จากวิกฤตธนาคารเครดิตสวิส ที่ทางการได้มีการตัดหนี้สูญในตราสารหนี้ AT1 หรือตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของภาคธนาคาร ได้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินและความเชื่อมั่นของประชาชน และลามไปสู่การแห่เทขายตราสารหนี้ AT1 ในดอยช์แบงก์ของเยอรมนี เพราะไม่มั่นใจในการถือครอง
วันนี้ Prachachat Wealth เล่าเรื่องการลงทุน ได้มีโอกาสร่วมพูดคุยกับคุณสงวน จุงสกุล ผู้บริหารฝ่ายธุรกิจสายงานตลาดเงินตลาดทุน จากธนาคารกรุงไทย ว่าผลกระทบจากปัจจัยภายนอกที่เกิดขึ้น มีความแพนิกหรือส่งผลกระทบต่อเซนติเมนต์ต่อสภาพคล่องในตลาดหุ้นกู้ของประเทศไทยหรือไม่ อย่างไร
- MOTOR EXPO 2023 ยอดขายรถ 4 วันแรกทะลุ 8,300 คัน
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เงินเข้าบัญชีวันนี้ 38 จังหวัด
- สพฐ.ประกาศหยุดเรียน 4-8 ธ.ค.ให้นักเรียน ม.ปลายเตรียมสอบ TGAT/TPAT
Q: เชื่อว่าหลาย ๆ คน ยังสงสัยว่าตราสารหนี้ AT1 หรือ perpetual bond “หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์” ถ้าออกโดยบริษัทกับออกโดยสถาบันการเงิน มันมีความแตกต่างกันยังไงบ้างครับ
คุณสงวน กล่าวว่า คอนเซ็ปต์ตราสารหนี้หรือหุ้นกู้จะต้องคุ้มครองเงินต้น แต่ถ้าเป็นตราสารด้อยสิทธิ หรือว่าตราสาร AT1 จะมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นมา 2 อย่าง อย่างแรกก็คือว่า เงินต้นที่คาดว่าน่าจะได้ในอีก 5 ปีข้างหน้า ที่เขาเรียกว่าเป็น call date มันอาจจะไม่ได้ อาจจะได้ช้าลง เช่น อาจจะได้ในปีที่ 5 ครึ่ง หรือปีที่ 6 ปีที่ 7 หรืออาจจะกลายเป็นหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์จริง ๆ ก็ได้ อันนี้เราเรียกว่า extension risk คือเงินต้นถูกยืดจ่ายออกไป คือความเสี่ยงที่หนึ่ง
ความเสี่ยงที่สองคือ ในกรณีที่บริษัทไปต่อไม่ได้หรือล้มละลาย อันนี้ก็ต้องถูก write-down / write-off อันนี้คือหลักการก่อนนะครับ
คราวนี้ในกรณีของบริษัท เวลาเราล้มละลายต้องมีการลดทุน เหลือ 1 สตางค์ และค่อยเอาส่วนที่เหลือมาเฉลี่ยเกลี่ยออก
แต่ในกรณีของสถาบันการเงิน ทางแบงก์ชาติเขาดูที่การดำรงเงินกองทุน ถ้าคุณดำรงเงินกองทุนได้ไม่ต่ำกว่าเท่านี้ถือว่าไปต่อได้ ถ้ามันชนหรือว่ามันต่ำกว่าเกณฑ์ถือว่าไปต่อไม่ได้ ทางการก็จะเข้ามาดำเนินการ
แต่ในกรณีของเครดิตสวิสมันแย่ยิ่งกว่านั้น คือเครดิตสวิส เงินกองทุนเขายังมีอย่างแข็งแรงและเพียงพอนะครับ แต่ในกรณีนี้ทางการสวิส เขาใช้ดุลพินิจและก็ประเมินว่าขืนปล่อยไปต่อ มันจะลุกลามบานปลายเป็น systemic risk และคุกคามเสถียรภาพของตลาดการเงินและเศรษฐกิจใหญ่โต ดังนั้นเขาเข้าใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด เข้าไปควบคุมสถานการณ์เลย
ดังนั้นรอบนี้เราจึงเห็นได้ว่าทางการจะเข้าดำเนินการอย่างรวดเร็ว ทันการณ์ และมีลักษณะเบ็ดเสร็จ เด็ดขาด ทั้งในฝั่งของสหรัฐอเมริกาและฝั่งของสวิส มันก็เลยทำให้เราได้เห็นว่าตลาดค่อนข้างที่จะสงบลงค่อนข้างที่จะรวดเร็วและไม่ยืดเยื้อ เท่าที่เห็น ณ ตอนนี้นะครับ
Q: ในฐานะผู้จัดจำหน่ายหุ้นกู้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นในปัจจัยภายนอก ถ้าดูผลกระทบต่อเซนติเมนต์ในสภาพคล่องตลาดหุ้นกู้ ตั้งแต่ต้นปีฝั่งดีมานด์กับฝั่งซัพพลายในการซื้อขายหุ้นกู้ในเมืองไทยเป็นอย่างไรบ้างครับ
เท่าที่เราสังเกตเห็นผลกระทบยังไม่ได้เข้ามา เนื่องจากตลาดหุ้นกู้ ตราสาร AT1 จริง ๆ ต้องเรียกว่าเป็น perpetual bond บ้านเรา มันมียอดคงค้างอยู่ประมาณแค่แสนล้านบาท ไม่ได้ถือว่าเยอะอะไร และผู้ออกส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทขนาดใหญ่
แต่ที่อยากจะพูดถึงก็คือ ตราสาร AT1 ที่อยู่นอกประเทศด้วย ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าตอนนี้ตลาดมันเหมือนมันปิด คือการออกใหม่มันออกไม่ได้ หรือออกก็ต้องจ่ายแพงมาก ไม่สมเหตุสมผล อย่างเช่น สถาบันการเงิน เรามีโครงสร้างเงินทุน หรือที่เรียกว่า capital structure แล้วเงินทุนที่แพงที่สุดก็คือ equity คือส่วนของผู้ถือหุ้นนี่แหละ
และถ้าตราสาร AT1 มีการปรับตัว repricing จากความเสี่ยงในครั้งนี้ จนทำให้มีความเสี่ยงสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งสูงไปเท่ากับตัว equity หรือแม้กระทั่งสูงกว่าต้นทุนของส่วนของผู้ถือหุ้น (cost of equity) มันก็ไม่สมเหตุสมผลที่บริษัททั้งหลายและสถาบันการเงินจะออกตราสารประเภทนี้ ดังนั้นตราสารนี้จะหดแคบเข้า เหลือแต่ผู้เล่นขนาดใหญ่จริง ๆ
อย่างเช่น เป็นแบงก์ที่ถือหุ้นโดยรัฐทั้งหมดหรือบางส่วน หรือเป็นแบงก์ที่ใหญ่จริง ๆ ก็ยังคงสามารถที่ออกได้
สำหรับบ้านเราเองบริษัทขนาดเล็ก ๆ ก็อาจจะยังมีความยากลำบากในการออกมากขึ้น แต่ขนาดใหญ่ผมคิดว่าไม่ได้มีปัญหาอะไร นักลงทุนก็ยังให้ความเชื่อมั่น ตราบใดที่เราเชื่อว่าบริษัทนี้ไม่ได้มีลักษณะที่จะมีความเสี่ยงล้มละลาย
Q: ในมุมของแบงก์พาณิชย์ในระยะยาว ถ้าทางการหรือแบงก์ชาติทั่วโลกยกระดับมาตรการในการควบคุม ตรงนี้จะทำให้แบงก์พาณิชย์ทำธุรกิจยากขึ้นไหม
ก็ต้องยอมรับว่ามีผลกระทบอยู่บ้าง ทั่วโลกเลย เพราะว่าหลังจากเหตุการณ์เดือนมีนาคม ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ทางการจะออกมาตรการในการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่เข้มงวดขึ้น โดยกดดันให้แบงก์มุ่งไปบริหารจัดการเรื่องสภาพคล่องให้เข้มงวดขึ้น มุ่งไปเน้นที่การดำรงเงินกองทุน ซึ่งมันก็ทำให้ความสามารถในการทำกำไรอาจจะลดลง และจะไปกดดันราคาหุ้น
ดังนั้นเราจึงอาจจะไม่แปลกใจว่าราคาหุ้นจะถูกแรงกดดันทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา แต่ว่าแรงกดดันนี้น่าจะไปส่งผลกับธนาคารขนาดเล็กขนาดกลางมากกว่า เนื่องจากว่าแบงก์ขนาดใหญ่ เขาก็มีวิธีการดำเนินธุรกิจหรือการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ค่อนข้างเข้มงวดอยู่แล้ว
แต่อย่างไรก็ตาม ในเชิงระบบทุกคนก็ต้องมีความระมัดระวัง และสิ่งที่คนกังวลก็คือว่ามันจะมีผลให้แบงก์มีความระมัดระวังมากขึ้นไปจนถึงขนาดปล่อยกู้น้อยลงหรือเปล่า หรือว่าดึงสภาพคล่องกลับคืนมาหรือเปล่า ซึ่งอันนี้อาจจะไปมีผลกระทบสู่ภาคเศรษฐกิจจริงด้วยหรือไม่ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการประเมินอีกสักหน่อยนะครับ
Q: ในภาวะที่ตลาดการลงทุนโดยรวมยังมีความผันผวนจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ยังมีความเปราะบางในช่วงเวลานี้ คำแนะนำการลงทุนเราแนะนำยังไงบ้างครับ
นักลงทุนจะต้องให้ความระมัดระวัง รวมถึงอาจจะมี ratio ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นที่นักวิเคราะห์หุ้น หรือแม้แต่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือจะต้องเข้าไปดูก็คือ เช่นไปดูคุณภาพของเงินฝากว่ามีการกระจายตัวออกไปในกลุ่มผู้ฝากรายย่อยมากน้อยแค่ไหน
อาจจะรวมไปถึงเรื่องของ AT1 ว่าบริษัทนั้น ๆ มีสัดส่วนในส่วนของผู้ถือหุ้น พึ่งพาตราสารหนี้ AT1 หรือพึ่งพาตราสารที่เป็นหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์มากน้อยแค่ไหน ถ้าเกิดว่าในส่วนของทุนมีการพึ่งพาตราสารประเภทแบบนี้เยอะ ก็อาจจะกล่าวได้ว่ามีความเสี่ยงในกรณีที่ตลาดมันปิด คือมันออกไม่ได้หรือมัน roll-over ต่อไม่ได้ มันก็จะไปกระทบฐานทุน
ทุกคนต้องยกระดับ นักลงทุนก็ต้องมีความรู้มากขึ้น ซึ่งก็ต้องตระหนักว่าสิ่งที่ไม่เคยเกิดก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกการเงินที่ค่อนข้างผันผวนและเปลี่ยนแปลงรวดเร็วอย่างทุกวันนี้ครับ