สุพัฒนพงษ์ สั่งแบงก์รัฐห้ามยึดบ้านลูกหนี้ แจงชดเชยค่าไฟยังไม่เข้า ครม.

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน

สุพัฒนพงษ์ เผย สั่ง ธนาคารของรัฐ ห้ามยึดบ้าน ลูกหนี้ค้างชำระ เน้น ไกล่เกลี่ยจนถึงที่สุด ส่วนมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าไม่เข้า ครม. ยังมีเวลา

วันที่ 30 สิงหาคม 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือด้านไฟฟ้าที่ไม่เข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ยังมีเวลา เพราะเป็นการอนุมัติงบประมาณ เพื่อมาชดเชยค่าไฟฟ้าที่จะต้องจ่ายสิ้นเดือนกันยายน 2565

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี (4 เดือน) จะมีมาตรการมากระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหรือไม่ นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ตอนนี้ต้องช่วยคนเปราะบางก่อน และมาตรการช่วยเหลือเศรษฐกิจเบื้องต้น ซึ่งกระทรวงการคลังกำลังพิจารณาอยู่

อย่างน้อยคือการขอความร่วมมือกับทุกฝ่ายในการประคับประคองอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะสภาพคล่องของประเทศยังมีอยู่มาก ไม่เหมือนกับต่างประเทศ เพราะฉะนั้นอัตราดอกเบี้ยของเราก็ไม่ได้เป็นภาระมากจนเกินไป

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ขณะที่รายงานมาตรการพลังงานยังอยู่ในระดับทรงตัว แต่กังวลในช่วงเข้าสู่ฤดูหนาว จึงต้องเร่งเรื่องของมาตรการประหยัดพลังงาน ซึ่งได้หารือกันใน ครม.ว่า จะมีมาตรการส่งเสริมโซลาร์รูฟท็อป

อย่างไรบ้าง โดยให้กระทรวงการคลังไปดูด้วย ในช่วงสิ้นปีเรามีอยู่แล้ว ในเรื่องของการลดหย่อนภาษี หรือ เป็นของขวัญปีใหม่

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรักษาการนายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยมีวาระสำคัญในเรื่องของการช่วยเหลือการต่ออายุน้ำมันชีวภาพ

ขณะที่แผน PDP จะต้องเข้าคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ก่อน เพราะมีเรื่องของระบบการซื้อไฟฟ้า

นายสุพัฒนพงษ์ยังกล่าวถึงข้อเสนอของนายกรณ์ จาติกวานิช หัวหน้าพรรคกล้า เรื่องมาตรการพักเงินต้น ลดดอกเบี้ย แขวนค่าปรับเพื่อแก้ปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) จำนวน 13 บัญชี ว่า รัฐบาลมีมาตรการไกล่เกลี่ยหนี้ทั่วประเทศ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จะเปิดแถลงข่าวมาตรการไกล่เกลี่ยหนี้ในวันที่ 1 กันยายน 2565

“ดูเหมือนง่ายจะไปจัดตั้งกองทุน จะไปยกหนี้ แต่ต้องระวังเรื่องวินัย ผู้กู้มีหน้าที่ต้องทำ ถ้าเขาประสบปัญหาใด ต้องกลับเข้ามาในระบบและพูดคุยกัน ได้ให้นโยบายไปแล้วว่า ให้ระมัดระวังอย่างยิ่งในเรื่องของผู้กู้ที่มีที่อยู่อาศัย ถ้าเขาประสบภาวะลำบาก พยายามอย่างถึงที่สุดให้ได้อยู่ ได้พักพิงในที่อยู่อาศัยของตัวเอง


อย่าไปใช้กระบวนการของศาล เพราะเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะธนาคารของรัฐมีนโยบายตรงนี้อยู่แล้วในการประคับประคอง ยิ่งที่ผ่านมาปกติ ยิ่งได้รับความช่วยเหลือ” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว