กสิกรไทยคาดสงกรานต์ 2565 เดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น แต่ใช้จ่ายไม่มาก

ท่องเที่ยว สนามบิน
(Photo by Jack TAYLOR / AFP)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินคนเดินทางท่องเที่ยวสงกรานต์มากขึ้น คาดเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.2% แต่การใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวน่าจะมีมูลค่า 2.23 หมื่นล้านบาท เพิ่มไม่มากนัก เหตุต้องเผชิญภาวะค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่มากขึ้น จากราคาสินค้า-พลังงานที่พุ่งขึ้น

วันที่ 9 เมษายน 2565 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ว่า จากการที่ทาง ศบค. ได้ผ่อนคลายมาตรการให้จัดงานเทศกาลสงกรานต์ในปี 2565 ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อภาคการท่องเที่ยว แต่เนื่องด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันยังทรงตัวสูง ขณะที่ภาระรายจ่ายในชีวิตประจำวันที่ปรับตัวสูงขึ้น ก็อาจจะมีผลต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวและทำให้การฟื้นตัวเป็นไปอย่างจำกัด

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยในช่วงสัปดาห์ของเทศกาลสงกรานต์ 9 วัน ระหว่างวันที่ 9-17 เม.ย. 2565 (ในบางพื้นที่จะมีการจัดงานประเพณีสงกรานต์ท้องถิ่นตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. 2565 และสถานประกอบการบางแห่ง เช่น โรงงานอุตสาหกรรมจะปิดทำการยาวเพื่อให้พนักงานเดินทางกลับภูมิลำเนา กอปรกับการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงนี้นักท่องเที่ยวจะมีการทยอยเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัดเพื่อหลีกเลี่ยงความแออัดในสถานที่ท่องเที่ยว) น่าจะมีจำนวน 4.6 ล้านคน-ครั้ง

(การเดินทางท่องเที่ยวเพื่อพักค้าง การเดินทางกลับภูมิลำเนาและมีการท่องเที่ยว รวมถึงการเดินทางแบบไปเช้า-เย็นกลับข้ามจังหวัด) เพิ่มขึ้น 2.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ท่องเที่ยว สงกรานต์

แต่เนื่องจากผลของมาตรการรัฐ การจัดโปรโมชั่นของผู้ประกอบการท่องเที่ยว และการปรับพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวโดยหลีกเลี่ยงความแออัดและเน้นเลือกเดินทางระยะใกล้ ทำให้การใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวต่อทริปโดยเฉลี่ยจึงลดลง

แม้ราคาอาหารและพลังงานจะแพงขึ้น ส่งผลให้การใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2565 นี้ น่าจะมีมูลค่า 2.23 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียง 1.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ ทิศทางตลาดท่องเที่ยวในช่วงที่เหลือของปี 2565 นี้ แม้ธุรกิจท่องเที่ยวจะได้รับปัจจัยด้านบวกเพิ่มเติมจากการที่ทางการได้ผ่อนคลายกฎระเบียบการตรวจวัดเชื้อโควิด-19 ก่อนเดินทางเข้าประเทศของชาวต่างชาติ

อย่างไรก็ดี เนื่องจากสถานการณ์ต่าง ๆ ในระยะข้างหน้า ยังมีความไม่แน่นอนสูง นอกจากยังต้องติดตามสถานการณ์โรคโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศที่ยังบั่นทอนความต้องการเดินทางท่องเที่ยวแล้ว ภาคการท่องเที่ยวก็ยังมีความท้าทายใหม่เพิ่มขึ้นจากประเด็นสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน

รวมถึงขณะนี้หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาราคาสินค้าและพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ภาระรายจ่ายในชีวิตประจำวันปรับตัวสูงขึ้นตาม ซึ่งคงจะมีผลต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยว และความถี่ในการเดินทางท่องเที่ยวลดลง

ท่องเที่ยว สนามบิน

ขณะเดียวกันปัจจัยด้านต้นทุนสร้างแรงกดดันในการทำตลาดให้กับผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน เนื่องจากความต้องการเดินทางท่องเที่ยวที่ยังจำกัด แต่การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการที่สูง ทำให้การทำแพ็คเกจด้านราคายังคงต้องมีความระมัดระวัง

จากทิศทางดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวยังคงต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยการทำตลาดในช่วงเวลานี้ยังคงต้องมีความยืดหยุ่นและปรับกลยุทธ์ไปตามความต้องการของนักท่องเที่ยว ที่ปัจจุบันการเดินทางท่องเที่ยวมีวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย

ทั้งการเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อน (Leisure Travel) การเปลี่ยนบรรยากาศการทำงานในสถานที่ท่องเที่ยว (Workcations) ขณะที่ปัจจุบันหลายบริษัทยังใช้รูปแบบการทำงานแบบ Hybrid Work from Home ซึ่งผู้ประกอบการคงจะต้องมีการจัดแพ็คเกจพิเศษระยะสั้น และระยะยาวสำหรับนักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่ม

นอกจากนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังให้ความสำคัญในเรื่องของการเปรียบเทียบราคาที่พักและบริการ ซึ่งหากผู้ประกอบการมีต้นทุนที่สูงก็คงจะต้องหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคา โดยปรับกลยุทธ์ลงมาเจาะกลุ่มเฉพาะ หรือ Niche Market เพิ่มบริการพร้อมปรับผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวให้มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น

เน้นการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ และให้นักท่องเที่ยสามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์ระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวอย่างการถ่ายรูป เรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่น รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายพันธมิตรระหว่างผู้ประกอบท่องเที่ยวในชุมชน เช่น ร้านอาหาร โรงแรมและที่พัก บริษัทนำเที่ยวและรถเช่า เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยวเดินทางอิสระ