โอเปกพลัส เพิ่มผลิตน้ำมันน้อยนิด-ถูกมองหักหน้าไบเดน เยือนซาอุฯไร้ผล

โอเปก น้ำมัน ไบเดน
REUTERS/Heinz-Peter Bader/File Photo

นักวิเคราะห์ต่างเห็นตรงกัน โอเปกพลัส เพิ่มปริมาณผลิตน้ำมันแค่วันละ 1 แสนบาร์เรล คือการหักหน้าผู้นำสหรัฐ ที่ลงทุนไปชนกำปั้นกับมกุฎราชกุมารซาอุฯ

วันที่ 4 สิงหาคม 2565  รอยเตอร์ส รายงานว่า ผลจากการประชุม OPEC+ (โอเปกพลัส) กลุ่มผู้นำน้ำมันชั้นนำของโลกที่เพิ่มปริมาณการผลิตเดือนกันยายน เพียงวันละ 1 แสนบาร์เรล เป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์หลายคนเห็นตรงกันว่า ทำให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เสียหน้า หลังลงทุนเดินทางไปเยือนซาอุดีอาระเบีย

มกุฎราชกุมารซาอุฯ
(Bandar Aljaloud/Saudi Royal Palace via AP)

ปริมาณที่โอเปกพลัสประกาศจะเพิ่ม เทียบเป็นสัดส่วนความต้องการของโลกเพียง 0.1% ทั้งที่ทริปนายไบเดนไปแดนอาหรับเปิดทางให้มีการขายระบบขีปนาวุธป้องกันตนเองให้ซาอุฯ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือยูเออี ด้วยความหวังว่ามหามิตรจะเพิ่มปริมาณการผลิตมากขึ้น เพื่อช่วยเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสหรัฐ

“ปริมาณดังกล่าวน้อยนิดมากจนเหมือนไม่มีความหมายอะไรเลย ถ้ามองถึงมุมแสดงท่าทีทางการเมือง ก็เกือบจะเป็นการดูหมิ่นกัน” ราอัด อัลคาดิรี กรรมการผู้จัดการแผนกพลังงาน และความเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ บริษัท ยูเรเซีย กรุ๊ป กล่าว

OPEC

ขอให้โฟกัส-ลดราคาน้ำมัน

การเพิ่มประมาณการผลิต 100,000 บาร์เรลต่อวัน เป็นปริมาณที่น้อยที่สุด นับจากโอเปกเริ่มกำหนดโควตาการผลิตในปี 1982 (พ.ศ. 2525)

“นี่เป็นการเพิ่มปริมาณน้อยกว่าที่เคย แต่ก็ถือว่าขึ้น ผมคิดว่าเราน่าโฟกัสไปที่จุดสำคัญที่สุด นั่นคือการลดราคาน้ำมันให้ตลาดให้ได้ ซึ่งตอนนี้ลดลงไปต่ำกว่า 4 ดอลลาร์ต่อแกลลอนแล้ว” อะมอส ฮอชสไตย์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงพลังงาน กระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ซีเอ็นเอ็น

พร้อมระบุว่า ก่อนหน้านี้โอเปกเพิ่มปริมาณให้มากกว่านี้มาแล้ว ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา

สำหรับโอเปกพลัส ที่ประกอบด้วยกลุ่มโอเปก และบวกพันธมิตรผู้ผลิตน้ำมันรายอื่น รวมถึงรัสเซีย เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2017 (พ.ศ. 2560) เพิ่มปริมาณการผลิตมาก่อนแล้ว จนอยู่ที่ 430,000-650,000 บาร์เรลต่อเดือน

U.S. President Joe Biden walks in Jeddah, Saudi Arabia, July 16, 2022. REUTERS/Evelyn Hockstein/

แม้ว่าปริมาณดังกล่าวจะไม่กระทบต่อการตัดลดอุปทานในช่วงล็อกดาวน์โควิดที่อุปสงค์หายไป แต่ทางกลุ่มโอเปกพลัสต้องเผชิญอุปสรรคในการผลิตตามเป้าหมาย เนื่องจากสมาชิกของกลุ่มต้องเหนื่อยหนักกับการผลิต เพราะการเสริมศักยภาพใหม่ในการผลิตยังมีการลงทุนต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

ยิ่งมาเจอสงครามรัสเซียบุกยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ การขาดแคลนอุปทาน ผลัดดันตลาดพลังงานให้ราคาสูงขึ้น พร้อมกับภาวะเงินเฟ้อ

ขอคืนดียามเงินเฟ้อพุ่ง

นายไบเดนเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียเมื่อเดือนก่อน และเข้าพบมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน อัล ซาอูด เพื่อคืนดีกันหลังจากสัมพันธ์ขุ่นมัวเมื่อ 4 ปีก่อนจากคดีนายจามาล คาช็อกกี นักข่าวอิสระชาวซาอุฯ และคอลัมนิสต์สื่อดัง วอชิงตันโพสต์ ถูกสังหารในสถานกงสุลซาอุฯ ประจำนครอิสตันบูล และหน่วยงานของสหรัฐชี้ว่ามกุฎราชกุมารทรงมีส่วนรู้เห็น

ช่วงเวลาของทริปมุ่งคืนดีดังกล่าว ตรงกับที่เงินเฟ้อสหรัฐทะยานสูงสุดในรอบ 40 ปี และนายไบเดนจึงหวังให้ซาอุฯ ผู้นำกลุ่มโอเปกเพิ่มปริมาณการผลิต เพื่อช่วยกดราคาพลังงานลง เมื่อวันอังคารที่ 2 ส.ค. รัฐบาลสหรัฐอนุมัติแผนขายระบบขีปนาวุธป้องกันตนเองมูลค่า 5,300 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.9 แสนล้านบาท แก่ยูเออีและซาอุฯ

แต่สุดท้ายกลับได้รับการตอบรับที่น้อยนิด จนหลายคนมองว่านายไบเดนทั้งเสียหน้าและเสียท่า ขณะที่ซีเอ็นเอ็นถึงกับพาดหัวว่า “เหมือนถูกตบหน้า”

ทั้งนี้ โอเปกพลัสจะประชุมครั้งต่อไปวันที่ 5 ก.ย. เพื่อหารือถึงการเพิ่มศักยภาพอย่างจำกัด สำหรับรองรับการชะงักงันของอุปทาน รวมถึงการขาดแคลนการลงทุนที่จะส่งผลต่อปี 2023 หรือพ.ศ. 2566 ที่ความต้องการใช้น้ำมันจะสูงขึ้น