ฐานผลิตส่งออกวิกฤต ค่ายรถผวา-โรงงานชิ้นส่วนสะดุด

Photo by AFP

วิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19 ระบาดเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตของประเทศ ภาคเอกชนผู้ประกอบการปรับแผนตั้งการ์ด “ดร.ศุภวุฒิ” ชี้ภาคการผลิตส่งออกเป็นฐานที่มั่นสำคัญของเศรษฐกิจไทยที่ต้องปกป้อง กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ผวาคลัสเตอร์ชิ้นส่วนลามกระทบไลน์ผลิตต่อเนื่อง ฉุดซัพพลายเชนทั้งระบบ “โตโยต้า” ลุ้นกลับมาเปิดโรงงานสิ้นเดือน ก.ค. “มิตซูบิชิ” หวั่นปัญหาโรงงานชิ้นส่วนมาเลย์สะดุดกระทบฐานผลิตในไทย ผู้ว่าฯฉะเชิงเทราสั่งเข้มทุกโรงงานทำแผนเผชิญเหตุ กรณีพบผู้ติดเชื้อเกิน 10% ถูกสั่งปิดโรงงาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วง 6 เดือนแรกไทยสามารถส่งออกได้ถึง 132,334 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 15.53% ซึ่งปัจจุบันภาคส่งออกถือเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่จากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลัสเตอร์โรงงานเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น จนภาคเอกชนมองว่าอาจจะกระทบต่อภาคการส่งออก พร้อมเสนอให้ภาครัฐเร่งดำเนินมาตรการคัดกรอง ควบคุมการแพร่ระบาด และฉีดวัคซีนอย่างเร่งด่วน

“ส่งออก” ที่มั่นสุดท้ายเศรษฐกิจ

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวในคลับเฮาส์หัวข้อฟื้นเศรษฐกิจไทยอย่างไรหลังภัยโควิด-19 จัดโดย จส.100 เมื่อคืนวันที่ 26 กรกฎาคม 2564 ว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ท่ามกลางพายุโควิด

และเป็นที่น่าตกใจมากที่ กทม.และพื้นที่เสี่ยงมีคลัสเตอร์ถึง 140 แห่ง ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวกับโรงงาน แคมป์คนงาน กระจายไปทั่ว โดยเฉพาะโรงงานต่าง ๆ อย่างล่าสุดในโรงงานชิ้นส่วนยานยนต์ จ.ฉะเชิงเทราและ จ.ระยอง

ทั้งนี้ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น หากไทยไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ภายใน 1-2 เดือน ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เคยประเมินว่าจีดีพีจะหดตัว ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 1.4-1.5 แสนล้านบาท แต่หากไม่เป็นไปตามนั้น ความเสียหายก็จะเพิ่มขึ้น

“การระบาดรอบนี้รุนแรงมากที่สุด ต่างจากรอบที่ผ่าน ๆ มา เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อภาคการผลิตฝั่งซัพพลาย จากที่ผ่านมากระทบฝั่งดีมานด์ ดังนั้นรอบนี้จะรุนแรงมาก โดยเฉพาะกับเอสเอ็มอีสายป่านสั้น เอ็นพีแอลจะเพิ่มมากขึ้น ตอนนี้อาจจะมองว่าหนี้เสียในกลุ่มเอสเอ็มอีอยู่ประมาณ 10% ของสินเชื่อทั้งหมด แต่หากรวมดอกเบี้ยที่ค้างชำระ ดีไม่ดีเอ็นพีแอลอาจจะไปถึง 20% แล้ว ถ้ายังแก้ไม่ได้ อีก 3-4 เดือนจากนี้ฟื้นยากมาก”

ฉะนั้นทางออกสำคัญ คือ 1) คิดให้ดีว่าแผนการจัดสรรวัคซีนให้ใคร อย่างไร เช่น เปลี่ยนจากผู้สูงวัยเป็นวัยทำงานหรือไม่ แล้วให้คนสูงวัยอยู่บ้าน ป้องกันคนทำงานไม่ให้นำเชื้อไปติดผู้สูงวัย และ 2) เร่งการตรวจสอบเชิงรุก เพื่อคัดกรองและหาพื้นที่เซฟโซนให้ภาคการผลิต หากรัฐบาลแก้ปัญหาไม่ทันการณ์จะทำให้ภาคผลิตหยุดชะงักมากขึ้น และหากลามถึงการส่งออกที่เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวเดียวที่เหลืออยู่จะน่าเป็นห่วงมาก

ส.อ.ท.ห่วงอุตฯยานยนต์

นางพิมพ์ใจ ลี้อิสระนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้เซ็กเตอร์อุตสาหกรรมยานยนต์ได้รับผลกระทบ ล่าสุดค่ายรถ (โตโยต้า) หยุดการผลิต เพราะซัพพลายเออร์ได้รับผลกระทบจากโควิด เรียกว่าตอนนี้ผู้ประกอบการผลักดันการส่งออกได้อย่างยากลำบากมาก เพราะต้องผจญการบริหารจัดการโควิดทั้งภายในและภายนอก

สิ่งที่ต้องการมากที่สุดตอนนี้มี 2 อย่าง คือ เรื่องการรักษาพยาบาล จากอัตราผู้ติดเชื้อวันละ 15,000 คน ต้องการให้แยกกลุ่มผู้ป่วยและปรับกลุ่มสีเขียวให้กลับมาปกติให้เร็วขึ้น และ 2) เราเป็นจักรกลสุดท้ายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ความเสี่ยงของภาคอุตสาหกรรมสูงมาก ต้องดูแล ซึ่งยังไม่เห็นด้วยกับการทำบับเบิลซีลทั้งหมด

เพราะคำถามคือ โรงงานหรือชุมชนเป็นต้นเหตุในการแพร่ระบาด จะต้องมุ่งแก้ไขให้ตรงจุด ถ้าสมมุติชุมชนเป็นจุดแพร่ระบาด การมาปิดโรงงาน เท่ากับไม่ใช่การแก้ไขที่ถูกต้อง

“โตโยต้า” ลุ้นกลับมาผลิต

กรณีผลกระทบจากคลัสเตอร์ชิ้นส่วนโรงงานไทยแอร์โรว์ จังหวัดฉะเชิงเทราถูกจังหวัดสั่งปิด 14 วัน ทำให้ทางโตโยต้าต้องประกาศปิดโรงงานผลิตรถยนต์ 3 แห่ง ได้แก่ โรงงานสำโรง จ.สมุทรปราการ โรงงานบ้านโพธิ์และโรงงานเกตุเวย์ จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นเวลา 4 วัน ตั้งแต่ 20-23 ก.ค. และหยุดต่อเนื่องตามวันหยุดประจำปีอีก 3 วัน (26-28 ก.ค.)

ผู้บริหารฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ตามตารางการผลิตจะกลับมาผลิตวันพฤหัสบดีที่ 29 ก.ค. แต่ตอนนี้ยังไม่สามารถระบุได้ เนื่องจากต้องรอความชัดเจนของซัพพลายเออร์

ช่วงนี้มีการวางแผนและประสานงานร่วมกับบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนทุกฝ่าย เพื่อให้การบริหารจัดการชิ้นส่วนในการประกอบรถยนต์สามารถดำเนินไปตามแผนการผลิตที่วางไว้ได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพสูงสุด

“โตโยต้ามีมาตรการความปลอดภัยต่าง ๆ ชัดเจน โดยให้ความสำคัญสูงสุดกับสวัสดิภาพและความปลอดภัยของพนักงานทุกคน ตามมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของโควิดมาโดยตลอดตามคำแนะนำและกฎข้อบังคับของหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง”

ไทยแอร์โรว์ขอเปิดก่อน 14 วัน

แหล่งข่าวฝ่ายบริหารระดับสูง บริษัท ไทยแอร์โรว์ จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้ทีมผู้บริหารเร่งหารือกับหน่วยงานราชการที่กำกับดูเเลการแพร่ระบาด หาทางออกเพื่อให้สามารถกลับมาผลิตได้เร็วที่สุด เพราะโรงงานที่ฉะเชิงเทราเป็นโรงงานหลักที่ป้อนชิ้นส่วนให้กับโตโยต้า หากไม่สามารถกลับมาผลิตได้ในเร็ววันจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ทำให้โตโยต้าต้องหยุดผลิตยาวตามไปด้วย

“จริง ๆ เรามีอีกโรงงานอยู่ที่ อ.เทพารักษ์ จ.สมุทรปราการ อีกแห่ง ซึ่งโรงนี้ผลิตป้อนค่ายอื่น ๆ ทั้งนิสสัน อีซูซุ ซึ่งกำลังการผลิตน่าจะไม่พอแบ่งให้ส่วนอื่นได้ ดังนั้นถ้าแผนที่เสนอไปไม่ได้รับการอนุมัติและไม่สามารถเปิดไลน์ผลิตได้ก่อน 14 วัน ก็ต้องหยุดยาวไปถึงวันที่ 2 สิงหาคม นั่นหมายความว่าโตโยต้าจะต้องหยุดด้วยเช่นกัน”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากโตโยต้าต้องปิดไลน์ผลิตจากผลกระทบการซัพพลายชิ้นส่วน น่าจะทำให้เป้าการผลิตไม่เป็นไปตามแผน ที่นายโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ระบุไว้เมื่อต้นปีว่า

เป้าหมายการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปของโตโยต้าในปี 2564 จะอยู่ที่ 254,000 คัน เพิ่มขึ้น 18% จากปีที่แล้ว จากความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น เช่น เอเชียและโอเชียเนีย ทั้งนี้ โตโยต้าตั้งเป้าการผลิตรถยนต์รวมอยู่ที่ 527,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 19% จากปี 2563

นิสสันทำ “บับเบิลแอนด์ซีล”

ด้านนายอิซาโอะ เซคิกุจิ ประธาน นิสสัน ประเทศไทย รองประธานสายงานการตลาดและการขาย นิสสัน ภูมิภาคอาเซียน และประธานกรรมการบริหาร นิสสัน อินโดนีเชีย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงกรณีมีคลัสเตอร์ชิ้นส่วนติดโควิดและต้องปิดโรงงานว่า

นิสสันมีการใช้ชิ้นส่วนจากโรงงานไทยแอร์โรว์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยพาร์ตส่วนใหญ่จะใช้จากโรงงานอีกแห่ง และบริษัทก็มีชิ้นส่วนในสต๊อกเพียงพอรองรับการผลิตได้พอสมควร

สำหรับสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดนั้น บริษัทมีมาตรการควบคุมอย่าเคร่งครัดตามมาตรฐานสาธารณสุข โดยพบพนักงงานติดเชื้อบ้าง แต่ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อมาจากภายนอกโรงงาน ซึ่งบริษัทได้พยายามควบคุมและมีการทำ “บับเบิลแอนด์ซีล” อย่างเข้มงวด

มิตซูบิชิหวั่นชิ้นส่วนมาเลย์สะดุด

เช่นเดียวกับแหล่งข่าวจากบริษัทมิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ยอมรับกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โรงงานผลิตรถยนต์ที่แหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ใช้มาตรการเข้มข้นควบคุมความปลอดภัยของพนักงาน โดยในส่วนพนักงานบริษัทยังไม่พบผู้ติดเชื้อ แต่มีบางส่วนที่เป็นพนักงานเอาต์ซอร์ซ และพนักงานโลจิสติกส์ที่เข้ามาติดต่อกับบริษัทมีติดเชื้อบ้าง ซึ่งบริษัทก็ได้เพิ่มความเข้มงวดตรงนี้

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ผลกระทบจากโรงงานชิ้นส่วนในบ้านเรานั้น ยังไม่ส่งผลกระทบกับการผลิตของบริษัท แต่ที่กำลังจับตาคือมีชิ้นส่วนบางตัวนำเข้าจากมาเลเซีย เริ่มมีปัญหาความล่าช้าและอาจจะทำให้ไลน์การผลิตสะดุดได้

“เอ็มจี-ฮอนด้า” ตั้งการ์ดสูง

ขณะที่ นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด แห่งที่ 2 จังหวัดชลบุรี ยังผลิตรถยนต์เอ็มจีตามปกติ โดยเฉพาะ MG5 ซึ่งเพิ่งเปิดตัวไปยังสามารถผลิตและจัดส่งได้ตามแผนที่วางไว้ บริษัทมีการติดตามและประสานงานกับซัพพลายเออร์อย่างใกล้ชิด

รวมทั้งมีมาตรการเข้าไปสนับสนุนการทำงานของซัพพลายเออร์เพื่อป้องกันผลกระทบด้านการผลิตอย่างเต็มที่ ปัจจุบันยังไม่มีการรับแจ้งจากซัพพลายเออร์รายใดว่าหยุดผลิต โดยบริษัทมีมาตรการคัดกรองและเฝ้าระวังในเรื่องนี้อย่างเข้มงวด และด้วยความระมัดระวังอย่างสูง

ขณะที่แหล่งข่าวจากบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ตอนนี้เพื่อลดความเสี่ยงในการเดินทางเข้าออกในเขตพื้นที่สีแดงเข้ม ได้จัดหาห้องพักเดี่ยวในพื้นที่ใกล้เคียงโรงงานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้กับพนักงานที่ต้องเดินทางข้ามจังหวัด

และในส่วนของพนักงานออฟฟิศที่โรงงานได้มีการกำหนดให้ WFH มากที่สุด ส่วนแผนการผลิตมีการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันอยู่เสมอ ทั้งนี้เพื่อให้สามารถดำเนินแผนงานในการผลิตได้อย่างดีที่สุด

ห่วงส่งออกรถยนต์พลาดเป้า

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ไลน์การผลิตรถยนต์ซึ่งได้รับผลกระทบจากคลัสเตอร์ชิ้นส่วน ทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลว่าจะส่งผลต่อเป้าหมายส่งออกรถยนต์รวมในปี 2564 ซึ่งกำหนดไว้ 8.5 แสนคัน แม้ว่าในช่วงครึ่งปีแรกจะสามารถตุนตัวเลขส่งออกไว้ได้แล้วถึง 486,237 คันก็ตาม

นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากการประเมินครึ่งปีหลังยังคาดว่ายอดการผลิตรถยนต์ได้สูงสุดถึง 1.6 ล้านคัน แบ่งเป็นยอดส่งออก 8.5 แสนคัน และขายในประเทศ 7.5 แสนคัน เพราะประเทศคู่ค้าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ขณะที่คนไทยยังมีกำลังซื้ออยู่

ดังนั้นการผลิตรถยนต์ซึ่งไทยเป็นฐานใหญ่ที่สุดจึงไม่สามารถหยุดการผลิตได้ มาตรการที่ต้องควบคุม ป้องกัน และดูแลอย่างเคร่งครัด คือต้องไล่ตรวจพนักงานเชิงรุกเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 กันบุคคลที่มีความเสี่ยง ปรับการทำงานใหม่เพื่อไม่ให้กระทบกับช่วงเวลาการผลิต แม้จะต้องปรับตัวกับแผนงานใหม่และต้องประเมินสถานการณ์ทุกวัน ทุกโรงงานก็ต้องทำเพื่อไม่ให้การผลิตต้องหยุดลง แม้จะต้องรับภาระที่เพิ่มขึ้น

โมเดลมหาชัยบังคับโรงงานทั่วไทย

นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโส สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2564 ทาง ส.อ.ท.ได้มีการประชุมร่วมกับประธานสภาอุตสาหกรรมในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อหารือกรณีที่มีข่าวว่าหลายจังหวัดมีแนวคิดจะนำมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่จังหวัดสมุทรสาครมาบังคับใช้กับโรงงานทั่วประเทศ

โดยเฉพาะข้อกำหนดให้โรงงานที่มีพนักงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไปต้องจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อแยกกักผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายในโรงงาน (factory accommodation isolation : FAI) โดยจะต้องมีจำนวนเตียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของแรงงาน ซึ่งที่ประชุมส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย

เพราะสถานการณ์โควิดแต่ละจังหวัดไม่เหมือนกัน ถ้าจะออกกฎอย่างเดียวกันมาบังคับใช้แบบเหวี่ยงแหทั่วประเทศไม่เห็นด้วย เพราะศักยภาพของโรงงานแต่ละแห่งแตกต่างกัน ทางออกในการแก้ปัญหาที่ดีตอนนี้คือ รัฐบาลต้องเร่งจัดหาวัคซีนมาให้โดยเร็ว

“การทำโรงพยาบาลสนามภายในโรงงานรายใหญ่บางแห่งคงทำได้ แต่รายเล็กไม่มีพื้นที่ภายในโรงงาน และไม่มีกำลังเพียงพอจะให้ไปเช่าหอพัก หรืออพาร์ตเมนต์ภายนอกโรงงาน เพื่อไว้ให้พนักงานกักตัว เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการต่างได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เศรษฐกิจซบเซา ยอดรายได้แต่ละโรงงานไม่เหมือนเดิม ค่าระวางเรือแพง จะไปลงทุนตั้งโรงพยาบาลสนามคงลำบาก” นายทวีกล่าว

แปดริ้วสั่งเข้มทุกโรงงาน

ขณะที่ นายจีรทัศน์ แจ่มไพบูลย์ ประธานหอการค้าจังหวัดฉะเชิงเทรา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์แพร่ระบาดในสถานประกอบการจังหวัดฉะเชิงเทราค่อนข้างจะควบคุมยาก เนื่องจากมีพนักงานเดินทางไปกลับจากจังหวัดข้างเคียงประมาณ 20,000 คน

ล่าสุด นายไมตรี ไตรติลานนท์ ผวจ.ฉะเชิงเทรา ได้หารือปัญหาดังกล่าวกับทาง ส.อ.ท.จังหวัด และนิคมอุตสาหกรรมภายในจังหวัด โดยเฉพาะโรงงานขนาดใหญ่ ๆ เพื่อหาทางออก โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปให้สถานประกอบการทุกแห่งไปจัดทำแผนเพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด 4 ข้อ ประกอบด้วย

1.โรงงานทุกแห่งในจังหวัดต้องจัดทำแผนสถานการณ์ประกอบ บริหารแบบนิวนอร์มอล, แผนปฏิบัติตัวของพนักงาน, แผนการเดินทาง การขนย้ายแรงงาน และแผนเผชิญเหตุ กรณีพบผู้ติดเชื้อ การเตรียมโรงพยาบาลสนาม และศูนย์พักคอย

2.กรณีแรงงานเดินทางข้ามจังหวัดต้องได้ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม หรือซิโนแวค 2 เข็ม กรณียังไม่ได้ฉีดวัคซีน เจ้าของโรงงานต้องทำ antigen test kids แบบสุ่ม 10% ทุก ๆ 7 วัน

3.หากโรงงานพบผู้ติดเชื้อไม่เกิน 5% ให้ทำตามแผนเผชิญเหตุ และหากพบผู้ติดเชื้อ 10% ขึ้นไปจะสั่งปิดทันที 4.กรณีโรงงานถูกสั่งปิดแม้ยังไม่ถึง 14 วัน ทางโรงงานสามารถทำแผนป้องกันการแพร่ระบาดมาเสนอคณะกรรมการโรคติดต่อพิจารณาทบทวนได้

“ตอนนี้ทางจังหวัดมีการสั่งให้ทุกอำเภอจัดตั้งศูนย์พักคอยหรือโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับ และหากเกิดสถานการณ์ผู้ป่วยล้นเตียง สถานประกอบการคงจะต้องเช่าอพาร์ตเมนต์ให้กับพนักงานซึ่งก็เป็นทางเลือกที่มองไว้ ปัจจุบันได้เพิ่มเตียงอีก 1,400 เตียง คาดว่าจะสามารถเปิดใช้ในสัปดาห์หน้า”

ปัจจุบันโรงงานมีผู้ติดเชื้อและได้รับผลกระทบหนัก คือ บริษัท ไทยแอร์โรว์ จำกัด ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ มีพนักงานถึง 4,200 คน มีผู้ติดเชื้อประมาณ 500 คน และผู้ที่มีความเสี่ยงสูงกว่า 600 คน ได้ถูกสั่งปิดเป็นเวลา 14 วัน

ซึ่งหลังจากหยุดการผลิตไป 5 วัน ได้เข้ามาเสนอแผนกับทางผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฉะเชิงเรา เพื่อจะขอเปิดโรงงาน โดยทางคณะกรรมการฯให้กลับไปจัดทำแผนใหม่ให้เรียบร้อยและมาเสนออีกรอบ เนื่องจากเป็นโรงงานขนาดใหญ่ จึงต้องสร้างความมั่นใจให้ชุมชนโดยรอบด้วย

ชลบุรีเด้งรับตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่ม

นายสมบูรณ์ ตรีพรเจริญ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์โควิด-19 ในชลบุรีพบการแพร่ระบาดภายในโรงงานเพิ่มขึ้น ซึ่งโรงงานที่พบส่วนมากทางจังหวัดจะใช้มาตรการ bubble and seal เพื่อไม่ให้กระทบการผลิตภายในโรงงาน

ส่วนภาพรวมของจังหวัดยังไม่มีมาตรการควบคุมที่เข้มงวดกับโรงงานอื่น ๆ แต่ก็คงต้องเตรียมจัดหาสถานที่ตั้งโรงพยาบาลสนามไว้รองรับคนป่วยสีเขียวและสีเหลือง เพราะจะรอการขับเคลื่อนของจังหวัดและภาครัฐอย่างเดียวคงไม่ได้ ทุกโรงงานต้องเตรียมแผนในการช่วยเหลือตัวเอง

บับเบิลแอนด์ซีลไปคนละทาง

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ส.อ.ท. เปิดเผยว่า การใช้มาตรการขึ้นอยู่กับแต่ละโรงงานที่ต้องสร้างความมั่นใจให้กับจังหวัด ถ้าจัดการได้ครบถ้วน ระยะเวลาการปิดก็จะสั้น

เช่น สามารถตรวจเชิงรุก แยกผู้ป่วยได้ชัด มาตรการ bubble and seal มีพร้อมกับสถานที่แยกกักตัว หรือโรงพยาบาลสนาม จะสามารถดำเนินการผลิตต่อได้ ซึ่ง bubble and seal มีมาตรฐานอยู่แล้ว ว่าจะสุ่มตรวจประเมินสถานการณ์

ถ้าติดเชื้อ 10% ขึ้นไป ก็เอาคนที่ผลเป็นบวกออกไปอยู่โรงพยาบาลสนาม ส่วนที่เหลือทำงานต่อไป ถ้าพบบวก 0-5% test treat trace ให้ติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูง แยกกักกันผู้ติดเชื้อ พบบวก 6-10% เพิ่มตรวจเชิงรุกในกลุ่มก้อนที่ติดเชื้อ แต่ขึ้นอยู่กับมาตรการของแต่ละจังหวัด ที่เอกชนมองว่าเป็นปัญหาคือขณะนี้คำสั่งแต่ละจังหวัดไม่เหมือนกัน บางแห่งติดเชื้อไม่กี่คนสั่งปิดโรงงานเลย

ปรับแผนผลิตต้นทุนพุ่ง

นายธีรพันธุ์ พิมพ์ทอง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม ส.อ.ท. เปิดเผยว่า ตั้งแต่ประกาศล็อกดาวน์ 13 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม แม้ไม่ใช่ประเภทกิจการที่ต้องปิดดำเนินการ แต่มาตรการล็อกดาวน์ทำให้หลายโรงงานต้องปรับแผนงานใหม่

อาทิ การบริหารจัดการเดินทางของพนักงานโดยปรับช่วงเวลาทำงาน บางบริษัทที่มี 2 กะ เข้ากะดึกตอน 20.00 น. ให้มีรถบัสรับจ้างมารับส่งพนักงานตามเส้นทางหลัก จะเข้าโรงงานก่อน 2 ทุ่มจึงไม่กระทบ ทำให้ทางโรงงานมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม


และบางบริษัทปรับกะโดยงดการทำงานกะดึก เพิ่มชั่วโมงการทำงานกะกลางวัน และวันหยุดสุดสัปดาห์แทน เป็นลักษณะของค่าล่วงเวลา (OT) ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น