“เชียงใหม่” เจาะตลาดไมซ์ ดึงคน “สงขลา-กระบี่” เที่ยวเหนือ

เชียงใหม่
วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ (Photo by Mladen ANTONOV / AFP)

เทรนด์การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ๆ เกิดขึ้นหลังโควิดคลี่คลาย โดยเฉพาะการท่องเที่ยวสไตล์ bleisure ซึ่งเป็นการขมวดรวมทริปเดินทางเชิงธุรกิจ (business) และการพักผ่อน (leisure) เข้าไว้ใน route เดียวกัน รวมถึงการท่องเที่ยวสีเขียว (green tourism) ที่เน้นเรื่องความยั่งยืน-รักษ์โลก

ล่าสุดการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงใหม่ ร่วมกับสายการบินไทยแอร์เอเชีย และผู้ประกอบการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ นำสินค้าและบริการบุกไปเสนอขายให้แก่ผู้ประกอบการนำเที่ยวจังหวัดสงขลาและกระบี่ ภายใต้โครงการ The Link : Local to Local พร้อมเปิดโต๊ะเจรจาธุรกิจ Table Top Sale ณ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และจังหวัดกระบี่

เพื่อดึงนักท่องเที่ยวจากสงขลาและกระบี่เดินทางท่องเที่ยวข้ามภูมิภาค มายังเชียงใหม่ ขณะเดียวกันสงขลาและกระบี่จะดึงนักท่องเที่ยวจากเชียงใหม่เข้ามาเช่นกันภายใต้แนวคิด The Bleisure Route และ Green Route

นางสาวสุลัดดา ศรุติลาวัณย์ ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จังหวัดสงขลา ถือเป็นเมืองแห่ง MICE กลุ่มลูกค้าหลักมีทั้งคนไทยในพื้นที่ และชาวมาเลเซีย ที่เดินทางมาจัดกิจกรรม MICE ที่หาดใหญ่เพิ่มขึ้น

ดังนั้น จึงมีโอกาสสูงที่เชียงใหม่จะดึงนักท่องเที่ยวจากประเทศที่เป็น destination ที่ 3 คือมาเลเซีย เดินทางเชื่อมต่อมาเชียงใหม่ ขณะเดียวกันเชียงใหม่มีโอกาสในการนำนักท่องเที่ยวกลุ่ม MICE เชื่อมมายังหาดใหญ่เป็นการท่องเที่ยวสไตล์ bleisure ซึ่งผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั้ง 2 เมืองได้อัพเดตสินค้าและบริการท่องเที่ยวระหว่างกัน

โดยมีการ link ด้วยสายการบิน (ไทยแอร์เอเชีย) ที่บินตรงทุกวัน และสินค้าทางการท่องเที่ยวที่เป็นเอกลักษณ์เชื่อมโยงหลายมิติ ทั้งทางวัฒนธรรมประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต และชุมชน โดยเฉพาะ products ที่เป็น soft power ของทั้ง 2 จังหวัด คาดว่าหลังจากนี้จะมีการทำ contact ร่วมกันในหลายกลุ่มสินค้าและบริการอย่างแน่นอน

‘สงขลา-กระบี่’ เที่ยวเหนือ

ขณะที่จังหวัดกระบี่เชื่อมโยงการท่องเที่ยวภายใต้แนวคิด Green Route นำเสนอประสบการณ์ท่องเที่ยวตามแนวคิด Sustainable Tourism Goals : STGs และ Low Carbon Tourism เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งกระบี่วางจุดขายการท่องเที่ยว green tourism

ซึ่งหลังโควิดพบว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มตะวันตกและอินเดีย เดินทางมากระบี่มากขึ้น และเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มที่ใส่ใจด้านสิ่งแวลล้อม ตามเทรนด์นักท่องเที่ยวที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป โดยในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่มี green route หลายแห่งที่ตอบโจทย์เทรนด์นักท่องเที่ยวสาย green เช่นกัน ดังนั้น การเชื่อมโยง green route ในกลุ่มสินค้าและบริการท่องเที่ยวระหว่างเชียงใหม่และกระบี่ถือว่ามีโอกาสสูงมาก

นางสาวมัณฑนา ภูธรารักษ์ ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานหาดใหญ่ กล่าวว่า นักท่องเที่ยวกลุ่มหลักของหาดใหญ่คือ มาเลเซีย ซึ่งจะเป็นกลุ่มใหญ่ที่เดินทางเชื่อมโยงไปจังหวัดเชียงใหม่ โดยเป็นกลุ่มกำลังซื้อสูงและพร้อมที่จะเดินทางต่อไปทางเหนือของประเทศไทยในช่วงฤดูหนาว

ซึ่งจะมีการซื้อขายกันก่อนล่วงหน้า สำหรับการอัพเดตสินค้าการท่องเที่ยวครั้งนี้ ทำให้ได้เห็นศักยภาพของทั้ง 2 จังหวัดได้ชัดมากขึ้น จุดขายสำคัญ นอกจากเมือง MICE ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่หาดใหญ่ และเป็นเมืองที่มีความศิวิไลซ์ อีกจุดขายหนึ่งคือ ความเป็นเมืองเก่าของสงขลา ที่มีร่องรอยประวัติศาสตร์ ที่กำลังถูกขับเคลื่อนสู่มรดกโลก การท่องเที่ยวสายมู และวิถีชุมชนท้องถิ่น เป็นต้น

นายอะหมาน หมัดอะดัม ผู้อำนวยการ (ททท.) สำนักงานกระบี่ กล่าวว่า sustainable tourism เป็นเทรนด์การท่องเที่ยวที่มาแรง และโรงแรมหลายแห่งในจังหวัดกระบี่เริ่มปรับเปลี่ยนและพัฒนาเป็นโรงแรม go green, low carbon กลายเป็นเป้าหมายทางการตลาดของโรงแรมในจังหวัดกระบี่ในปัจจุบัน เพื่อรองรับทั้งนักท่องเที่ยวกลุ่ม green tourism ทั้งคนไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ตะวันออกกลางและอินเดีย ที่เดินทางมาจังหวัดกระบี่ครั้งแรกและกลุ่มที่กลับมาซ้ำ

‘สงขลา-กระบี่’ เที่ยวเหนือ

โดยเส้นทาง green route ที่นักท่องเที่ยวนิยม อาทิ น้ำพุร้อนเค็ม ท่องเที่ยวชุมชนบ้านไหนหนัง ชุมชนบ้านเกาะกลาง พายเรือคยักชมป่าชายเลน ล่องเรือชมเกาะและอ่าวรวมถึงเส้นทาง Halal and Muslim Friendly Destination ที่จะรองรับตลาดกลุ่ม middle east

ยลเมืองเก่าชุมชนพหุวัฒนธรรม

ท่ามกลางความศิวิไลซ์ของอำเภอหาดใหญ่ การท่องเที่ยวแบบ bleisure ค่อนข้างตอบโจทย์สำหรับกลุ่มสายมู เริ่มจากการสักการะศาลเจ้าซาเจียงกุน ศาลหลักเมืองหาดใหญ่ ประดิษฐานในวัดหงษ์ประดิษฐาราม (วัดคอหงษ์) นั่งรถต่อ ไปชมพระมหาเจดีย์ไตรภพไตรมงคล หรือเจดีย์สเตนเลส ตั้งอยู่บนเขาคอหงส์ หลังมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นเจดีย์สเตนเลส หนึ่งเดียวในโลก

สร้างขึ้นเพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติ 60 ปี

เดินทางต่อมาที่วัดฉือฉาง วัดจีนแห่งแรกกลางเมืองหาดใหญ่ที่มีสถาปัตยกรรมก่อสร้างออกแบบโดยใช้ศิลปะทั้งไทย จีน ทิเบตผสมผสานกัน กำแพงวัดด้านนอกที่เขียนบอกเรื่องราวสำคัญของเมืองหาดใหญ่ แวะรับประทานอาหารร้านอ้า ร้านอาหารเหลาเก่าแก่คู่เมืองหาดใหญ่และเพิ่งได้รับเลือกให้เป็นโลเกชั่นถ่ายหนัง The Symphathizer ซีรีส์ HBO จบ route ช่วงเช้า

‘สงขลา-กระบี่’ เที่ยวเหนือ

เดินทางต่อไปสงขลา นั่งรถรางสำรวจแหล่งท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าสงขลาที่เต็มไปด้วยอาคารสถาปัตยกรรมงดงามและยังคงเอกลักษณ์ดั้งเดิมไว้อย่างลงตัว

เส้นทางยามบ่าย เดินทางไปสำรวจชุมชนพหุวัฒนธรรม ต.หัวเขา อ.สิงหนคร ชุมชนเมืองสองกาลเวลาที่เต็มไปด้วยเรื่องราวเชิงประวัติศาสตร์ มีวัฒนธรรมพื้นถิ่นที่โดดเด่น โดยการนั่งเรือหางยาวข้ามทะเลสาบสงขลา ทำกิจกรรมโดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชน Ecotourism Songkhla Thailand เรียนรู้วิธีการทำมะม่วงแช่อิ่ม เรียนรู้วิธีการทำไข่ครอบ (สินค้า GI) นั่งรถซาเล้งชมแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ วัดสุวรรณคีรี วัดบ่อทรัพย์

และจุดชมวิว 2 ทะเลแบบพาโนรามาของทะเลสาบสงขลาและทะเลอ่าวไทย ล่องแพเปียก/พายคยัก นั่งเรือหางยาวท่องเที่ยวทะเลสาบสงขลา ลากูนหนึ่งเดียวในประเทศไทย ทำกิจกรรม CSR ปลูกป่าโกงกาง และรับประทานอาหารเย็น ริมทะเลสาบสงขลาที่ร้าน Songkhla Pier คาเฟ่สุดชิลริมทะเลสาบสงขลา โดยเชฟชุมชนที่นำวัตถุดิบจากลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาที่มีคุณภาพ มารังสรรค์เมนู อาทิ ปลากระพง 3 น้ำ, แกงสัมปลาขี้ตัง, ปลากระบอกทอดกระเทียม, พิซซ่าหน้ามันปูม้าใบขลู่ เป็นต้น

Green Route กระบี่ยั่งยืน

อ่าวท่าเลน เป็นเส้นทางพายเรือ Kayak ที่มีระบบนิเวศที่สมบูรณ์และสวยงามแห่งหนึ่งของประเทศ ล้อมรอบด้วยภูเขาหินปูนและป่าโกงกางเขียวขจี ความสงบที่ได้สัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกับการนั่งสปีดโบ๊ตไปเกาะต่าง ๆ เป็นกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวไม่พลาด เกาะพีพี ที่มีหมู่เกาะพีพีเล อันงดงาม จอดเรือแวะชมลิงแสมที่อ่าวลิง ชมถ้ำไวกิ้ง นั่งเรือต่อไปอ่าวปิเละ

เดินทางต่อไปท่าเทียบเรือบริเวณอ่าวโล๊ะซะมะ เพื่อสำรวจแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่าง อ่าวมาหยา เป็นอ่าวรูปพระจันทร์เสี้ยวที่ล้อมรอบด้วยภูเขา เม็ดทรายขาวละเอียด น้ำทะเลสีมรกต เป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่ไม่สามารถลงเล่นน้ำได้

‘สงขลา-กระบี่’ เที่ยวเหนือ

อีก route คือ การนั่งเรือหัวโทง ชมวิวเขาขนาบน้ำ ลอดอุโมงค์ลับป่าโกงกาง มาถึงชุมชนบ้านเกาะกลาง นั่งสามล้อพ่วงชมวิถีชุมชนมุสลิม ชุมชนขนาดเล็ก เงียบสงบ ที่มีภูมิปัญญาการทำผ้าปาเต๊ะ การทำนาข้าวสังข์หยด

รับประทานอาหารกลางวันที่ร้านฮัดซันฟาร์ม ร้านอาหารสุดชิล ที่ปรุงเมนูพื้นถิ่นของจังหวัดกระบี่ได้อย่างอร่อยเข้มข้น เป็นชุมชนสะอาดที่สามารถเป็น role model ให้กับชุมชนในประเทศไทยได้นำไปเป็นแบบอย่างของชุมชนท่องเที่ยวสีเขียว

โครงการ The Link : Local to Local กลไกลขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชื่อมโยงข้ามภูมิภาค ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวตลาดกลุ่ม MICE และ green tourism ของจังหวัดเชียงใหม่-สงขลา-กระบี่ ให้กลับมาคึกคักอีกครั้งนับจากครึ่งปีหลังนี้เป็นต้นไป