
นายกรัฐมนตรีศรีลังกายอมรับ เศรษฐกิจศรีลังกาพังทลายโดยสิ้นเชิง พร้อมขอความช่วยเหลือพันธมิตร-ไอเอ็มเอฟ
วันที่ 23 มิถุนายน 2565 ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า “รานิล วิกรมสิงเห” นายกรัฐมนตรีศรีลังกายอมรับว่า เศรษฐกิจศรีลังกาพังทลายลงอย่างสิ้นเชิงแล้ว ในขณะที่ประเทศได้รับผลกระทบจากวิกฤตที่นับวันสถานการณ์จะเลวร้ายลง ผู้คนนับล้านต้องดิ้นรนต่อสู้กับปัญหาการขาดแคลนเชื้อเพลิง ไฟฟ้า และอาหาร
“เศรษฐกิจของเราเผชิญการล่มสลายโดยสิ้นเชิง” วิกรมสิงเห กล่าวกับรัฐสภาศรีลังกา พร้อมเสริมว่า รัฐบาลกำลังขอความช่วยเหลือจากพันธมิตรทั่วโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพื่อทำให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพ
แต่วิกรมสิงเหเตือนว่า ศรีลังกาซึ่งมีประชากร 22 ล้านคน กำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ร้ายแรงกว่านี้มาก นอกเหนือจากความขาดแคลน
ศรีลังกาอยู่ในท่ามกลางวิกฤตการเงินครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 7 ปี หลังจากทุนสำรองเงินตราต่างประเทศร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเงินดอลลาร์ที่ใช้จ่ายสำหรับสินค้านำเข้าที่สำคัญ ซึ่งรวมถึงอาหาร ยารักษาโรค และเชื้อเพลิง กำลังจะหมดลง
ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการขั้นรุนแรงเพื่อรับมือกับวิกฤตดังกล่าว ซึ่งรวมถึงการกำหนดให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน เพื่อให้พวกเขามีเวลาปลูกพืชผัก
อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวไม่ค่อยช่วยบรรเทาสถานการณ์ที่คนจำนวนมากกำลังเผชิญ
ตามเมืองใหญ่หลายเมือง ซึ่งรวมถึงเมืองหลวงการค้าอย่าง “โคลัมโบ” ผู้คนหลายร้อยคนต่อคิวนานหลายชั่วโมงเพื่อซื้อน้ำมัน และบางครั้งก็มีการปะทะกับตำรวจและทหารระหว่างรอ
รถไฟมีความถี่ลดลง ทำให้ผู้โดยสารต้องเบียดเสียดเข้าไปในทุกพื้นที่ที่มีช่องว่าง หรือแม้แต่นั่งบนหลังคารถไฟเพื่อเดินทางไปทำงาน
คนป่วยไม่สามารถเดินทางไปโรงพยาบาลเนื่องจากขาดน้ำมันและราคาอาหารก็พุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะข้าว ซึ่งเป็นสินค้าหลักในศรีลังกา ได้หายไปจากชั้นวางในร้านค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตจำนวนมาก
การประท้วงปะทุขึ้นใกล้กับบ้านพักส่วนตัวของนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน เฉพาะสัปดาห์นี้สัปดาห์เดียว มีผู้เสียชีวิต 11 รายระหว่างรอคิวเติมน้ำมัน อ้างข้อมูลจากตำรวจ
วิกรมสิงเห ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งไม่กี่วันหลังการประท้วงรุนแรงที่บีบให้ “มหินทรา ราชปักษา” อดีตนายกรัฐมนตรี ลาออก ดูเหมือนจะตำหนิรัฐบาลชุดก่อนสำหรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศ
“ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะฟื้นฟูประเทศที่มีเศรษฐกิจทรุดโทรมโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีทุนสำรองต่างประเทศต่ำอย่างเป็นอันตราย” เขากล่าวและว่า “หากอย่างน้อยมีการดำเนินการเพื่อชะลอการล่มสลายของเศรษฐกิจในตอนแรก เราจะไม่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากในวันนี้”
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐมนตรีพลังงานของศรีลังกา ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่า ศรีลังกามีสต๊อกเชื้อเพลิงเพียงพอสำหรับ 5 วันเท่านั้น
เขาเผยด้วยว่า ศรีลังกากำลังหารือกับธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย และสหรัฐ เพื่อจัดหาเงินกู้ระยะสั้น จนกว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
เขากล่าวด้วยว่า คณะผู้แทนจากกระทรวงการคลังสหรัฐจะเดินทางถึงศรีลังกาในสัปดาห์หน้า
นอกจากนี้ ศรีลังกาจะขอความช่วยเหลือจากจีนและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศผู้ให้กู้หลัก
เขากล่าวปิดท้ายว่า หากเราได้รับการอนุมัติจากไอเอ็มเอฟ โลกจะไว้วางใจเราอีกครั้ง มันจะช่วยให้เราได้รับความช่วยเหลือด้านเงินกู้และเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากประเทศอื่น ๆ ในโลก