
ภาพทำเนียบประธานาธิบดี ศรีลังกา ที่ถูกประชาชนยึด เผยให้เห็นความโอ่โถงของอาคารที่มีอายุกว่า 200 ปี ทั้งเฟอร์นิเจอร์ เครื่องอำนวยความสะดวกครบครัน และเงินสดปึกใหญ่ ขัดแย้งกับสภาพความทุกข์ร้อนของประชาชน

วันที่ 10 กรกฎาคม 2565 เอ็นดีทีวี รายงานสถานการณ์ที่ประเทศ ศรีลังกา ว่า มีคลิปเผยแพร่ภาพผู้ประท้วงนั่งนับปึกเงินสดที่พบในทำเนียบบ้านพัก ประธานาธิบดีศรีลังกา หลังมวลชนนับพันคนบุกเข้าไปในอาคารเมื่อวันเสาร์ที่ 9 ก.ค. ส่วนนายโกตาบายา ราชปักษา ประธานาธิบดี หนีออกไป ก่อนให้คนมาแจ้งว่าจะลาออกจากตำแหน่งวันพุธที่ 13 ก.ค.นี้
- ไทยตกขบวน ทุนต่างชาติไหลเข้าเวียดนาม 2 พันโปรเจ็กต์
- แพทองธาร ประกาศสางหนี้คนอีสาน ฟื้นแผนสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง
- D.DOPA แอปบัตรประชาชนดิจิทัล ทะเบียนบ้านดิจิทัล ใช้ทำอะไรได้บ้าง
จากรายงานของเดลี มิร์เรอร์ สื่อดังของอังกฤษ เงินจำนวนหลายล้านนี้ซ่อนอยู่ในบังเกอร์ใต้ดิน และผู้ประท้วงนำส่งให้เจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงแล้ว ทางเจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะแถลงผลการสอบสวนข้อเท็จจริงต่อไป
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นระหว่างผู้ประท้วงบุกเข้าทำเนียบที่เป็นบ้านพักของประธานาธิบดีราชปักษา แม้จะมีเจ้าหน้าที่ตรึงกำลังไว้หนาแน่น และใช้น้ำแรงดันสูงและแก๊สน้ำตาสลายฝูงชน แต่สุดท้ายต้านทานไม่อยู่ ผู้ประท้วงปีนและดันประตูทะลวงเข้าไปในที่สุด

ทำเนียบ 200 ปีถูกมวลชนยึด
เมื่อผู้ประท้วงบุกเข้าไปได้แล้ว หลายร้อยคนเดินเข้าเดินออกห้องต่าง ๆ ที่แสดงถึงความโอ่โถงและหรูหรา หลายคนกระโดดลงไปเล่นน้ำในสระว่ายน้ำ จากนั้นวันที่ 10 ก.ค. มีมวลชนเข้าไปในทำเนียบอย่างต่อเนื่อง หลายคนถ่ายรูปเล่น พร้อมนั่งประชุมกัน หรือใช้อุปกรณ์ออกกำลังกายในห้องฟิตเนส และส่วนหนึ่งบุกไปถึงห้องนอน และนอนเล่นถ่ายรูปกันบนเตียง
จากรายงานของเอเอฟพี ทำเนียบแห่งนี้ก่อสร้างตั้งแต่สมัยศรีลังกายังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ จึงเป็นอาคารของรัฐที่มีอายุกว่า 200 ปี กระทั่งวันที่ 10 ก.ค. หลังมวลชนเข้ายึดได้ และตัวประธานาธิบดีหนีไป จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของพลังประชาชน




ส่วนประธานาธิบดีราชปักษายังไม่เปิดเผยตัวว่าอยู่ที่ใด หลังข่าวหลบหนีออจากทำเนียบ ก่อนที่ผู้ประท้วงบุกเข้าไป แต่มีคลิปวิดีโอเผยเห็นกระเป๋าเดินทางหลายใบลำเลียงไปในเรือกองทัพเรือซึ่งสื่อท้องถิ่นรายงานว่าเป็นสัมภาระของประธานาธิบดี
นอกจากนี้ช่วงค่ำวันเสาร์ ผู้ประท้วงยังจุดไฟเผาบ้านพักส่วนตัวของนายรานิล วิกรามาสิงหะ นายกรัฐมนตรีที่มารับตำแหน่งแทนนายมหินทา ราชปักษา ในกรุงโคลัมโบ และทำลายรถยนต์ในบ้าน แม้ว่านายวิกรามาสิงหะจะแถลงลาออกตั้งแต่ช่วงกลางวันแล้ว

ประชาชนทุกข์ร้อน
วิกฤตทางเศรษฐกิจครั้งนี้ ทำให้พลเมืองส่วนใหญ่จาก 22 ล้านคนทนทุกข์วิกฤตเศรษฐกิจเงินทุนสำรองระหว่างประเทศร่อยหรอ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง อาหาร ยารักษาโรคขาดแคลน ส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำที่สุดใน 7 ทศวรรษ
หลายคนเห็นว่าเศรษฐกิจประเทศตกต่ำลงเพราะตระกูลราชปักษาเล่นพรรคเล่นพวกแบ่งอำนาจกันในหมู่เครือญาติ เมื่อเกิดสถานการณ์โรคระบาดโควิด ประเทศขาดแคลนรายได้จากการท่องเที่ยวและติดหนี้ต่างประเทศ โดยเฉพาะกับจีนสูงมาก


ประชาชนจึงเรียกร้องให้พี่น้องราชปักษา ทั้งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีลาออก โดยเริ่มชุมนุมใหญ่อย่างสงบตั้งแต่เดือน ม.ค.
กระทั่งเมื่อเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ตั้งแต่เดือนก.พ. ศรีลังกาเผชิญวิกฤตด้านพลังงานซ้ำเติมอีก ภาวะเงินเฟ้อของศรีลังกาพุ่งขึ้นถึง 50% เมื่อเดือนมิ.ย.
ความไม่พอใจทวีความรุนแรงมากขึ้น ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศขาดแคลนเงินสดงดเติมน้ำมันให้ยานพาหนะ บังคับให้ปิดโรงเรียน และปันส่วนน้ำมันเบนซินและดีเซลสำหรับยานพาหนะบริการที่จำเป็นเท่านั้น

ไอเอ็มเอฟวิตก ศรีลังกา
ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF แถลงเมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 ก.ค. ว่า วิตกกับเหตุการณ์ดังกล่าวและจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หวังให้แก้ไขวิกฤตทางการเมืองได้โดยเร็ว เพื่อจะได้สานต่อการเจรจาถึงแผนการแก้ไขทางเศรษฐกิจที่ไอเอ็มเอฟสนับสนุนต่อไป
ก่อนหน้านี้ ตัวแทนไอเอ็มเอฟเจรจากับนายกฯ วิกรามาสิงหะ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีคลังด้วย เสร็จสิ้นรอบแรก ส่วนนายนันทลัล วีรสิงหะ ผู้ว่าการธนาคารกลางศรีลังกา กล่าวว่า เสร็จสิ้นการตั้งเป้าหมายของโครงการแล้ว
ศรีลังกาเพิ่งประกาศระงับการจ่ายหนี้ต่างประเทศ มูลค่าเกือบ 7 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 2.5 แสนล้านบาทที่ต้องจ่ายในปีนี้ จากหนี้ทั้งหมด 25,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 8.9 แสนล้านบาท ที่ต้องจ่ายภายในปี 2026 หรือพ.ศ. 2569

….