ปั้นไทย “ฮับ” อาหารญี่ปุ่น สู่อาเซียน-ตะวันออกกลาง

อาหารญี่ปุ่นยังคงความนิยมในไทยไม่เสื่อมคลาย ทั้งยังเพิ่มความนิยมในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง รวมถึงอินเดีย และประเทศในตะวันออกกลาง
 
ในงานจัดแสดงสินค้าอาหารญี่ปุ่น “เจแปน พาวิลเลียน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงาน Thaifex 2018 องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือเจโทรฯ กรุงเทพ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ความร่วมมือในการส่งเสริมการส่งออกสินค้าอาหารจากญี่ปุ่นมายังประเทศไทย ร่วมกับบริษัท
 
“J Value” ผู้นำเข้าและผู้บริหารตลาดสินค้าตลาดอาหารภายใต้ JAL Group และ “Sagawa Advanced” บริษัทนำเข้าและจำหน่ายอาหารญี่ปุ่น เพื่อผลักดันการส่งออกอาหารญี่ปุ่นให้ถึงตามเป้าที่รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งเป้า1 ล้านล้านเยน ภายในปี 2019ภายใต้เอ็มโอยูดังกล่าว จะมีการจัดตั้ง “ตลาดญี่ปุ่นทองหล่อ” (JapanFresh Food market) ซึ่งจะเป็นตลาดสดญี่ปุ่นค้าส่ง แบบ B to B แห่งแรกนอกประเทศญี่ปุ่น เจาะกลุ่มลูกค้าประเทศไทย ประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงลูกค้าในตะวันออกกลาง พร้อมเปิดตัวในวันเสาร์ที่ 9 มิถุนายนนี้
 
“มิทสึฮิโระ มิยาโคชิ” ที่ปรึกษาพิเศษนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ด้านการส่งออกอาหารญี่ปุ่น ซึ่งเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามให้สัมภาษณ์ว่า ในการเดินทางเยือนไทยครั้งนี้ ได้พบปะเจรจากับผู้ประกอบการอาหารญี่ปุ่นของไทยหลายราย ซึ่งทุกคนล้วนบอกว่าผลิตภัณฑ์ญี่ปุ่นคุณภาพดี และยังได้รับความนิยมเหมือนเคย ซึ่งสังเกตจากผู้มาเยี่ยมชมงาน Thaifex ปีนี้เห็นชัดว่าบูทอาหารญี่ปุ่นมีผู้เข้าชมเยอะกว่าอาหารประเภทอื่นทำให้เชื่อว่าประเทศไทย จะมีศักยภาพเป็นฮับส่งออกสำหรับประเทศอาเซียน รวมถึงประเทศอาหรับอื่น ๆ ได้ เนื่องจากคนชื่นชอบอาหารญี่ปุ่นในไทยมีเยอะ และภาคเอกชนญี่ปุ่นเอง ก็อยากให้ไทยเป็นฮับในการกระจายสินค้า
 
“ในการเลือกประเทศที่จะเป็นฮับกระจายสินค้าอาหารญี่ปุ่น รัฐบาลไม่ได้เลือก แต่เป็นความต้องการของภาคเอกชน ที่อยากให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง รัฐบาลมีหน้าที่สนองให้เท่านั้น ซึ่งผมมองว่าประเทศไทยสามารถสร้างแพลตฟอร์มดังกล่าวได้ และมีศักยภาพในการกระจายสินค้าไปยังประเทศที่ไกลออกไป เช่น อินเดีย หรือประเทศในตะวันออกกลาง” มิทสึฮิโระกล่าว
 
“ฮิโรกิ มิตสึมาตะ” ประธานเจโทรฯ กรุงเทพ เสริมว่า จากการได้ไปสำรวจตลาดญี่ปุ่นทองหล่อ ซึ่งปัจจุบันกำลังก่อสร้าง ตนคิดว่าที่นี่จะถูกปั้นให้เป็นคล้าย ๆ กับตลาด “ทสึคิจิ” ตลาดปลาอันโด่งดังที่ประเทศญี่ปุ่น ขายผักผลไม้ ปลา และเนื้อสัตว์ ซึ่งในอนาคต ก็น่าจะเป็นพื้นที่สำหรับผู้ประกอบการจากประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามาหาซื้อวัตถุดิบด้วย รวมถึงประเทศในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเริ่มเห็นความนิยมในอาหารญี่ปุ่นชัดเจน และคนมีกำลังซื้อสูง ซึ่งหากเข้ามาซื้อในประเทศไทย ก็น่าจะสะดวกกว่า
 
ในเบื้องต้น ตลาดญี่ปุ่นทองหล่ออันเป็นความร่วมมือภายใต้ MOU จะเริ่มเน้นผู้ประกอบการร้านอาหารหรือโรงแรมในประเทศไทยก่อน และค่อยขยายสู่ประเทศอื่น ๆ ใกล้เคียง โดยช่วงแรกผู้ประกอบการจะต้องเข้ามาเลือกซื้อที่หน้าร้านด้วยตัวเองก่อน ขณะเดียวกันก็กำลังมองหาความร่วมมือด้านโลจิสติกส์เพิ่มขึ้นในอนาคต
 
“เคนทาโร่ โมโตดะ” ผู้จัดการทั่วไปจากบริษัท J Value เผยว่า ตลาดอาหารสดขายส่งกลางกรุงทองหล่อเป็นอาคาร 2 ชั้น พื้นที่รวมราว 700 ตารางเมตร เบื้องต้นจะมีสินค้า 3 ไลน์ คือ ผักผลไม้ 100 ชนิด ปลา 100 ชนิด และเนื้อ 10 ชนิด โดยนี่คือ “ครั้งแรกในโลก” ที่นำโมเดลตลาดปลาทสึกิจิ มาทำนอกประเทศญี่ปุ่น
 
ทั้งนี้ ผลสำรวจจากเจโทร กรุงเทพฯ ระบุว่า เหตุผลสำคัญให้ความสำคัญกับการส่งออกสินค้าอาหารญี่ปุ่นมาไทย โดยมูลค่าส่งออกในปี 2017 อยู่ที่ 11,730 ล้านเยน เพิ่มขึ้น 18.7% จากปีก่อนหน้า เพราะประเทศไทยเป็นศูนย์กลางกระจายรายได้ไปยังประเทศเพื่อนบ้านด้วย
 
โดยอาหารที่น่าสนใจที่จะใช้ไทยเป็นศูนย์กระจายสินค้า ได้แก่ อาหารเพื่อแปรรูปเป็นอาหารกระป๋อง เช่น ปลาทูน่า (คัตสึโอะ, มากูโระ) ปลาซาบะ และปลาซาร์ดีน ซึ่งมูลค่าส่งออกปัจจุบันอยู่ในระดับหลายพันล้าน โดยในงาน Thaifex ปี 2018 ทางเจโทรได้จัดกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจระหว่างผู้ผลิตอาหารในไทย และผู้ส่งออกจากญี่ปุ่น ภายในงานเจแปน พาวิลเลียนครั้งนี้ด้วย โดยมีบริษัทและองค์กรผู้ค้าอาหารญี่ปุ่น เข้าร่วม 78 บริษัท โดยปีนี้มีไฮไลต์อยู่ที่ “เหล้าอาวะโมริ” จากโอกินาวะ เนื่องจากเป็นเหล้าที่หมักโดย “ข้าวไทย” ที่ส่งออกไปยังโอกินาวะ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับประเทศไทยมาอย่างยาวนานถึง 600 ปี
 
“มิทสึฮิโระ มิยาโคชิ” บอกว่า เหล้าอาวะโมริ เป็นดั่งทูตวัฒนธรรมระหว่าง 2 ประเทศ ไทย-ญี่ปุ่น และเป็นเหล้าที่ “ชินโซ อาเบะ” นายกรัฐมนตรีแห่งญี่ปุ่นดื่มทุกวัน