ยักษ์เครื่องดื่มสิงคโปร์จับมือ ลบคำสาป “เอเชียเสี่ยงเบาหวาน”

ภาพจาก pixabay

เมื่อทั่วโลกใส่ใจกับ “สุขภาพ” ของประชาชนมากขึ้น เพราะปัญหาสุขภาพของประชาชนกลายเป็นต้นทุนด้านสาธารณสุขของประเทศ โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เคยกังวลเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพว่า ผู้บริโภคในยุคปัจจุบันเสี่ยงเป็น “โรคเบาหวาน” มากที่สุด โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่มีการบริโภคน้ำตาลเฉลี่ยถึง 68% ของการบริโภคน้ำตาลทั่วโลก มากกว่าภูมิภาคอื่น 2-3 เท่า ตั้งแต่ปี 2013-2016 และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก 17% ในปี 2025

ที่ผ่านมา ประเทศโซนตะวันตกที่เริ่มเคลื่อนตัวปฏิวัติ “เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล” เป็นชาติแรก ๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มมาตรการจัดเก็บภาษีน้ำตาล และออกฉลากเตือน

แต่ปัจจุบันหลายประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก เช่น ฟิลิปปินส์ เริ่มตื่นตัวมากขึ้นด้วยการประกาศเพิ่มภาษีน้ำตาลตั้งแต่ 2-140% ของเครื่องดื่มแต่ละชนิด ทำให้ราคาเครื่องดื่มสูงขึ้น เช่น น้ำอัดลม ที่ราคาปรับเพิ่ม 36% ส่วนประเทศไทย ออกมาตรการปฏิรูปกฎหมายภาษีเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาล เช่นเดียวกับอินเดียและอินโดนีเซีย ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมาย

ล่าสุด “สิงคโปร์” อีกหนึ่งประเทศที่ออกมาต่อต้านเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง โดย “ไฟแนนเชียล ไทมส์” รายงานว่า รัฐบาลสิงคโปร์ ต้องการจัดระเบียบเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง ซึ่งเป็นหนึ่งในความพยายามที่จัดการกับโรคเบาหวาน โดยอ้างข้อมูลจาก “ยูโรมอนิเตอร์” บริษัทวิจัยตลาดที่ระบุว่า การบริโภคน้ำตาลจากเครื่องดื่มในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยแล้วทั้งภูมิภาคบริโภคน้ำตาล 6.08 กรัมต่อคนต่อวัน

ขณะที่สิงคโปร์บริโภคน้ำตาลสูงถึง 11.99 กรัมต่อคนต่อวันกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า ขณะนี้มีบริษัทเครื่องดื่มรายใหญ่ 7 แห่ง ได้แก่ บริษัทโคคา-โคลา, เป๊ปซี่โค, เอฟแอนด์เอ็นฟูดส์, มาเลเซีย แดรี่ อินดัสทรี, เนสท์เล่, พอคคา และโยวเฮียบเซง ร่วมลงนามความร่วมมือกับสิงคโปร์ เพื่อเลิกขายเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากกว่า 12% ภายในปี 2020

นอกจากนี้ รัฐบาลได้ศึกษามาตรการอื่น เช่น เพิ่มการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มผสมน้ำตาลให้เข้มงวด จำกัดการโฆษณาเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เช่น งดโฆษณาในช่วงไพรมไทม์ และติดป้ายประกาศเตือนผู้บริโภคตามร้านค้าต่าง ๆ

บริษัทเครื่องดื่มในสิงคโปร์ประกาศยุทธศาสตร์หลังลงนามความร่วมมือกับรัฐบาล เช่น “เจมส์ ควินซีย์” ซีอีโอคนใหม่ของโคคา-โคล่า กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าจะลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มของบริษัทไม่เกิน 10% ในปี 2020 โดยที่ผ่านมาโค้กได้ลดน้ำตาลในหลากหลายผลิตภัณฑ์ รวมถึงออกเครื่องดื่มใหม่ที่ไม่มีน้ำตาล

ส่วนโฆษกของเป๊ปซี่โคกล่าวว่า กว่า 80% ของเครื่องดื่มที่จำหน่ายในสิงคโปร์มีปริมาณน้ำตาล 12% หรือน้อยกว่าอยู่แล้ว แต่เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของรัฐบาล ผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ของบริษัทจะมีน้ำตาลต่ำเพียง 5% หรือไม่มีน้ำตาล พร้อมมุ่งเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้นเพื่อผู้บริโภค

ขณะที่ เนสท์เล่ สิงคโปร์, มาเลเซีย แดรี่ อินดัสทรี และเอฟแอนด์เอ็น ฟู้ดส์ยืนยันว่า สินค้าของบริษัทจะไม่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 12% ตามที่รัฐบาลสิงคโปร์กังวล แต่จะมุ่งพัฒนาเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพมากขึ้น