ThaiBMA ชี้กฎหมายใหม่เก็บภาษีกองทุนตราสารหนี้กระทบตลาด

“สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย” ชี้เกณฑ์ใหม่เก็บภาษีกองทุนตราสารหนี้ 15% กระทบActivity ของการซื้อขายลดลง เหตุกองทุนรวมเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ในพันธบัตรแบงก์ชาติ 70-80% ด้าน “อริยา” เผย ดอกเบี้ยโดนหักภาษีอาจไม่จูงใจ จากผลตอบแทนที่ลดลง ระบุจะยกเว้นให้กองทุน RMF -Provident Fund โดยต้องออกเป็นกฎหมายลูก

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ปัจจัยที่อาจจะมีผลในเชิงลบต่อตลาดตราสารหนี้ในระยะข้างหน้าคือ เกณฑ์ภาษีใหม่ที่จะเกิดขึ้นกับกองทุนรวมตราสารหนี้ ซึ่งขณะนี้ผ่านสภาวาระ 3 ไปเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาภายหลัง 90 วัน จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งจากเดิมที่ลงทุนในตราสารหนี้เองโดยตรง ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาเวลาได้รับดอกเบี้ยจะต้องเสียภาษี 15% เทียบเท่าภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งรัฐบาลเห็นว่าอาจจะเกิดความไม่เท่าเทียมกันหากซื้อตราสารหนี้เองโดยตรง ต้องเสียภาษี 15% ในขณะที่ซื้อผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้เดิมจะไม่ต้องเสียภาษี

กฎหมายใหม่จะเก็บภาษีกองทุนรวมตราสารหนี้ แปลว่าถ้ากองทุนรวมไปซื้อพันธบัตร หรือหุ้นกู้ ณ วันที่ได้ดอกเบี้ยคูปองจากพันธบัตรหรือหุ้นกู้นั้นๆ จะถูกหัก ณ ที่จ่าย 15% คือผู้ออกจะหักภาษี ณ ที่จ่าย ถ้าคนซื้อเป็นกองทุน เพราะฉะนั้นผลตอบแทนที่เคยได้รับเต็มๆ สมมติ 2% ก็จะหายไปแล้ว 15%

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผลตอบแทนของกองทุนรวมลดลงแน่นอน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จะไปยกเว้นให้ในส่วนกองทุน RMF และ Provident Fund ซึ่งจะต้องออกเป็นกฎหมายลูกต่อไป แต่สำหรับกองทุน FIF ที่ไปลงทุนต่างประเทศก็ไม่รอด เพราะถ้าไปหลงทุนต่างประเทศซึ่งโดยหักจากต้นทางไปแล้วยังไม่ถึง 15% กลับมาต้องมายื่นเสียภาษีให้ครบตามกำหนดที่ 15%

อย่างไรก็ดีอาจจะมีผลทางอ้อมในตลาดตราสารหนี้โดยภาพรวมบ้าง เพราะว่าปกติแล้วกองทุนรวมเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ของพันธบัตร โดยเฉพาะพันธบัตรแบงก์ชาติประมาณ 70-80% จึงอาจจะทำให้ Activity ของการซื้อขายลดลงไป เพราะว่าอัตราดอกเบี้ยโดนหักภาษีไม่ค่อยจูงใจเท่าที่ควร นักลงทุนเองจะซื้อผ่านกองทุนหรือซื้อเองโดยตรงตอนนี้ก็ไม่ต่างกันแล้ว

แต่กฎหมายใหม่จะมีการยกเว้นให้ภายใน 90 วัน สำหรับตราสารหนี้เดิมที่ถือไว้ไม่ต้องหัก ณ ที่จ่าย
ขณะนี้อาจจะยังประเมินผลกระทบไม่ได้ เนื่องจากกองทุนรวมตราสารหนี้เดิมเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ของพันธบัตร ธปท. และพันธบัตรอายุสั้นๆ ไม่เกิน 3 ปี ซึ่งทำให้ความน่าสนใจของกองทุนรวมลดลงในแง่อัตราผลตอบแทน ก็สะท้อนกลับไปว่า Activity ของตลาดโดยรวมจะลดลง โดยเฉพาะในตลาดรองกลุ่มพันธบัตรระยะสั้นไม่เกิน 3 ปี

ปัจจุบันขนาดกองทุนรวมตราสารหนี้มีอยู่ที่ 2.5 ล้านล้านบาท นับรวม FIF เข้าไปแล้ว ขณะที่ขนาดพันธบัตรทั้งหมดประมาณ 13 ล้านล้านบาท โดยกระทรวงการคลังเคยประเมินไว้ว่าจะเก็บภาษีเพิ่มได้ประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อปี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือในอุตสาหกรรมจะต้องไปประเมิน โดยเฉพาะ บลจ.จะต้องมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการปรับปรุงระบบ


“วันนี้คอนเซ็ปต์ชัดเจน แต่ด้วยความที่กองทุนรวมบ้านเราไม่ได้มีเฉพาะ Term fund แต่มี trade ตลอดเวลา ซึ่งซื้อของใหม่บางครั้งบอนด์ที่ออกมานานแล้วดอกเบี้ย 5% เวลาหักจะหักจากดอกเบี้ยหน้าตั๋ว แต่ความเป็นจริงคือตอนซื้อมาซื้อที่ยีลด์อาจจะแค่ 2% คือราคามูฟเม้นตลอด แต่ดอกเบี้ยถูกฟิกไว้ที่หน้าตั๋ว เพราะฉะนั้นบางทีอาจจะ over tax ก็ได้ จึงอาจจะยังมีความซับซ้อนของรายละเอียดในทางปฏิบัติ ซึ่งจะต้องไปหาวิธีปฏิบัติ ซึ่งต้องหารือกันอีกเยอะ และรวมถึงถ้าต้องมีการทำระบบขึ้นมาเพื่อเก็บข้อมูลเหล่านี้ ก็มีระยะเวลาให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน”