ภาษีขายหุ้น กระทรวงการคลังแจง ใครบ้างได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่าย

ภาษีขายหุ้น ใครได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่าย
ภาพจาก pixabay

คลังเปิดประเภทผู้ลงทุนรายใหญ่ ได้รับยกเว้นภาษีขายหุ้น ยันภาพรวมจัดเก็บเพื่อสร้างความเป็นธรรม-กระจายรายได้

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (29 พ.ย.) เห็นชอบให้กระทรวงการคลังจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ (หุ้น) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยช่วงแรกจัดเก็บที่อัตรา 0.055% (รวมภาษีท้องถิ่น) จนถึงสิ้นปี 2566 และปีต่อ ๆ ไป จัดเก็บที่อัตรา 0.11% (รวมภาษีท้องถิ่น) นั้น

ภาษีขายหุ้นยังมีการยกเว้น

เนื่องจากร่างกฎหมายมีการระบุถึงการยกเว้นภาษีดังกล่าวให้กับผู้ลงทุนบางประเภท ซึ่งบางคนยังเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นการยกเว้นภาษีให้นักลงทุนรายใหญ่ กระทรวงการคลังได้รายงานต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า “เห็นควรคงการยกเว้นภาษีให้แก่ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) กองทุนบำนาญซึ่งมีมูลค่าการซื้อขายรวมกันไม่เกินร้อยละ 15 ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด และกองทุนรวมที่ขายหน่วยลงทุนแก่กองทุนบำนาญ

ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้การจัดเก็บภาษีส่งผลกระทบต่อการสร้างสภาพคล่องของหลักทรัพย์และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมทั้งกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุ

ภาษีขายหุ้น ยกเว้นให้ใครบ้าง

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า ข้อเท็จจริงแล้ว เป็นการยกเว้นให้กับ market maker (ผู้ดูแลสภาพคล่อง) ได้แก่

  • กองทุนประกันสังคม,
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ,
  • กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
  • กองทุนสงเคราะห์ต่าง ๆ,
  • กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
  • กองทุนการออมแห่งชาติ,
  • กองทุนเพื่อขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมให้สำนักงานประกันสังคม หรือกองทุนอื่น ๆ (ข้างต้น)

กระทรวงการคลังยืนยันว่า การเก็บภาษีขายหุ้นดังกล่าว เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้เสียภาษีทั้งระบบ และลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้