เปิดเหตุผล เศรษฐกิจจีนส่อ “ฟื้นช้า” หลังเจอพิษ “โควิด” ระลอกล่าสุด

คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจ
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

ในปี 2020 เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีจุดกำเนิดในจีนและกระจายไปทั่วโลก จนทำให้แทบทุกประเทศต้องล็อกดาวน์ สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง ซึ่งบางคนถึงกับเปรียบเทียบว่าเสียหายหนักที่สุดในรอบ 300 ปี หรือไม่ก็เสียหายหนักที่สุดนับจากสงครามโลก

ในครั้งนั้น จีนใช้มาตรการเฉียบขาด บังคับกักตัวประชาชนหลายล้านเพื่อหยุดการแพร่เชื้อ ทำให้จีนกลายเป็นประเทศแรกที่ฟื้นตัวจากวิกฤตโควิดและสามารถออกสตาร์ตเดินเครื่องเศรษฐกิจได้เร็วกว่าประเทศอื่น โดยปีนั้นเศรษฐกิจจีนสามารถพลิกฟื้นจากติดลบ 6.8% ในไตรมาสแรก มาเป็นบวก 3.2% ในไตรมาส 2 ช่วยพยุงเศรษฐกิจโลกเอาไว้ได้ระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตามในปีนี้ ซึ่งจีนเผชิญกับการระบาดรอบล่าสุดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนเมื่อเดือนมีนาคม พร้อมกับที่รัฐบาลจีนประกาศนโยบายเข้มงวดสุดโต่ง “โควิดต้องเป็นศูนย์” สวนทางกับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อื่น ๆ ที่มีนโยบายผ่อนคลายอยู่ร่วมกับโควิด ทำให้นักวิเคราะห์เชื่อว่ามีแนวโน้มที่ในรอบนี้เศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวช้ากว่ารอบที่แล้ว เพราะนโยบายเข้มงวดส่งผลให้ระบบห่วงโซ่อุปทานชะงัก โรงงานบางแห่ง บางพื้นที่ไม่สามารถเดินหน้าผลิตสินค้าได้

ผู้คนเดินที่ศูนย์การค้าแห่งหนึ่งในเขตผู่ตงใหม่ เทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ทางตะวันออกของจีน วันที่ 20 พ.ค. 2022. (Xinhua/Fang Zhe)

“เมิ่ง เล่ย” นักกลยุทธ์หุ้นจีนของบริษัทหลักทรัพย์ยูบีเอส ระบุว่า การเข้มงวดเพื่อควบคุมโรคในหลายภูมิภาค หลายเมือง เช่น เซี่ยงไฮ้ จี้หลิน ซีอาน และปักกิ่ง ทำให้ระบบโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานชะงักงัน สร้างปัญหาใหญ่ที่สุดให้กับการกลับมาเปิดการผลิต ดังนั้นการกลับมาผลิตคงเป็นไปอย่างล่าช้า

ตัวอย่างของโรงงานที่ได้รับผลกระทบ ก็อย่างเช่น โฟล์คสวาเก้น โดยถึงแม้โรงงานในจีนจะกลับมาเปิดการผลิตได้แล้ว แต่นโยบายโควิด-19 ของรัฐบาลทำให้ห่วงโซ่อุปทานและการขนส่งต่าง ๆ เกิดการติดขัด ซึ่งบริษัทเองไม่สามารถบอกได้แน่ชัดว่าจะผลิตได้กี่คัน เนื่องจากเป็นโรงงานร่วมทุนกับนักลงทุนในท้องถิ่น

ตัน หวัง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ หั่งเส็ง แบงก์ ไชน่าเผยว่า ผลกระทบสำคัญที่สุดของการระบาดระลอกใหม่ก็คือ มันไปขัดจังหวะตารางนโยบายปกติของรัฐบาล จะเห็นว่าคลื่นการติดเชื้อรอบล่าสุดจนนำไปสู่การล็อกดาวน์เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลกลางเปิดเผยแผนเศรษฐกิจประจำปีในการประชุมรัฐสภาเมื่อเดือนมีนาคม ซึ่งสำหรับเศรษฐกิจที่รัฐบาลมีการแทรกแซงบริหารจัดการอย่างหนักแล้ว การประชุมประจำปีดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญยิ่งยวดของวงรอบสำหรับการพัฒนาและลงมือปฏิบัติตามนโยบายแห่งชาติ

“ปัญหาห่วงโซ่อุปทานและการบริโภคอ่อนแอ เป็นเรื่องที่บริหารจัดการได้ แต่ทันทีที่ตารางนโยบายของรัฐบาลเกิดการชะงัก จึงยากที่จะกลับไปสู่สภาพปกติ เข้าที่เข้าทางได้โดยเร็ว” ขณะเดียวกันการที่หน่วยงานต่าง ๆ มีเป้าหมายเศรษฐกิจแตกต่างกันมาก ดังนั้นจะต้องมีการประนีประนอมกันระหว่างหน่วยงาน จึงทำให้นโยบายดำเนินไปอย่างล่าช้าสุดขีด

ทางด้าน โรบิน ซิง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของมอร์แกน สแตนลีย์ในจีน บอกว่า ตอนนี้ปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่เลวร้ายที่สุดในจีนอันเกิดจากการระบาดรอบล่าสุดดูเหมือนสิ้นสุดลงแล้ว เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่เราคิดว่าหนทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะช้าและไม่ราบรื่น เพราะระดับการกระตุ้นเศรษฐกิจของปีนี้ ไม่ว่าจะด้านการคลังหรือนโยบายด้านดอกเบี้ย อยู่ในระดับเพียงครึ่งเดียวของปี 2020

อย่างไรก็ตาม “ลาร์รี หู” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของแมคควอรี ในจีน กลับเห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจีนอาจเติบโตเร็วกว่าที่หลายคนคิด เพราะประสบการณ์ 2 ปีที่ผ่านมาบ่งบอกว่าการถดถอยที่มีสาเหตุจากโควิด-19 จะจบลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่อมีการตอบสนองด้วยนโยบายที่ทรงพลังและรวดเร็ว ตอนนี้กิจกรรมเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังดำเนินต่อไป แต่ต้องยอมรับว่ายังมีสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต

เคลาส์ เซนเคล ประธานหอการค้าอียูประจำภาคใต้ของจีน เปิดเผยว่า ตอนนี้โรงงานในภาคใต้ของจีนราว 80% กลับมาสู่ปกติแล้ว มณฑลกวางตุ้งซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตต่างยุ่งอยู่กับการทำงาน ภาคธุรกิจคอยดูแลคลังสินค้าให้เต็มมากกว่าเมื่อก่อนเพื่อป้องกันการขาดแคลน