แกร็บเปิดบริการข้อมูล “แผนที่” ลงสนามแข่งยักษ์ กูเกิล

เกร็บ

ความสามารถในการเข้าถึงตรอกซอกซอยต่าง ๆ ของผู้ขับขี่บริการเรียกรถ “ไรด์เฮลลิ่ง” (ride-hailing) รวมถึงการจัดส่งอาหารและสินค้า กลายเป็นจุดแข็งที่ “แกร็บ” (Grab) ซูเปอร์แอปจากสิงคโปร์ ใช้เป็นฐานข้อมูลในการพัฒนา “แผนที่” ที่มีความละเอียดแม่นยำสูง และตั้งเป้าสร้างรายได้มหาศาลจากการให้บริการข้อมูลแผนที่แก่ธุรกิจต่าง ๆ ไม่ต่างจากเจ้าตลาดยักษ์ใหญ่อย่าง “กูเกิล”

นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า “แกร็บ” ผู้ให้บริการซูเปอร์แอปครอบคลุม 8 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกาศเปิดตัวธุรกิจใหม่ ให้บริการข้อมูลแผนที่แก่ลูกค้าองค์กรในนาม “แกร็บแมปส์” (GrabMaps) มุ่งเน้นไปที่บริษัทเทคโนโลยี ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ และโทรคมนาคมในภูมิภาค

“ตัน โฮย หลิง” ผู้ร่วมก่อตั้งและซีโอโอของแกร็บ กล่าวระหว่างเปิดตัวธุรกิจเมื่อ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า “แกร็บได้ลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีในการทำแผนที่ให้มีคุณภาพและมีความแม่นยำอยู่เสมอ และกำลังจะเปลี่ยนจุดแข็งนี้ให้กลายเป็นโอกาสใหม่ในการสร้างรายได้”

แกร็บได้เริ่มลงทุนพัฒนาแผนที่ของตนเองตั้งแต่ปี 2017 โดยใช้ฐานข้อมูลแผนที่ของ “โอเพ่นสตรีตแมป” ร่วมกับการรวบรวมข้อมูลของผู้ขับขี่และผู้ใช้บริการ ซึ่งสามารถอัพเดตข้อมูลแผนที่ได้แบบเรียลไทม์ ไม่ว่าจะเป็นความเปลี่ยนแปลงของเส้นทาง การปิดถนน อุบัติเหตุ อัตราค่าผ่านทาง รวมถึงรายละเอียดในแต่ละพื้นที่ที่ผู้ให้บริการแผนที่ทั่วไปอาจเข้าไม่ถึง

“ฟิลิปป์ แคนดัล” หัวหน้าทีมวิศวกรธุรกิจแผนที่ของแกร็บ เปิดเผยว่า แม้ว่าการทำแผนที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีความซับซ้อนมาก เนื่องจากมีการก่อสร้างอาคารและถนนตัดใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่แกร็บสามารถอัพเดตข้อมูลบนแผนที่ได้แบบรายวัน หรือกระทั่งรายชั่วโมง ต่างจากผู้ให้บริการรายอื่นที่มีการอัพเดตแผนที่ไม่กี่ครั้งในรอบปี

แกร็บตั้งเป้าว่าธุรกิจ “แกร็บแมปส์” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2025 ก่อนที่จะขยายบริการไปยังภูมิภาคอื่น ๆ โดยรายงานของไฟแนนเชียล ไทมส์ ระบุว่า ปัจจุบันแกร็บมีโครงการพัฒนาแผนที่นำร่องอยู่ในหลายเมืองทั่วโลก อาทิ ปารีส โจฮันเนสเบิร์ก ดูไบ และซีแอตเทิล

ที่ผ่านมามีผู้ให้บริการแผนที่รายใหญ่หลายราย โดยเฉพาะ “กูเกิล” ยักษ์เทคโนโลยีสหรัฐ และ “ทอมทอม” (TomTom) บริษัทเทคโนโลยีภูมิศาสตร์ของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งให้บริการแผนที่แก่ลูกค้าองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลก อย่าง “อูเบอร์” ที่เปิดเผยว่า บริษัทมีค่าใช้จ่ายถึง 58 ล้านดอลลาร์สหรัฐในการใช้บริการแผนที่ของกูเกิลระหว่าง ม.ค. 2016-ธ.ค. 2018

ซีอีโอของแกร็บเชื่อว่าแกร็บแมปส์จะสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ ด้วยความได้เปรียบจากความคุ้นเคยพื้นที่ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งยังจะช่วยให้แกร็บมีความยืนหยุ่นมากขึ้นต่อความผันผวนของสถานการณ์โลก ที่กระทบต่อธุรกิจหลักอย่างไรด์เฮลลิ่งและฟู้ดดีลิเวอรี่ โดยอนาคตแกร็บแมปส์จะพัฒนาความละเอียดมากขึ้น ถึงระดับการนำทางภายในอาคาร

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจแผนที่เป็นเพียงหนึ่งในความพยายามเพิ่มรายได้ของแกร็บ ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดจากคู่แข่งซูเปอร์แอปมากมายในภูมิภาค โดยเฉพาะ “โกทู” (GoTo) จากอินโดนีเซีย และ “ซี” (Sea) บริษัทเทคโนโลยีสิงคโปร์เจ้าของ “ช้อปปี้” (Shopee) ซึ่งการใช้จ่ายเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาด ส่งผลให้ไตรมาส 1/2022 ที่ผ่านมาแกร็บขาดทุนถึง 435 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากแกร็บแมปส์แล้ว แกร็บยังเดินหน้าสู่ธุรกิจบริการทางการเงินเต็มรูปแบบ โดยเปิดตัวบริการชำระเงิน ประกันภัย และสินเชื่อดิจิทัลภายใต้แบรนด์ “แกร็บฟิน” (GrabFin) และคาดว่าจะสามารถให้บริการธนาคารดิจิทัลร่วมกับบริษัทโทรคมนาคม “สิงเทล” ในสิงคโปร์ได้ภายใน
สิ้นปีนี้