องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.หน่วยงานกลางบูรณาการทำงานพัฒนาเพื่อยกระดับและเพิ่มมูลค่ากิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน โดยใช้เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ GSTC ใช้องค์ความรู้ด้านมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT Thailand)
และมาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (STMS) ถ่ายทอดให้กับชุมชนและท้องถิ่น เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่มีความสมดุลในทุกมิติ พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ
ดัน “คลองท่อม” ขึ้นพื้นที่พิเศษฯ
ล่าสุด อพท. ได้เร่งทำการศึกษาและสำรวจศักยภาพพื้นที่ใน อ.คลองท่อม จ.กระบี่ มีเป้าหมายประกาศให้เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยชูจุดขายความเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก ตอบโจทย์ตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงชื่นชอบท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนท้องถิ่น และฟื้นฟู อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดความยั่งยืน
“นาวาอากาศเอกอธิคุณ คงมี” ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. บอกว่า อพท. ได้รับมอบหมายจาก “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ให้ดำเนินการศึกษาศักยภาพและความเหมาะสมของพื้นที่ อ.คลองท่อม จ.กระบี่
เพื่อเตรียมการประกาศให้เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยืน ครอบคลุมบริเวณ น้ำตกร้อน สระมรกต พิพิธภัณฑ์ลูกปัดคลองท่อม และน้ำพุร้อนเค็ม ภายใต้แนวคิด “คลองท่อมเมืองสุขภาพ” หรือ wellness
เนื่องจาก อ.คลองท่อม มีความโดดเด่นทั้งด้านธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม โดยเฉพาะที่ ต.ห้วยน้ำขาว ซึ่งเป็นแหล่งน้ำพุร้อนเค็ม และเป็นแหล่งท่องเที่ยว unseen มีน้ำพุร้อนเค็มแห่งเดียวของประเทศไทย และเป็น 1 ใน 2 แห่งของทั่วโลก (อีก 1 แห่งอยู่ที่สาธารณรัฐเช็ก)
อพท. ศูนย์กลางประสานงาน
“นาวาอากาศเอกอธิคุณ” บอกด้วยว่า เป้าหมายพัฒนาพื้นที่พิเศษฯ ครั้งนี้ อพท. จะทำหน้าที่เป็นองค์กรในการประสานหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรที่เกี่ยวข้อง มาร่วมกันพัฒนาพื้นที่คลองท่อม เพื่อบริหารจัดการพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
โดยทำคู่ขนานกับชุมชน ให้คนในท้องถิ่นได้รับประโยชน์จากแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมศักยภาพให้กับชุมชนและเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม พัฒนาความเจริญให้กับชุมชนและพื้นที่ในระยะยาว
ปัจจุบัน อพท. ได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลเพื่อกำหนดเป้าหมายของการทำงานให้ชัดเจน ตั้งแต่เรื่องผังเมือง สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว การรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อบูรณาการการบริหารจัดการการท่องเที่ยวในพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืน
“น้ำพุร้อนเค็มมีจุดเด่นในเรื่องของการมีแร่ธาตุสูงที่เป็นประโยชน์ในด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาล สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ ซึ่งปัจจุบันมีภาคเอกชนเริ่มเห็นประโยชน์และนำน้ำร้อนเค็มขึ้นมาใช้ มีการลงทุนทางธุรกิจไปบ้างแล้ว แต่ยังไม่มีการลงทุนจากภาครัฐ หากควบคุมด้านคุณภาพและปริมาณการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดจะนำไปสู่การเพิ่มและกระจายรายได้สู่ชุมชนในพื้นที่อย่างทั่วถึงในมิติของแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ”
และบอกอีกว่า การประกาศเป็นพื้นที่พิเศษฯ จะทำให้ อพท. เข้ามาทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางประสานกับหน่วยงานอื่น ๆ อาทิ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมโยธาธิการและผังเมือง ฯลฯ เพื่อดำเนินการเรื่องการใช้น้ำ การใช้ประโยชน์จากที่ดิน การจัดทำผังเมือง ด้านการลงทุนประสานสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พิจารณาจัดทำสิทธิประโยชน์เชิญชวนนักลงทุน
หากดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ชุมชนและท้องถิ่นจะได้ประโยชน์จากการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว พัฒนาคน ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น เศรษฐกิจท้องถิ่นก็จะเกิดการเติบโต
ประกาศพื้นที่พิเศษฯ ปี 2567
ผู้อำนวยการ อพท. ให้ข้อมูลอีกว่า หลังจากทำการศึกษาและรวบรวมข้อมูลทั้งหมดของพื้นที่แล้ว อพท. จะสรุปผลและนำเสนอคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
พิจารณาเห็นชอบประกาศเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) เห็นชอบต่อไป
ทั้งนี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2567 จากนั้นจะไปสู่การจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษ อำเภอคลองท่อม ที่จะต้องสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน
ประกอบด้วย ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล และแผนยุทธศาสตร์ชาติ BCG Model ที่นำคุณค่าทางทรัพยากรที่มีอยู่มายกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มให้สามารถดึงเงินลงทุนเข้ามาในพื้นที่ และนำเสนอดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามลำดับ
หากทำการประกาศพื้นที่พิเศษฯ อำเภอคลองท่อมแล้ว อพท. จะใช้องค์ความรู้ที่มีไปถ่ายทอดให้แก่ท้องถิ่นและชุมชน ได้แก่ เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria : GSTC) เกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย (CBT Thailand) เพื่อยกระดับคลองท่อมเป็น wellness city เหมือนกับหลาย ๆ เมืองของประเทศญี่ปุ่น
จากนั้นจะเข้าไปยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก การบริหารจัดการ และเชิญชวนผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องและมีศักยภาพเข้ามาพัฒนาพื้นที่คลองท่อม ให้เป็นแหล่งฟื้นฟูและดูแลสุขภาพ
รวมถึงการนำเสนอการจัดการ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่แห่งนี้เข้าสู่เวทีในระดับสากล เพื่อสร้างการยอมรับและรับรู้ของตลาดนักท่องเที่ยว อาทิ การเสนอชื่อเข้ารับการรับรองเป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก หรือ top 100 (Green Destinations Top 100 Stories)
ชี้ปีนี้ท่องเที่ยวกระบี่ฟื้นตัว 80%
ด้าน “สุรัตน์ จรณโยธิน” ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดกระบี่ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดกระบี่ ระบุว่า ทางสำนักงานมีความพร้อมและประสานในพื้นที่ชุมชนรอบ ๆ ของคลองท่อมว่าชุมชนทั้งหมด 29 ชุมชน อ.คลองท่อมประมาณ 7-8 ชุมชน ก็ได้เข้ามาส่งเสริมในด้านสินค้า การจัดการ การเป็นเจ้าบ้านที่ดี ซึ่งในส่วนของชุมชนก็ให้การตอบรับดีมาก และพร้อมที่จะสนับสนุนการผลักดันให้เป็นพื้นที่พิเศษฯ ของ อพท.
“ตอนนี้เบื้องต้นเราเริ่มก้าวแล้ว ชุมชนในพื้นที่รับรู้หมด ต่อไปจะเป็นขั้นตอนของ อพท. ที่จะประกาศในพื้นที่พิเศษฯ ซึ่งแน่นอนว่าหากได้ประกาศเป็นพื้นที่พิเศษฯ จะทำให้เมืองมีการพัฒนาที่ดีขึ้น โดยโครงการต่าง ๆ ของ อพท. ก็สามารถนำไปของบประมาณสนับสนุน”
ในปี 2562 จังหวัดกระบี่มีนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศประมาณ 7 ล้านคนต่อปี ทำรายได้ราว 1.2 แสนล้านบาท คิดเป็นลำดับที่ 4 ของประเทศ สำหรับปี 2566 นี้คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวรวมประมาณ 5.4 ล้านคน หรือประมาณ 80% ของปี 2562
โดยในช่วง 5 เดือนแรกที่ผ่านมา (1 ม.ค.-31 พ.ค. 2566) จังหวัดกระบี่มีจำนวนนักท่องเที่ยวรวมประมาณ 1.8 ล้านคน สร้างรายได้แล้วราว 1.3 หมื่นล้านบาท
บูมท่องเที่ยวทางบกเสริม
ทั้งนี้ คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะสามารถฟื้นกลับได้เท่าปี 2562 ได้ภายในปี 2567 เนื่องจากจังหวัดกระบี่มีการท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบ ทั้งการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ การท่องเที่ยวทางทะเล การท่องเที่ยวเชิงกีฬา การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ฯลฯ
“ตอนนี้ทางจังหวัดพยายามโปรโมตเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ ๆ อาทิ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวชุมชน เพื่อดึงนักท่องเที่ยวกระแสหลักที่ทางทะเล เช่น เกาะพีพี อ่าวมาหยา เพื่อให้กระจายมาในพื้นที่ทางบกมากขึ้น”
พร้อมทั้ง หาตลาดใหม่ ๆ เช่น อินเดีย คาซัคสถาน และตะวันออกกลางเข้ามาเสริม จากฐานเดิมอย่างมาเลเซีย สิงคโปร์ และจีน โดยปัจจุบันเริ่มมีสายการบินจากทางตะวันออกกลางและอินเดียบินตรงสู่กระบี่ทุกสัปดาห์
ที่สำคัญคือ สนามบินนานาชาติกระบี่ มีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารได้อีกมหาศาล