 เสียง หรือคิดเป็น 97.6%

ส่วนครั้งล่าสุดผู้สมัครเลือกตั้งสหรัฐสามารถคว้าชัยชนะแลนด์สไลด์ได้คือ เลือกตั้งปี 1988 ประธานาธิบดีจอร์จ เอชดับเบิลยู. บุช ได้รับคะแนนเสียงคณะผู้เลือกตั้ง 426 เสียง หรือคิดเป็น 79.2%