จดหมายแห่งอนาคต (13) อุปสรรคสู่ทางสายไหมของจีน

โดย สันติธาร เสถียรไทย [email protected]

ถึงลูกพ่อ


สิ่งหนึ่งที่พ่อได้เรียนรู้ คือ ไม่ว่าจะเวทีเล็กหรือใหญ่ หรือในยุคไหนก็ตาม การเปลี่ยนแปลงผู้นำนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวทีโลกที่กว้างใหญ่ไพศาล และมีผู้เล่นคือประเทศแต่ละประเทศที่ประชากรเป็นหลายล้านคน การก้าวขึ้นสู่บัลลังก์การเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจยุคใหม่ย่อมขรุขระ และจำต้องมีการเสียสละประโยชน์ระยะสั้น เพื่อชนะเกมระยะยาวเสมอ

ไม่ว่าจีนจะพูดถึงโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งทาง” Belt and Road Initiative (BRI) ที่จะรื้อฟื้นและพัฒนาเส้นทางสายไหมทั้งทางบกและทะเลอย่างไร และเพื่อประโยชน์ของเศรษฐกิจโลกอย่างไร แต่คนส่วนมากก็ยังมอง BRI ว่า เป็นหนทางสู่บัลลังก์ผู้นำเศรษฐกิจโลกของจีน สิ่งที่จะตามมาก็คือปฏิกิริยาต่อต้านจากประเทศต่าง ๆ 3 กลุ่มใหญ่ ๆ

แชมป์เก่าล้ม
แต่ยังไม่ถูกน็อกเอาต์

แน่นอนเจ้าแรกคงไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือสหรัฐอเมริกา “แชมป์เก่า” ที่แม้จะล้มลง ก็ยังไม่ถึงกับโดนน็อกเอาต์ สหรัฐอเมริกายังคงเป็นเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและทรงอิทธิพลมากในเศรษฐกิจโลกอยู่ ทั้งนี้ การผงาดขึ้นของจีนไม่ใช่แค่แปลว่าจะมีแชมป์คนใหม่มาแทนที่สหรัฐอเมริกา แต่มีความหมายที่ลึกซึ้งกว่านั้น คือ จะมีผู้ตั้งและผู้คุมกฎของเศรษฐกิจโลกคนใหม่ที่แตกต่างไปจากกฎกติกาที่อเมริกาถนัดและคุ้นเคย

แผนหนึ่งแถบหนึ่งทางของจีนจะนำด้วยกลยุทธ์การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงจีนกับภูมิภาคต่าง ๆ และตามมาด้วยการเปิดเสรีการค้าตามที่แต่ละประเทศพร้อม ซึ่งแตกต่างจากรูปแบบที่อเมริกานิยม ที่มักจะอยู่บนพื้นฐานของความได้เปรียบเป็นตัวนำ และตามด้วยข้อตกลงการค้าเสรีที่มาเป็นแพ็กเกจ และครอบคลุมเรื่องที่ไม่ใช่การค้าเสรีโดยตรง เช่น เรื่องการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานคุ้มครองแรงงาน มาตรฐานสุขอนามัย รวมไปถึงเรื่องการนำระบบอนุญาโตตุลาการมาใช้ เพื่อเปิดให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องรัฐบาลได้ด้วย

ในวันที่พ่อเขียนจดหมายฉบับนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ดูเหมือนจะเปลี่ยนท่าทีมายอมรับเส้นทางสายไหมของจีน มากกว่าในสมัยประธานาธิบดีโอบามาคนก่อน แต่พ่อว่าเราไม่ควรยึดตรงนี้เป็นบรรทัดฐาน เพราะพ่อคิดว่าผู้นำอเมริกาคนนี้เป็นสายพันธุ์ “นักเจรจา” คือ นโยบายจะเปลี่ยนไปมาได้ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับว่าเจรจากับประเทศยักษ์ใหญ่ขนาดไหน

วันนี้อเมริกาต้องการให้จีนช่วยเหลือเรื่องความมั่นคง ก็อาจญาติดีด้วยเรื่องเส้นทางสายไหม แต่พรุ่งนี้หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ก็อาจหักมุม นอกจากนี้ ก็มีความเป็นไปได้ว่า อเมริกาอาจมียุทธศาสตร์ว่าถ้าเข้าร่วม BRI แล้วป่วนจากข้างใน น่าจะง่ายกว่าเต้นแร้งเต้นกาอยู่ข้างนอกเวทีก็ได้

พญามังกรตวัดหาง
โดนพญาคชสาร

แต่นอกจากแชมป์เก่าอย่างอเมริกาแล้ว พ่อคิดว่ายังจะมี “เจ้าถิ่น” อีกหลายเจ้าที่ไม่พอใจ เพราะถูกเส้นทางสายไหมตัดผ่านเข้าไปในเขตแดนที่เขามองว่า “ถิ่น” ของเขา ตัวอย่างที่ดีคืออินเดีย แผนหนึ่งแถบหนึ่งทางของจีนเป็นการกระตุกงวงของพญาคชสารอินเดียในหลายมิติ อย่างที่พ่อเคยเล่าให้ฟังไปแล้วว่า

แกนสำคัญของแผน BRI ก็คือ โครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (China-Pakistan Economic Corridor หรือ CPEC) ที่มีมูลค่า 46,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อพัฒนาเครือข่ายถนน ทางรถไฟ ท่อส่งน้ำมัน ท่าเรือ ท่าอากาศยาน และเขตเศรษฐกิจพิเศษจำนวนมากมาย 

โดยมีจุดเริ่มต้นเส้นทางตั้งแต่เขตปกครองซินเจียงของจีนเรียงร้อยมาจนถึงเมืองท่ากวาดาร์ (Gwadar) ในปากีสถาน ซึ่งสำหรับอินเดียแล้ว โครงการนี้นอกจากจะเป็นการเสริมพลังให้เพื่อนบ้านที่ไม่ลงรอยกันและเป็นประเทศยักษ์ใหญ่อีกเจ้าในเอเชียใต้อย่างปากีสถานแล้ว ยังมีการตัดถนนผ่านดินแดนกิลกิต-บัลติสถาน บริเวณแคว้นแคชเมียร์ ที่เป็นพื้นที่ขัดแย้งกันระหว่างอินเดียกับปากีสถานอีกด้วย

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ การที่จีนได้กลายเป็นเจ้าหนี้และผู้ลงทุนรายใหญ่ในศรีลังกา ซึ่งนอกจากจีนจะเข้าไปลงทุนท่าเรือโคลอมโบแล้ว แผนเส้นทางสายไหมยังมีการเข้าไปพัฒนาท่าเรือและเขตเศรษฐกิจพิเศษในเมืองฮัมบันโตตาทางตอนใต้ของประเทศศรีลังกา ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์เส้นทางเดินเรือสำคัญในมหาสมุทรอินเดียอีกด้วย

ทั้งหมดจึงชี้ให้เห็นถึงอิทธิพลของจีนที่เข้ามาใน “ถิ่น” พญาคชสารเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทำให้อินเดียที่ปัจจุบันเองก็มีผู้นำและรัฐบาลที่แข็งแกร่งมากที่สุดในรอบนับสิบกว่าปี อาจกลายเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญต่อแผนเส้นทางสายไหมใหม่ของจีน

หรือซามูไร
จะขึ้นหลังพญาคชสาร ?

ญี่ปุ่นคืออีกหนึ่งตัวอย่างของประเทศที่กำลังวิตกกังวลว่าอิทธิพลของจีนจะมาลดทอนบทบาทของตนลง โดยเฉพาะบทบาทของญี่ปุ่นในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งแม้ในวันที่พ่อเขียนจดหมายนี้ ญี่ปุ่นก็ยังคงมีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องการค้า การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาอุตสาหกรรม

ในหลายโครงการ ญี่ปุ่นกับจีนก็ยังมีการแข่งกันโดยตรง เพื่อที่จะแย่งกันเป็นผู้ก่อสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการเป็นผู้ให้กู้หรือสนับสนุนเงินลงทุนในโครงการดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมระหว่างเมืองจาการ์ตากับบันดุงในอินโดนีเซีย ที่จีนได้ชัยชนะไป โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสิงคโปร์กับกรุงกัวลาลัมเปอร์ในมาเลเซียก็เช่นเดียวกัน แต่ในกรณีของประเทศไทย ดูเหมือนเราจะใช้วิธีแบ่งปันให้ทั้งสองยักษ์ใหญ่สร้างรถไฟกันคนละสาย แทนที่จะให้มาประชันกันด้วยการประมูล (เดี๋ยวเรื่องนี้มาต่อกันในฉบับหน้า)

พ่อจึงไม่แปลกใจ หากประเทศซามูไรนี้จะหันมาร่วมมือกับพญาคชสาร เพื่อพยายามที่จะคานอำนาจกับพญามังกร โดยความเคลื่อนไหวหนึ่งที่น่าสนใจในช่วงที่พ่อกำลังเขียนจดหมายนี้ก็คือ แผนพัฒนา Asia-Africa Growth Corridor (AAGC) ที่ญี่ปุ่นกับอินเดียเพิ่งจะเสนอขึ้นมา เพื่อที่จะเปิดเส้นทางการเดินเรือทางทะเลเชื่อมโยงทวีปแอฟริกาเข้ากับอินเดียและประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยพัฒนาเครือข่ายการเดินเรือระหว่างท่าเรือมอมบาซาร์ในประเทศเคนยา ท่าเรือซันซีบาร์ในแทนซาเนีย ซิตตเวในเมียนมา และรัฐคุชราตถิ่นฐานของนายกรัฐมนตรีโมดีของอินเดีย โดยมีญี่ปุ่นเป็นคนช่วยเหลือเรื่องเทคโนโลยีและการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนอินเดียเป็นแกนนำเรื่องการสร้างความสัมพันธ์กับทางรัฐบาลต่าง ๆ ในแอฟริกา เพราะนอกจากอินเดียจะมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นกับหลายประเทศในแอฟริกาแล้ว ยังเป็นตลาดขนาดยักษ์ที่มีศักยภาพมหาศาลอีกด้วย

พ่อไม่แน่ใจว่าแผนการของอินเดียกับญี่ปุ่นจะไปได้ไกลแค่ไหน แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดก็คือ การจับมือกันของประเทศยักษ์ใหญ่ที่เกรงอิทธิพลของจีนได้เกิดขึ้นแล้ว และอาจทำให้ถนนสู่เส้นทางสายไหมยุคใหม่ของจีน “ขรุขระ” กว่าที่คิด

แต่พ่อมองว่ากลุ่มที่จะเป็นอุปสรรคต่อถนนลายมังกรของจีนมากที่สุดจริง ๆ คือกลุ่มสุดท้าย นั่นก็คือ กลุ่มเศรษฐกิจขนาดเล็ก ๆ ที่จะเป็นเจ้าภาพรับการลงทุนจากจีนเอง ที่อาจจะกลายเป็นอุปสรรคทำให้จีนต้องเวียนหัวถึงขั้นเปลี่ยนแนวทางการผลักดันโครงการหนึ่งแถบหนึ่งทางก็เป็นได้

 

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (1) ตอน : ลงทุนกับลูกให้ทันโลก 4.0

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (2) ตอน : การศึกษากับโลกเทคโนโลยี

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (3) ตอน : มหาวิทยาลัยจะอยู่หรือไป

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (4) ฤๅโลกมหาวิทยาลัยจะเดินตามโลกดนตรี

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (5) “รถไฟ” แห่งเทคโนโลยีกับผู้ถูกทิ้งไว้ที่ “ชานชาลา”

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (6) MOOC เป็นตั๋วให้ผู้ตกขบวนรถไฟได้หรือไม่

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (7) พิษร้ายความไม่เท่าเทียมกับการต่อต้านโลกาภิวัตน์

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (8) เคล็ดการเรียนรู้ตลอดชีพ

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (9) การเสื่อมอำนาจของอเมริกาและอนาคตการค้าโลก

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (10) กับดัก Kindleberger “จีน” เป็นผู้นำใหม่แทน “อเมริกา” ได้ไหม ?

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (11) ภาพร่างโลกาภิวัตน์ลายมังกร

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (12) ทำไมโครงการรถไฟ “ไฮสปีด” อาจเดินหน้าแบบ “สโลโมชั่น”