เรือดำน้ำในฝันทัพเรือไทยที่ส่อเป็นจีนแท้ 100% กับหลากงบสนับสนุน รวมเฉียด 5 หมื่นล้าน

พรรคก้าวไกลชี้ กองทัพเรือส่งสัญญาณ พิจารณาใช้เครื่องยนต์จีนสำหรับเรือดำนำ 3 ลำ หลังจีนหาเครื่องยนต์อื่นทดแทนเครื่องยนต์จากเยอรมนีไม่ได้ พร้อมตั้งคำถามงบประมาณมหาศาลแต่สเปกไม่ตรงสัญญา เป็นเหตุผลควรประวิงเวลาให้ “รัฐบาลใหม่” มาเจรจาต่อหรือไม่

เมื่อ 15 ก.ย. ซึ่งเป็นเส้นตายการพิจารณาสเปกเครื่องยนต์เรือดำน้ำที่ยืดเวลาออกมาแล้วรอบหนึ่ง ท้ายสุดยังไม่ได้ข้อสรุป และแน่ชัดว่าเรือดำน้ำที่ไทยซื้อจากจีนจะไม่ได้ใช้เครื่องยนต์เยอรมนี ตามที่ระบุในสัญญา

ตอนนี้ ประเด็นที่สื่อมวลชนและสังคมเฝ้าติดตาม คือ การที่จีนเสนอเครื่องยนต์ CHD 620 ที่จีนพัฒนาและผลิตเอง ให้กองทัพเรือไทยแทน เพื่อใช้สำหรับเรือดำน้ำชั้น Yuan Class รุ่น S26T ลำแรกจากจำนวน 3 ลำที่ไทยสั่งซื้อจากจีน หลังจีนไม่สามารถจัดหาเครื่องยนต์ทดแทนเครื่องยนต์ MTU 396 ของเยอรมนีได้

นับแต่เมื่อวานนี้ (13 ธ.ค.) ถึงวันนี้ (14 ธ.ค.) ตัวแทนของฝั่งจีน คือ ผู้ช่วยทูตทหารจีน และตัวแทนบริษัท CSOC และกองทัพเรือไทย กำลังเจรจาถึงการพิจารณาสเปกเครื่องยนต์จีน เพื่อทดแทนเครื่องยนต์เยอรมนี

คาดว่าจีนจะจัดส่งเรือดำน้ำให้ไทยลำแรกในปี 2567-2568
Getty Images คาดว่าจีนจะจัดส่งเรือดำน้ำให้ไทยลำแรกในปี 2567-2568

ในห้วงเวลาของการเจรจานี้ นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ออกมาตั้งคำถามว่า กองทัพเรือกำลังฟอกขาว สร้างความชอบธรรมการใช้เครื่องยนต์จีนหรือไม่ หลังเพจเฟซบุ๊ก “ฐานทัพเรือกรุงเทพฯ” ซึ่งเป็นเพจลูกของกองทัพเรือไทย ได้เผยแพร่อินโฟกราฟิก และลงบทความเชิงอธิบายการทำงานของเครื่องยนต์ที่กำลังเป็นปัญหาว่า ไม่ได้เป็นเครื่องยนต์ที่เป็นส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนใบจักรของเรือดำน้ำ เป็นเพียงเครื่องยนต์เพื่อปั่นกระแสไฟฟ้าเท่านั้น

“เป็นความพยายามอย่างเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อนำไปสู่การแก้ไขสัญญาและยอมรับเครื่องยนต์ดีเซล CHD 620 ที่ผลิตจากจีน แทนเครื่องยนต์ MTU 396 ของเยอรมันใช่หรือไม่” นายพิจารณ์ ตั้งคำถาม

“ถ้าหากในการเจรจาวันที่ 13-14 ธ.ค. นี้กองทัพเรือยอมแก้ไขสัญญาไทยจะกลายเป็นประเทศแรกในโลก ที่ได้ใช้เครื่องยนต์ดีเซล CHD 620 ของจีนในเรือดำน้ำ เพราะที่ผ่านมาแม้แต่ประเทศจีนเองยังไม่ได้ใช้เองเลย!!”

ADVERTISMENT

บีบีซีไทยตรวจสอบโพสต์ดังกล่าวในเพจเฟซบุ๊ก “ฐานเรือกรุงเทพ” ที่โพสต์เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ที่ผ่านมา แต่ปัจจุบัน โพสต์ดังกล่าวได้ถูกลบไปแล้ว

กองทัพเรืออธิบายบทบาทเครื่องยนต์

โพสต์ต้นทางของประเด็นที่พรรคก้าวไกลถกถามว่า กองทัพเรือกำลังสร้างความชอบธรรมการใช้เครื่องยนต์จีนหรือไม่ มีเนื้อหาว่า “ทหารเรือรู้หรือไม่ ? เรือดำน้ำที่ ทร. สั่งซื้อนั้น ทุกครั้งที่ใบจักรหมุน หมุนด้วยพลังงานไฟฟ้า เรือดำน้ำแบบดีเซล-ไฟฟ้า ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี ไปยังมอเตอร์ไฟฟ้าเพื่อขับเพลาใบจักรให้หมุน”

โพสต์ระบุเนื้อหาเชิงเทคนิกการทำงานของเครื่องยนต์ส่วนต่าง ๆ และเรือดำน้ำ ประกอบอินโฟกราฟิก เพื่อแสดงให้เห็นว่า เครื่องยนต์ดีเซลที่กำลังเป็นประเด็นนั้น เป็นเครื่องยนต์สำหรับขับเคลื่อนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และการชาร์จแบตเตอรี สำหรับใช้ในเรือดำน้ำเท่านั้น ไม่ใช่เครื่องยนต์สำหรับขับเคลื่อนใบจักรเรือดำน้ำโดยตรง

ฐานทัพเรือกรุงเทพ

ฐานทัพเรือกรุงเทพ

นายพิจารณ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ในรายการ “เจาะลึกทั่วไทย อินไซต์ไทยแลนด์” ว่า ข้อมูลที่กองทัพเรือเผยแพร่ออกมา เป็นความพยายามอธิบายกับสังคมแบบเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งดูย้อนแย้งกับพฤติการณ์ของกองทัพเรือตามปกติที่ “เปิดเผยข้อมูลน้อยมาก เพราะอ้างเหตุผลความมมั่นคง”

“เราเห็นความพยายามอธิบายสังคมว่าเครื่องยนต์นี้ไม่ได้ขับเคลื่อนเรือดำน้ำ แต่ไปขับเคลื่อนเครื่องปั่นไฟแล้วเก็บประจุในแบตเตอรี เพื่อนำไปสู่การยอมรับเครื่องยนต์ดีเซลที่ผลิตในประเทศจีนหรือไม่ ยอมรับเครื่องยนต์ที่จะใส่ในเรือดำน้ำที่แม่แต่จีนเองก็ไม่เคยใช้” นายพิจารณ์ ตั้งคำถาม

“เราจะเป็นหนูทดลองหรือเปล่า”

กองทัพเรือ เลื่อนแล้วเลื่อนอีก

พล.ร.อ. เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ เสนาธิการทหารเรือ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานโครงการเรือดำน้ำ เคยยืนยันเมื่อวันที่ 9 ส.ค. ซึ่งเป็นเส้นตายแรกเรื่องเครื่องยนต์เรือดำน้ำว่า หากครบกำหนดครั้งที่ 2 คือ 15 ก.ย. แล้ว หากพิจารณาสเปกเครื่องยนต์ทดแทนแล้วไม่ผ่านตามเกณฑ์ ก็จะไม่ขยายเวลาไประยะที่ 3 แล้ว

แต่ท้ายสุด เมื่อถึงวันที่ 15 ก.ย. กองทัพเรือก็ยังไม่ได้ข้อสรุป โดย พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) กล่าวถึงความคืบหน้า การแก้ปัญหาเรือดำน้ำขาดเครื่องยนต์ว่า ช่วงต้นเดือนธันวาคม 2565 จะมีการประชุมระหว่างกองทัพเรือไทย ผู้ช่วยทูตทหารจีน และ ตัวแทนบริษัท CSOC

พล.ร.อ. ลือชัย รุดดิษฐ์ เซ็นสัญญากับจีน

CSCO
พล.ร.อ. ลือชัย รุดดิษฐ์ เซ็นสัญญากับจีน

“เราจะดูว่าเขามีข้อมูลอะไรมานำเสนอ ซึ่งเราต้องการความชัดเจนว่า โครงการเรือดำน้ำจะขยายเวลาออกไปถึงเมื่อไหร่ เพราะต้องเตรียมในเรื่องงบประมาณมารองรับ มิเช่นนั้นจะตั้งงบประมาณไปทำโครงการอื่นไม่ได้ ก็เป็นเรื่องสำคัญ”

ส่วนการส่งมอบเรือดำน้ำนั้น เดิมต้องส่งมอบกลางปี 2566 แต่กองทัพเรือระบุว่า สถานการณ์โควิด-19 ระบาด ทำให้โครงการล่าช้า จึงขยับการส่งมอบเป็นกลางปี 2567 ทั้งนี้ จากปัญหาเรื่องเครื่องยนต์ ผบ.ทร. ระบุว่า อาจล่าช้าไปอีก เกินปี 2567

รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เชื่อว่า การที่กองทัพเรือและจีนเลื่อนเส้นตายไปต่อเนื่อง เป็นการ “ประวิงเวลา” เพื่อดูว่าจะตัดสินใจใช้เครื่องยนต์จีนแทนของเยอรมนีหรือไม่ พร้อมตั้งคำถามว่า “คนที่อยากได้เรือดำน้ำจากจีน อาจไม่ใช่กองทัพเรือ แต่เป็นคนในรัฐบาล”

ดังนั้น จุดยืนของพรรคก้าวไกลต่อประเด็นเรือดำน้ำ จึงเสนอว่า ควรประวิงเวลาออกไปอีก แล้วให้รัฐบาลใหม่เข้ามาเจรจากับฝ่ายจีนต่อ เพราะเวลานี้ “เขารู้ไพ่เราหมดแล้ว ดีที่สุดคือต้องเปลี่ยนคนเจรจา”

โพสต์ตั้งคำถามของพรรคก้าวไกล

พรรก้าวไกล
โพสต์ตั้งคำถามของพรรคก้าวไกล

งบบานปลาย ?

รัฐบาลไทยไม่เพียงเดินหน้าจัดซื้อเรือดำน้ำจีน 3 ลำ แต่ยังของบประมาณเพิ่มเติม เพื่อจัดซื้อเรือยกพลขึ้นบก เพื่อเป็นเรือพี่เลี้ยงให้กับเรือดำน้ำ รวมถึงของบประมาณก่อสร้างอู่ต่อเรือ และท่าเทียบเรือดำน้ำอีกด้วย โดยมีรายละเอียดตามการรายงานของสำนักข่าวอิศรา และข้อมูลที่กองทัพเรือแถลง ดังนี้

  • เรือดำน้ำ 3 ลำ – 36,000 ล้านบาท
  • เรือยกพลขึ้นบก LPD “เรือหลวงช้าง” (เรือพี่เลี้ยงให้เรือดำน้ำ) – 6,100 ล้านบาท
  • ระบบอำนวยการรบให้ “เรือหลวงช้าง” – 1,000 ล้านบาท
  • ท่าจอดเรือดำน้ำและอาคารสนับสนุน ระยะที่ 1 – 900 ล้านบาท
  • ท่าจอดเรือดำน้ำ ระยะที่ 2 – 950 ล้านบาท
  • โรงซ่อมบำรุง – 995 ล้านบาท
  • คลังเก็บตอร์ปิโด และทุ่นระเบิดสนับสนุน – 130 ล้านบาท
  • อาคารทดสอบ และคลังอาวุธปล่อยนำวิถี – 138 ล้านบาท
  • แผนที่เรือดำน้ำ และระบบแสดงข้อมูลข่าวสารกองทางอุทกศาสตร์ระยะที่ 1+2 – 265.12 ล้านบาท
  • เรือลากจูงขนาดกลาง – 366.50 ล้านบาท
  • อาคารพักข้าราชการ – 294 ล้านบาท
  • ระบบสื่อสารควบคุมบังคับบัญชาเรือดำน้ำ – 300 ล้านบาท

*ขอบคุณข้อมูลสำนักข่าวอิศรา

ย้อนรอยคว้า S26T

ก่อนที่กองทัพเรือจะตกลงสั่งซื้อเรือดำน้ำ S26T จากจีน มีแรงต้านจากคนในกองทัพเรืออยู่ไม่น้อย เพราะภาพจำในอดีตเกี่ยวกับอาวุธที่ผลิตจากจีน มีปัญหาทั้งเรื่องอะไหล่ การซ่อมบำรุง อย่างรถถัง T-69 ที่สุดท้ายต้องเอาไปทิ้งทะเลเป็นแนวปะการัง

และเมื่อมาถึงเรือดำน้ำที่จะต้องใช้ปฏิบัติการใต้ทะเลลึก เรื่องความปลอดภัยจึงเป็นประเด็นสำคัญเนื่องจากกำลังพลต้องแบกรับความเสี่ยง แต่เมื่อพิจารณาแนวทางโครงการที่จีนยอมให้ส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยเข้าไปประกบระหว่างต่อเรือได้ กองทัพเรือจึงฟันธงเลือกเรือดำน้ำจีน

จากประสบการณ์ในอดีตที่กองทัพเคยถูกตัดงบประมาณ ทำให้รู้ว่าการได้เรือดำน้ำจีน “ยังดีกว่าไม่ได้” และในเวลาที่ตัวเลือกอื่นที่มี ทั้งราคา และเงื่อนไขโครงการที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลที่มาจากการก่อรัฐประหาร ทำให้กองทัพเรือเอื้อมไปไม่ถึง

  • ก.พ. 2558 – รมว. กลาโหม ของจีนในขณะนั้น พร้อมคณะ เข้าพบ พล.อ. ประยุทธ์ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางทหาร
  • 28 เม.ย. 2558 – ประเด็นการซื้อเรือดำน้ำ ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้ยกเลิกการชะลอโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำซึ่งเป็นมติ ครม. เดิม เมื่อปี 2555 และเห็นชอบในหลักการให้กองทัพเรือศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ
  • ก.ค. 2559 – กระทรวงกลาโหมอนุมัติความต้องการซื้อเรือดำน้ำ 3 ลำ มาเป็นของกองทัพเรือ
  • 21 มี.ค. 2560 – พล.อ. ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ยอมรับถึงข้อตกลงการซื้อเรือดำน้ำแบบซื้อ 2 แถม 1 ตามข้อเสนอของจีน
  • 27 มี.ค.2560 – พล.อ. ประวิตร ขยายความว่าวงเงินจัดหาเรือดำน้ำอยู่ 3.6 หมื่นล้านบาท ไม่ว่าจะซื้อ 2 แถม 1 หรือไม่
  • 18 เม.ย. 2560 – ครม. อนุมัติจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีน จำนวน 1 ลำ ในวงเงิน 13,500 ล้าน บาท กำหนดส่งมอบในปี 2566 และมีแผนการจัดซื้อ อีก 2 ลำ รวมเป็นเงิน 36,000 ล้านบาท ในเวลา 11 ปี
  • 1 พ.ค. 2560 – พล.ร.อ. ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ (ยศขณะนั้น) และประธานคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำในขณะนั้น ซึ่งเป็นผู้แทน ผบ.ทร. ไปลงนามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน โดยแถลงข่าวบนเรือหลวงจักรีนฤเบศร์ ยืนยันเรือดำน้ำจีนทั้งคุ้มค่า มีคุณภาพ และน่าเชื่อถือ
  • 7 ต.ค. 2562 – กองทัพเรือเสนอของบประมาณรายจ่าย ปี 2563 เพื่อจัดซื้อเรือดำน้ำ ลำที่ 2 และ 3 ในวงเงิน 22,500 ล้านบาท
  • พ.ค. 2563 – ไทยเผชิญวิกฤตโควิด-19 รัฐบาลจึงขอให้แต่ละหน่วยงาน โอนงบประมาณปี 2563 กลับคืนมา เพื่อนำเงินไปแก้ปัญหาโควิด-19
  • 21 ส.ค. 2563 คณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจและทุนหมุนเวียนในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ร่วมกันพิจารณาเรื่องที่กองทัพเรือ ขอซื้อเรือดำน้ำจากจีน 2 ลำ เป็นเงิน 22,500 ล้านบาท โดยลงมติเห็นชอบทำให้การซื้อเรือดำน้ำผ่านการอนุมัติ
  • 24 ส.ค. 2563 – กองทัพเรือ ตั้งโต๊ะแถลงข่าวยืนยันว่าเป็นโครงการจีทูจี และบริษัท CSOC คือผู้ได้รับมอบอำนาจจากหน่วยงานของรัฐบาลด้านการบริหารงานด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและส่งออกอาวุธ (SASTIND) เป็นผู้แทนรัฐบาลมาลงนามในสัญญากับไทย ส่วนเรือดำน้ำที่ซื้อไปแล้ว 1 ลำ เป็นเงิน 13,500 ล้านบาทนั้น กองทัพเรือ ทยอยชำระเงินให้จีนระหว่าง ปี 2560 – 2566

……

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว