
ถึงเวลานี้ องค์กรเศรษฐกิจชั้นนำของโลก ทั้งเวิลด์แบงก์และโออีซีดีเห็นตรงกันว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกขยับลำบากแล้ว จากสงครามและเงินเฟ้อ แม้แต่จีนก็ถูกเวิลด์แบงก์ปรับลดตัวเลข
วันที่ 8 มิถุนายน 2565 สำนักข่าว เอเอฟพี รายงานว่า ธนาคารโลก หรือ World Bank ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจจีน ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ลดลง 0.8% จากตัวเลขเดิมที่ประเมินไว้เมื่อเดือนธันวาคม จนเหลือจีดีพีโตในปีนี้ 4.3%
- เปิดชื่อ 10 อันดับโรงเรียนดัง กทม. นักเรียนแห่สมัครสอบเข้า ม.1 สูงสุด
- เปิดชื่อ 100 ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ภูมิใจไทย ว่าที่ลูกสะใภ้อนุทิน อันดับเซฟโซน
- มหาดไทยออกระเบียบใหม่ ตั้งคณะกรรมการชุมชน รับค่าตอบแทนรายเดือน

เวิลด์แบงก์คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนว่าจะฟื้นตัวช้าเพราะการระบาดของโควิด-19 หลังใช้ยาแรงในการควบคุมการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ทั้งการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดตลอดเดือนมีนาคมและเมษายน พร้อมตรวจหาเชื้อในคนกลุ่มใหญ่ ส่งผลข้างเคียงให้ห่วงโซ่อุปทานยุ่งเหยิงและเศรษฐกิจตกต่ำที่สุดในรอบ 2 ปี
ช่วงเวลาดังกล่าว ข้อจำกัดในหลายสิบเมือง รวมทั้ง เมืองศูนย์กลางการผลิตอย่าง เสิ่นเจิ้น และ เซี่ยงไฮ้ รวมทั้ง แหล่งอู่ข้าวอู่น้ำอย่างมณฑลจี๋หลิน ธุรกิจล้วนได้รับผลกระทบอย่างหนักและผู้บริโภคถูกกักตัวอยู่ในบ้าน

นายกฯจีนเคยเตือนปีนี้หนักกว่าปีก่อน
มาร์ติน ไรเซอร์ ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศจีน มองโกเลีย และเกาหลี กล่าวว่าในระยะสั้น จีนจะเผชิญกับความท้าทายจากการสร้างสมดุลในการบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ด้วยการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจเพราะมาตรการกระตุ้นยังมีประสิทธิภาพ ตราบใดที่ยังมีข้อจำกัดด้านการเดินทาง
ธนาคารโลกคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะกระเตื้องขึ้นในช่วงหลังของปีนี้เพราะเป็นผลจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจและการผ่อนคลายกฎการอยู่ในที่พักอาศัย ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศดูเหมือนว่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวเป็นบางส่วนเท่านั้น

ธนาคารโลกปรับการคาดการณ์เนื่องจากเกรงว่าจีนอาจจะไม่บรรลุเป้าหมายอย่างเป็นทางการที่กำหนดการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ที่ร้อยละ 5.5 ในปีนี้ ซึ่งนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ก็เคยเตือนว่าความท้าทายในปัจจุบันมากกว่าเมื่อครั้งเกิดการระบาดเมื่อปีก่อน (พ.ศ.2564) และรัฐบาลออกมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
เตือนวิธีรัฐทุ่มลงทุน-ไม่ยั่งยืน
แม้จีนเริ่มโครงการสร้างสาธารณูปโภคใหญ่ๆ ในปีนี้ แต่ธนาคารโลกเตือนว่าอาจเป็นทางที่ไม่ปลอดภัยนัก และอันตรายจากการที่จีนใช้แนวทางเดิมๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
เพราะลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์ แต่โมเดลดังกล่าวไม่ยั่งยืนและจะยิ่งทำพอกพูนหนี้ขององค์กรและรัฐบาลท้องถิ่นที่สูงอยู่แล้วให้ยิ่งมากขึ้นอีก

การคาดการณ์ล่าสุดคาดว่านโยบายปลอดโควิดของจีนจะดำเนินต่อไปในระยะสั้นเพื่อเลี่ยงการตอกย้ำระบบสาธารณสุขซึ่งหมายความว่าอาจจะเกิดการชะงักขึ้นได้อีก
สำหรับภาพรวมของโลก เวิลด์แบงก์ปรับตัวเลขคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจโลกเป็นร้อยละ 2.9 พร้อมเตือนว่าเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ช่วงอันตราย จากผลกระทบของศึกรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอยแบบเดียวกับทศวรรษที่ 1970
OECD ชี้ศึกรัสเซีย-ยูเครนทำพิษ
วันเดียวกัน องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD สำนักงานกรุงปารีส เปิดแถลงรายงานประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจโลก 2022 เช่นกัน พร้อมปรับลดจีดีพีเช่นเดียวกับเวิลด์แบงก์ โดยชี้ถึงสาเหตุหลัก ว่ามาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่จะสร้างความเสียหายอย่างสาหัสต่อเศรษฐกิจ

OECD ปรับลดตัวเลขจีดีพีโลก ปี 2022 ลงเหลือ 3% จากเดิมที่ประเมินไว้เมื่อเดือนธันวาคม 4.5% พร้อมชี้ว่าความขัดแย้ง รัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาอาหารและพลังงานพุ่งพรวด นับเป็นสถานการณ์ที่พลิกผันจากที่เคยคาดว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวหลังโรคระบาดโควิดผ่านพ้นไป
นอกจากนี้ยังพบว่าชาติสมาชิก 24 ประเทศของ OECD ล้วนเผชิญอัตราเงินเฟ้อสูงอย่างหนัก ไล่ตั้งแต่สหรัฐอเมริกา ไปถึงออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ชาติละตินอเมริกา และชาติยุโรป คาดการณ์ว่าจะสูงถึง 8.5% สูงที่สุดนับจากปี 1988 (พ.ศ.2531)
“โลกต้องจ่ายค่าเสียหายจากสงครามรัสเซียต่อยูเครนอย่างมหาศาล การเติบโตจะต่ำลง เงินเฟ้อจะสูงขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าสงครามจะพัฒนาไปยังทิศทางใด แต่ที่แน่ชัดคือชาติยากจนที่สุดจะเผชิญความลำบากสาหัสที่สุด” ลอเรนซ์ บูน รองเลขาธิการใหญ่ของ OECD กล่าว