ธุรกิจน้ำมันอินเดีย เป้าโจมตีการคว่ำบาตร หลังกำไรโตเพราะซื้อสินค้ารัสเซีย

สหรัฐฯ อังกฤษ แบนน้ำมันรัสเซีย
REUTERS/Alexey Malgavko/File Photo

ธุรกิจโรงกลั่นในอินเดียรับกำไรไตรมาส 2 กว่า 1.58 หมื่นล้านบาท ทำสถิติเป็นประวัติการณ์ หลังซื้อน้ำมันรัสเซียในราคาถูก ขณะที่สหรัฐจับตาเรืออินเดียบรรทุกผลิตภัณฑ์จากน้ำมันมุ่งหน้านิวยอร์ก

วันที่ 14 สิงหาคม 2565 รอยเตอร์ รายงานว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนหนุนกำไร บริษัท นารายา เอนเนอร์จี้ จำกัด (Naraya Energy) ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันอินเดีย ที่มีรอสเนฟต์ (Rosneft) ยักษ์ธุรกิจน้ำมันรัสเซีย ถือหุ้นใหญ่ ร่วมกับ เคซานี เอ็นเตอร์ไพร์ส (Kesani Enterprises) ในสัดส่วน 49.1%

โดยในรายงานระบุว่า นารายาฯ ประกาศผลกำไรไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เติบโตเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากอัตรากำไรขั้นต้นปรับตัวดีขึ้น เพราะความต้องการน้ำมันในตลาดเพิ่มขึ้น และต้นทุนราคาน้ำมันจากรัสเซียที่มีส่วนลดให้มากขึ้น

ตามเอกสารที่รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ อินเดีย นารายาฯ ระบุว่า มีกำไรสุทธิในไตรมาส 2/2565 อยู่ที่ 3.56 หมื่นล้านรูปี หรือประมาณ 447.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.58 หมื่นล้านบาท) ซึ่งต่างจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่บริษัทขาดทุนมากถึง 1.39 พันล้านรูปี

อีกทั้งธุรกิจโรงกลั่นของนารายาฯ ยังทำกำไรสุทธิไตรมาส 2 ได้สูงกว่าสิ้นปี 2564 มากถึง 1.03 หมื่นล้านรูปี ทั้งที่ผ่านมาโรงกลั่นน้ำมันในอินเดียไม่ค่อยซื้อน้ำมันจากรัสเซีย เนื่องจากค่าขนส่งที่สูง แต่หลังการรุกรานยูเครนของรัสเซียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้บางประเทศและหลายประเทศในตะวันตกหลีกเลี่ยงการซื้อน้ำมันรัสเซีย

ส่งผลให้รัสเซียหันมาให้ส่วนลดราคาน้ำมันกับผู้ซื้อในอินเดียและจีนเพิ่มขึ้น รวมถึง บริษัท นารายาฯ และกลุ่มบริษัทโรงกลั่นน้ำมันอื่น ๆ ในอินเดียในชื่อกลุ่ม RELI.NS หรือ Refiner Reliance Industries ก็ได้อานิสงส์นี้ และทำให้บริษัทเหล่านี้เป็นผู้ซื้อน้ำมันรายใหญ่ของรัสเซีย รวมถึงมีผลกำไรเติบโตทำสถิติในสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาด้วย

แต่ในด้านกลับกัน บริษัทน้ำมันขายปลีกในอินเดีย กลับประสบกับผลขาดทุนสุทธิในช่วงไตรมาส 2 เนื่องจากต้องขายน้ำมันที่กลั่นเสร็จแล้วในราคาต่ำกว่าตลาดสำหรับปั๊มน้ำมันในประเทศ เพื่อช่วยรัฐบาลลดผลกระทบจากปัญหาเงินเฟ้อ

ส่วนนารายาฯ กลั่นน้ำมันวันละ 4 แสนบาร์เรลต่อวัน จากโรงกลั่นวาดีนาร์ ในรัฐคุชราต อินเดีย ซึ่งบริษัทแห่งนี้ไม่ถูกคว่ำบาตรจากปฏิบัติการพิเศษของรัสเซียกรณีบุกยูเครน แม้ว่าผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของนารายาฯ คือ รอฟเนฟต์ กลับถูกคว่ำบาตรจากตะวันตก

พร้อมกันนี้ หลังรัสเซียถูกคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก ยังมีผลให้พนักงานระดับผู้จัดการในนารายาฯ ลาออกจากบริษัทโรงกลั่นแห่งนี้ และเมื่อวันที่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา นารายาฯ ประกาศการลาออกของ Krzysztof Zielicki ตัวแทนจากรอสเนฟต์ ในตำแหน่งกำกับบริษัท และแต่งตั้ง Andrey Bogatenkov ซึ่งเป็นรองประธานฝ่ายพาณิชย์และโลจิสติกของนอสเนฟต์เข้าทำหน้าที่แทน

นอกจากนี้ Anup Vikal ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน (CFO) และ Jonathan Kollek ตัวแทนจากเคซานิ เอ็นเตอร์ไพร์ส ก็ประกาศลาออก และบริษัทได้แต่งตั้ง Sachin Gupta ประธานเจ้าหน้าที่บริษัท Trafigura India ทำหน้าที่แทน Kollek

อย่างไรก็ตาม ธนาคารบางแห่งในอินเดียหยุดให้สินเชื่อและเครดิตการค้ากับการนำเข้าน้ำมันของนารายาฯ รวมถึงซัพพลายเออร์ของบริษัทบางราย เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่เกิดจากการคว่ำบาตรรัสเซียจากชาติตะวันตก

ส่วนบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ CARE Ratings ของอินเดีย ยังได้จัดเรตติ้งระยะยาวของนารายาฯ ในสถานะ ‘การเฝ้าระวังสินเชื่อที่มีผลกระทบเชิงลบ’ เนื่องจากการคว่ำบาตรรัสเซียจากชาติตะวันตกเช่นกัน

อีกด้านหนึ่ง รอยเตอร์ รายงานคำกล่าวของ ไมเคิล ภัทรา รองผู้ว่าการธนาคารกลางอินเดียที่กล่าวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐด้านการเงินการธนาคารล่าสุดว่า สหรัฐแสดงความกังวลต่ออินเดียที่ส่งออกน้ำมันดิบของรัสเซียไปยังนิวยอร์ก ผ่านเส้นทางเดินเรือตามอนุสัญญาว่าด้วยทะเลหลวง

เนื่องจากตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สหรัฐคว่ำบาตรรัสเซียจากการรุกรานยูเครน ด้วยการสั่งห้ามนำเข้าสินค้าพลังงานทั้งหมดของรัสเซียเข้าสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันกลั่น ถ่านหิน และก๊าซ ก็ตาม

“ทุกคนรู้ว่าสหรัฐคว่ำบาตรสิ่งนี้ แต่ก็ยังพบว่ามีเรืออินเดียบรรทุกน้ำมันรัสเซียอยู่กลางทะเล มาถึงท่าเรือรัฐคุชราต แปรรูปน้ำมันจากโรงกลั่นที่นั่นแล้วนำไปผลิตเป็นสินค้าแปรรูปพลาสติกต่าง ๆ แล้วผลผลิตเหล่านี้ก็ถูกนำกลับขึ้นเรือลำนั้น แล่นไปถึงนิวยอร์ก” รองผู้ว่าการธนาคารกลางอินเดียกล่าว


ทั้งนี้ อินเดียเป็นผู้นำเข้าและผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก และปัจจุบันกลายเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรัสเซียรายใหญ่ที่สุด ขณะที่รัสเซียเป็นแหล่งจัดหายุทโธปกรณ์ทางการทหารรายใหญ่สุดของอินเดีย และอินเดียคือหนึ่งในประเทศที่ไม่ได้ประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซีย นับตั้งแต่เกิดสงคราม