แสงวิจิตรทองคำเปลว ยึดวิธีตีทองดั้งเดิม สืบทอดทายาทรุ่น 2 นครปฐม

แสงวิจิตร

แสงวิจิตรทองคำเปลว ผู้ผลิตทองคำเปลวด้วยวิธีการแบบดั้งเดิมมานานกว่า 50 ปี สืบสานภูมิปัญญา ให้ได้ทองคำเปลวมีคุณภาพ

วันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 แสงวิจิตรทองคำเปลว ผู้ผลิตทองคำเปลวด้วยกรรมวิธีดั้งเดิม ใช้การตีด้วยมือแบบโบราณ จากจุดเริ่มต้นสู่วันนี้กว่า 50 ปีแล้ว

โดยปัจจุบันบริหารงานโดยคุณชูจิตต์ แสงวิจิตร ทายาทรุ่นที่ 2 ที่ยังคงสานต่อกิจการของตระกูลและอนุรักษ์ภูมิปัญญาตีทองอันล้ำค่านี้ไว้ ที่ดูจะค่อย ๆ เลือนหายไปทุกที

แสงวิจิตร
ชูจิตต์ แสงวิจิตร

แสงวิจิตรทองคำเปลวตั้งอยู่ที่ตำบลบางเลน อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เป็นสถานที่ผลิตและแหล่งเรียนรู้สำหรับประชาชนทั่วไปที่สนใจภูมิปัญญาการผลิตทองคำเปลวด้วยกรรมวิธีตีทองแบบโบราณ

ทองคำเปลวของแสงวิจิตร ใช้แรงคนในการตีแผ่นทองแบบดั้งเดิม โดยขั้นตอนเริ่มจากการซื้อทองคำแท่งในย่านเยาวราช กรุงเทพมหานคร ครั้งละ 10 บาท (เป็นเงินประมาณ 300,000 บาท) เกือบทุกวัน และส่งต่อให้โรงงานเพื่อแปรรูปจากทองแท่งออกมาเป็นแผ่นทอง

ถัดมาจะเป็นกระบวนการตีทองด้วยแรงคน ซึ่งรวมทุกขั้นตอนแล้วจะใช้เวลาประมาณ 1 วันเลยทีเดียวกว่าจะได้แผ่นทองคำเปลวออกมา โดยแบ่งการตีเป็น 5 ชุด คิดเป็นทองชุดละ 2 บาท

ในจำนวนแผ่นทอง 2 บาทที่แบ่งออกมาแล้ว จะถูกทำให้ทองเป็นแผ่นเล็ก ๆ ขนาด 1×1 เซนติเมตร ได้ 1,400 แผ่น จากนั้นจะแบ่งตีด้วยขอน 2 ครั้ง ครั้งละ 700 แผ่น สาเหตุที่ต้องแบ่งกันตี เนื่องจากความร้อนและแรงจากการตีจะเข้าสู่ทองอย่างทั่วถึง

การตีทองมี 2 ขั้นตอนด้วยกัน โดยนำแผ่นทองมาวางซ้อนกัน 700 แผ่น บนกระดาษ 4×4 นิ้ว เรียกว่าการตีกุบ ซึ่งจะใช้เวลาตีประมาณ 2 ชั่วโมง เพื่อให้แผ่นทองขนาด 1 เซนติเมตร ขยายเพิ่มขึ้นถึง 20 เท่า

แสงวิจิตร

จากนั้นจะถ่ายทองไปไว้ในกระดาษฝักที่มีขนาน 8×8 นิ้ว และตีทีเดียวทั้ง 1,400 แผ่น เรียกว่าตีฝัก ซึ่งต้องตีต่อเนื่องนาน 6-7 ชั่วโมง มิเช่นนั้นความร้อนจากการตีจะคลายออกเมื่อตีเสร็จความร้อนจะทำให้แผ่นทองขยาย ร้อนแทบจับไม่ได้เลยทีเดียว โดยทองแต่ละชุดจะได้เป็นทองคำเปลวประมาณ 7,500-8,000 ใบ ขึ้นกับฝีมือของคนตีเป็นหลัก

แสงวิจิตร

ใน 1 วัน ทองคำแท่ง 10 บาท จะถูกทำออกมาเป็นทองคำเปลวได้ประมาณ 20,000-30,000 แผ่น เดือนประมาณ 1 ล้านแผ่น

หลังจากตีเสร็จแล้วจะได้ทองแผ่นบางขนาดใหญ่ ที่ต้องนำมาตัดให้เป็นแผ่นสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ อย่างที่ทุกคนคุ้นตากัน ซึ่งเป็นการตัดด้วยมือที่ละแผ่น ด้วยอุปกรณ์พื้นบ้านอย่างไม้ไผ่ที่มีความคม เรียกว่าไม้เลี้ย แสงวิจิตรทองคำเปลว เน้นว่าต้องเป็นไม้ไผ่จากจังหวัดนครพนม เนื่องจากมีผิวที่สากทำให้ทองไม่ติดไม้ขณะตัด

ที่สำคัญทุกขั้นตอนตั้งแต่การตีทองถึงการตัด ต้องห้ามเปิดแอร์หรือพัดลม และคนทำงานด้านนี้ต้องฝึกการหายใจด้วย เนื่องจากอุณหภูมิทองจะเปลี่ยนหรือแผ่นทองอาจจะปลิวได้

แสงวิจิตร

ความยากของการตีทองคำเปลวด้วยวิธีดังกล่าว เริ่มตั้งแต่การหากระดาษฝักที่ต้องผ่านกระบวนการมากมายเพื่อให้ได้กระดาษที่สมบูรณ์ สามารถรองรับความร้อนและการขยายของทองได้ ซึ่งแหล่งขายในท้องตลาดนั้นแทบไม่มี เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อได้กระดาษดิบมาตอนแรก ต้องเอากระดาษมาตีก่อนเพื่อให้ชินกับความร้อน จากนั้นก็เอาทองใส่ให้คุ้นกับทอง และค่อยขูดออก ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ร่วม 1 เดือน กว่ากระดาษจะพร้อมใช้

แม้กระดาษจะมีอายุการใช้งานนานร่วมปี แต่กว่าจะได้มานั้นต้องผ่านกระบวนการที่อดทน และไม่สามารถรับประกันได้เลยว่าสุดท้ายกระดาษจะมีคุณภาพตามต้องการหรือไม่ หากไม่ดีพอก็ต้องทิ้งและเริ่มทำใหม่ทั้งหมด

“แค่ขั้นตอนหากระดาษ ยังไม่ลงไปถึงขั้นตีทองก็ทำเอาถอดใจ คนรุ่นใหม่ ๆ จึงไม่ค่อยสานต่อกัน แค่เห็นเขาก็ท้อแล้ว”

แสงวิจิตรมีทองคำเปลวอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ ตลาดบน เป็นทอง 99% และตลาดล่าง เป็นทอง 96% ทองตลาดบนจะใช้สำหรับการประดับและสร้างองค์พระ สร้างวัดวาอาราม ลงรัก และใช้ในงานของกรมศิลปากรสำหรับวัดหลวงและวัดสำคัญต่าง ๆ นอกจากนี้ยังใช้เป็นส่วนผสมของอาหาร ทำสปา เครื่องสำอาง และเวชภัณฑ์ ส่วนทองตลาดล่างจะใช้สำหรับปิดทองพระทั่วไป ที่ประชาชนไปสักการบูชาตามวัดต่าง ๆ

แสงวิจิตร

ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธและคนไทยนิยมทำบุญกับวัด การทำทองคำเปลวจึงยังคงมีกลุ่มลูกค้าภายในประเทศอยู่ตลอด นอกจากนี้ แสงวิจิตรยังส่งออกทองคำเปลวไปต่างประเทศด้วย ซึ่งมีลูกค้าประจำในจีน มาเลเซีย และเยอรมนี สั่งซื้อครั้งละเป็นหลักแสนแผ่น ไปใช้ในหลากหลายวงการดังที่กล่าวไป โดยราคาขายทองคำเปลวจะขึ้นอยู่กับราคาทองในตลาด

ทั้งนี้ ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา รายได้ของแสงวิจิตรก็หายไปกว่าครึ่ง เนื่องจากออร์เดอร์การสั่งที่ลดลง จากปกติต้องซื้อทองแท่งเพื่อผลิตสัปดาห์ละ 5 ครั้ง ก็ลดลงเหลือเพียง 2 ครั้งเท่านั้น แต่ก็ยังมีกลุ่มลูกค้าประจำอยู่

การทำทอง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือชื่อเสียง ถ้าขาดความเชื่อมั่นลูกค้าก็ไม่กล้าสั่ง ดังนั้น สิ่งที่ทำให้แสงวิจิตรยังคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ คือคุณภาพและประสบการณ์ที่ยาวนาน คุณชูจิตต์ กล่าว

แสงวิจิตร

การผลิตทองคำเปลวด้วยกรรมวิธีแบบโบราณที่ใช้คนตี ปัจจุบันเหลือน้อยลงไปทุกที เนื่องจากขั้นตอนที่มากและต้องใช้ความชำนาญของช่างตีทอง ประกอบกับไม่มีผู้สานต่อในรุ่นหลัง ทำให้ปัจจุบันการทำทองคำเปลวด้วยวิธีนี้มีสัดส่วนเพียง 20% เท่านั้นในตลาด ประมาณ 3-4 เจ้า โดยผู้ผลิตส่วนมากหันไปทำทองคำเปลวที่รีดด้วยเครื่องจักรกันหมด