25 พฤศจิกายน วันวชิราวุธ เปิดประวัติอำมาตย์คู่พระทัย ควบ 23 ตำแหน่ง

วันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันมหาธีรราชเจ้า และวันวชิราวุธ ซึ่งเป็นพระราชสมัญญา รัชกาลที่ 6 ซึ่งมีอำมาตย์คู่พระทัย ดำรงยศและบรรดาศักดิ์ 23 ตำแหน่ง

ในรัชสมัย รัชกาลที่ 6 หรือตามพระราชสมัญญา “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” นับเป็นยุคที่ข้าราชบริพารโดดเด่น เคียงคู่พระบารมี สูงสุด

เฉพาะอย่างยิ่ง “เจ้าพระยารามราฆพ” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงลงลายพระราชหัตถ์ไว้ในพระราชบันทึกส่วนพระองค์ว่า “เป็นศุภมิตร”

ยศและตำแหน่ง เจ้าพระยารามราฆพ-เป็นทั้งผู้สำเร็จราชการมหาดเล็ก สมุหราชองครักษ์ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในรัชสมัย รัชกาลที่ 6 เจ้าพระยารามราฆพ ได้บรรดาศักดิ์ และดำรงตำแหน่งถึง 23 ตำแหน่ง

“ตำแหน่งหน้าที่และบรรดาศักดิ์ ได้เป็นถึง 23 ตำแหน่ง แต่ใน 11 ตำแหน่ง ไม่ต้องมีความรับผิดชอบอันใด นอกจากไปนั่งประชุมเพื่อฟัง มาเรียนพระราชปฏิบัติเป็นบางครั้งบางคราว เป็นนายทหารพิเศษถึงนายพล เพื่อแต่งยูนิฟอร์มตามหน้าที่ สมุหราชองครักษ์” พระราชนิพนธ์ ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล ทรงระบุไว้

ตำแหน่งต่าง ๆ เช่น ราชเลขานุการพิเศษ, ราชองครักษ์พิเศษ, ผู้กำกับราชการกรมเรือยนตร์หลวง, เป็นอุปนายกเสือป่า, อุปนายกผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระ, กรรมการผู้จัดการธนาคารออมสิน (ชื่อเดิม แบงก์ลีฟอเธีย) นอกจากนั้นยังเป็นกรรมการที่ปรึกษา 7 แห่ง อาทิ

กรรมการที่ปรึกษาเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี, ที่ปรึกษาสภากาชาดแห่งสยาม, ที่ปรึกษาจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, ผู้ช่วยสภานายกราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม, สภานายกและกรรมการคณะฟุตบอลแห่งสยาม, เป็นสภานายกราชตฤณมัยแห่งสยาม, ราชเลขานุการส่วนพระองค์

“มีแต่ตำแหน่งประจำคือ ผู้สำเร็จราชการมหาดเล็กและผู้ช่วยราชการกระทรวงวัง สองหน้าที่นี้ที่เจ้าพระยารามฯ จะต้องรับผิดชอบเต็มที่ในฐานะอย่างคนสามัญเรียกว่า ‘พ่อบ้านแม่เรือน’ ฉะนั้นสิ่งไรเกี่ยวแก่ราชสำนักนัก เจ้าพระยารามฯ จะต้องรับผิดและชอบด้วยเป็นธรรมดาอยู่เอง”

ความก้าวหน้าในวงราชการ-ราชสำนัก รวดเร็ว ตามที่มีการกล่าวกันไว้ว่า เมื่ออายุได้ 22 ปี ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็นพระยาประสิทธิ์ศุภการ จากนั้นได้รับการสถาปนาให้เป็นเจ้าพระยารามราฆพ ชั้นสุพรรณบัฏ อันเป็นตำแหน่งบรรดาศักดิ์ ขั้นสูงสุดทางราชการ ขณะที่มีอายุเพียง 31 ปี

ราชทินนาม “รามราฆพ” นั้นเป็นชื่อตำแหน่งหม่อมเจ้าราชนิกุล ผู้นั่งกลางช้างให้สมเด็จพระนเรศวรในสงครามยุทธหัตถีตามพงศาวดาร สะท้อนว่ารัชกาลที่ 6 ไว้วางพระราชหฤทัยเจ้าพระยารามราฆพ มากเพียงใด

ดังคำประกาศเลื่อนเกียรติยศ จากพระยาประสิทธิ์สุภการ ขึ้นเป็น เจ้าพระยารามราฆพ ตอนหนึ่งระบุว่า

“เป็นผู้จงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทมั่นคงยิ่งนัก…ทรงไว้วางพระราชฤทัยมาช้านาน มีปรีชาญาณหยั่งทราบในกระแสร์พระบรมราโชบาย ตั้งใจสนองพระเดชพระคุณด้วยความอุตสาหะวิริยภาพอันแรงกล้า และเป็นผู้มีความประพฤติดำรงตนอยู่ในฐานะอันควรแก่ฐานันดรศักดิ์ที่ทรงพระกรุณาชุบเกล้าฯ แต่งตั้งไว้…นับว่าเป็นผู้เชิดชูเกียรติยศแห่งข้าหลวงเดิมทั้งปวง สมควรที่จะได้รับอิสริยศบรรดาศักดิ์สูง สมแก่ตำแหน่งราชการซึ่งได้บังคับบัญชาต่างพระเนตร์พระกรรณ์ให้ปรากฏสืบไป”

คำประกาศเลื่อนเกียรติยศนี้ ตามธรรมเนียม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแต่งประกาศเอง หากไม่ทรงมีเวลา จะโปรดให้ผู้อื่นแต่งตามพระราชประสงค์และทรงตรวจแก้เอง ก่อนประกาศ

ม.จ.พูนพิศมัย ยังบันทึกไว้ด้วยว่า “…เจ้าพระยารามฯ เป็นพระเนตร์ พระกรรณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การที่ได้เป็นพระเนตร์พระกรรณ์นี่แหละ คือได้กำอำนาจไว้ทั้งหมด เพราะพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นสุภาพบุรุษของอังกฤษ ซึ่งโดยมากยอมรักษาระเบียบ reserve และกระดาก shy ในการที่จะขยายตัวเองในการสมาคม break society จึงต้องมีคนที่เป็นพระเนตร์และพระกรรณ์”

นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง พันตรี วิลาศ โอสถานนท์ ได้เล่าเรื่องราวเมื่อคราวเสด็จประพาสหัวเมืองมณฑลปักษ์ใต้ ไว้ว่า “เจ้าพระยารามราฆพ เป็นผู้ที่รู้จักพระอารมณ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างดี และเป็นผู้ที่ใช้ไหวพริบปฏิภาณผ่อนหนักเป็นเบาได้ดี”

นอกจากนี้ มีหลักฐานที่ชาววังสมัยนั้น เชื่อว่ามีอำมาตย์ ที่รู้จักและถวายงานพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 อย่างดี มีอยู่อย่างน้อย 2 คน คือ 1.พระองค์เจ้าธานีนิวัติ และ 2.พระยาบุรีนวราษฎร์ (ชวน สิงหเสนี) เพราะท่านทั้งสองนี้ เป็นนักเรียนอังกฤษในสมัยใกล้ ๆ กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้เป็นราชเลขานุการในพระองค์มาทั้งสองคน

ผู้ที่ในหลวง รัชกาลที่ 6 ทรงยกย่องเป็น “ศุภมิตร” อีกคน คือ “พระตำรวจเอก เจ้าพระยาราชศุภมิตร” หรือ อ๊อต ศุภมิตร สมุหพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์ ในระหว่างที่ถวายงานในฐานะพระอภิบาลและราชองครักษ์อยู่ที่อังกฤษ เจ้าพระยาศุภมิตรได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ถวายงานพิเศษ

ในรัชสมัย รัชกาลที่ 9 เจ้าพระยารามราฆพ ได้รับการแต่งตั้งเป็น “นายกรัฐเทศมนตรีเทศบาลกรุงเทพฯ” เป็นคนแรก และยังคงมากตำแหน่งจนกระทั่งวาระสุดท้าย ในปี 2510 คือ เป็นสภานายก สภาลูกเสือแห่งชาติ, สมุหพระราชวัง, ประธานกรรมการพระราชวัง และอุปนายกกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัย

ในทรรศนะของ ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชนิยม และสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ ในพระราชวงศ์จักรีไว้ 18 ประการ

1.โรงเรียนวชิราวุธ มีพระราชประสงค์จะให้เป็น public school ของอังกฤษ เมื่อจบแล้วออกไปรับราชการในราชสำนัก ฝึกหัดเป็นมหาดเล็กหลวง ทรงมีพระราชดำริว่า การสร้างวัดนั้นมีอยู่มากแล้ว จึงทรงรับวัดบวรนิเวศ อันเป็นที่พระทับเมื่อทรงผนวชเป็นพระภิกษุไว้เป็นวัดประจำรัชกาลตามราชประเพณี แล้วมีพระราชดำรัสสั่งไว้ว่า ให้แบ่งพระบรมอังคารฝังไว้ที่นี่กึ่งหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งไปฝังไว้ที่พระพุทธรูปที่ทรงถวายพระนามไว้ว่า พระร่วงโรจนฤทธิ์ ที่องค์พระปฐมเจดีย์ แต่ทรงสร้างโรงเรียนวชิราวุธขึ้นแทนวัด

2.มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ทรงใช้เงินที่เหลือจากการสร้างพระบรมรูปทรงม้า ในรัชกาลที่ 5 พร้อมพระราชทานที่ดินของพระคลังข้างที่ทั้งผืน

3.ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ นามสกุล เป็นครั้งแรก

4.ทรงสร้างพระพุทธรูป ถวายพระนามว่า “พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ธรรโมภาส มหาวชิราวุธราชปูชนิยบพิตร์”

5.ทรงตั้ง “ลูกเสือ” 6.สร้างเรือรบ “พระร่วง” เรือหลวงลำแรกในประวัติศาสตร์ไทย จัดตั้งราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยามในพระบรมราชูปถัมภ์

7.สะพานพระราม 6 เป็นสะพานข้ามแม่น้ำในพระนครเป็นอันแรก 8.พระที่นั่งอนันตสมาคม แล้วเสร็จมีการขึ้นพระที่นั่ง ในงานเฉลิมพระชนมพรรษา 3 รอบ

9.ทรงสร้างพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน 10.ทรงขยายพระตำหนักพญาไท ตามแบบที่ทรงออกแบบเอง

11.ทรงสร้างเมืองเล็กเรียกว่า ดุสิตธานี ขึ้นในสวนที่พระราชวังพญาไท 12.เปิดใช้การประปา 13.โปรดให้เลิกโรงหวย โรงบ่อน

14.เลิกใช้ฝรั่งเดินรถและเรือไฟในทางราชการ 15.ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ ไม่น้อยกว่า 160 เล่ม

16.ให้ผู้หญิงไว้ผมยาวและนุ่งผ้าซิ่น 17.ทรงเปลี่ยนธงช้างเป็นธงไตรรงค์ 18.ทรงเปลี่ยนคำปลายของเนื้อเพลงสรรเสริญพระบารมี เป็น “ชัยโย” จากคำเก่า ที่ลงท้ายว่า “ฉนี้”

โปรดให้จัดงานรื่นเริง-งานเลี้ยงแต่งแฟนซี การแสดงละคร ทรงยกเลิกธรรมเนียม การถวายรายชื่อหญิงบรรดาศักดิ์ 12 พระกำนัล เพื่อทรงใช้สอยหลังพิธีบรมราชาภิเษก

พระราชกิจประจำวัน ตามที่ “ม.จ.พูนพิศมัย” บันทึกไว้คือ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตื่นบรรทมราว 11-12.30 นาฬิกา…ทรงหนังสือราชการ เสวยพร้อมด้วยข้าราชบริพาร ทรงกีฬาเทนนิส แบดมินตัน ทรงพระอักษร ตอนค่ำมักจะมีข้าราชการเข้าร่วมโต๊ะเสวย (ตามที่เจ้าพระยารามฯเห็นชอบ) ซ้อมละคร ทรงไพ่ bridge…ทรงไดอารี่”

เกี่ยวกับ “บันทึกส่วนพระองค์” หรือ “ไดอารี่” ทั้งหมด 6 เล่มนั้น มีการบันทึกไว้ 2 แบบ

แบบแรก ผู้ใช้นามปากกาว่า “สมัยทอง” แห่งหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ เขียนไว้ว่า “…เมื่อใกล้สวรรคต พระราชทานกุญแจตู้ที่เก็บพระสมุดให้เจ้าพระยารามราฆพรักษาไว้ และมีพระราชดำรัสว่า สมุดเหล่านี้ข้าให้เจ้า เมื่อข้าตายแล้ว แต่ไปในภายภาคหน้า จงพิมพ์สมุดเหล่านี้ออกขายเถิดจะได้เงินมาก”

ภายหลังที่เสด็จสวรรคต…รัชกาลที่ 7 รับสั่งเรียกสมุดเหล่านี้ไปทอดพระเนตร เมื่อเจ้าคุณรามฯ ขอพระราชทานคืน ได้ทรงตอบว่า “สมุดบันทึกส่วนพระองค์ในรัชกาลที่ 6 เป็นหนังสือราชการลับ หาสมควรพระราชทานแก่ผู้หนึ่งผู้ใด” สมุดจึงตกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

แบบที่สอง ม.จ.พูนพิศมัย บันทึกไว้ว่า “เจ้าพระยารามฯ ได้คืนไป และได้เอาไปให้รัฐบาลใหม่เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว”

ต้นฉบับ “บันทึกส่วนพระองค์” ที่ทรงใช้นามปากกาว่า “ราม วชิราวุธ” ทรงบันทึกไว้ว่า “ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ จัดไว้ให้แด่เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ ณ กรุงเทพ) ผู้เป็นศุภมิตร เล่มที่ ๑ กล่าวตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลก่อนจนสิ้นปี พ.ศ. ๒๔๕๓ มีบัญชีอยู่ท้ายสมุด แต่น่า ๔๐๑ ไป”

ต่อมาอยู่ในความครอบครองของ “พระมหาเทพกษัตรสมุห” อดีตข้าราชสำนัก ในรัชกาลที่ 6 ซึ่งสำนักพิมพ์มติชน ได้ตีพิมพ์ออกจำหน่ายครั้งแรก พฤศจิกายน 2545


ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ที่ปลุกให้คนไทยหันมารักชาติ รักบ้านเมือง รักความเป็นไทย รักอิสระ รักหนังสือไทย ภาษาไทย และรู้รักสามัคคี ราชการจึงได้กำหนดให้วันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันที่ระลึกวันมหาธีรราชเจ้า และวันวชิราวุธ