บริษัทยักษ์ญี่ปุ่นกำไรทรุด ‘เยน’ อ่อนอุ้มรายได้ส่งออก

เงินเยนของ “ญี่ปุ่น” ที่อ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปีเมื่อไม่นานมานี้้ว่าจะเป็นผลดีต่อภาคการส่งออกญี่ปุ่นที่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ดีขึ้น แต่สงครามรัสเซีย-ยูเครนก็ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบของผู้ผลิตญี่ปุ่นพุ่งสูงมากยิ่งขึ้น กลายเป็นปัจจัยขัดขวางผลกำไรของบริษัทญี่ปุ่น ที่คาดหวังว่าจะเพิ่มขึ้นจากค่าเงินเยนที่อ่อนตัวลง

ไฟแนนเชียลไทมส์รายงานว่า หลังจากที่สกุลเงิน “เยน” ของญี่ปุ่นอ่อนค่าลงต่ำสุดที่ราว 130 เยน/ดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่ปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ได้กลายเป็นประโยชน์สำหรับบริษัทญี่ปุ่นบางรายที่สามารถทำกำไรได้มากขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งส่งผลให้สินค้าส่งออกของญี่ปุ่นสามารถแข่งขันด้านราคาได้ในตลาดโลก

การอ่อนค่าลงของเงินเยนเป็นผลมาจากความพยายามของรัฐบาลญี่ปุ่นที่มีมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในสมัยนายกรัฐมนตรี “ชินโซะ อาเบะ” ที่ผลักดันเงินเยนให้อ่อนค่าเพื่อแก้ไขภาวะเงินฝืดของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวนโยบายบริหารเศรษฐกิจที่เรียกว่า “อาเบะโนมิกส์”

อย่างไรก็ตาม สงครามรัสเซีย-ยูเครนและการหยุดชะงักของซัพพลายเชนในจีนส่งผลให้ราคาพลังงานและวัตถุดิบสำหรับการผลิตสินค้าพุ่งสูงขึ้น และเป็นปัจจัยที่ทำให้บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งคาดว่า ผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจะมีมากกว่าประโยชน์ด้านการส่งออกจากค่าเงินที่อ่อนตัว

นิกเคอิ เอเชียรายงานว่า “โซนี่กรุ๊ป” บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของญี่ปุ่น เปิดเผยคาดการณ์รายได้ในปีงบประมาณ 2022 ที่ราว 11.4 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้น 15% จากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นอานิสงส์จากค่าเงินเยนที่อ่อนตัวลง แต่กำไรสุทธิคาดว่าจะลดลงราว 6% หรือประมาณ 830,000 ล้านเยน ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากต้นทุนที่สูงขึ้น

ขณะที่ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นก็กำลังได้รับผลกระทบจากต้นทุนการนำเข้าวัสดุสำหรับการผลิตรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นเหล็กและอะลูมิเนียมที่พุ่งสูงขึ้น ขณะที่สถานการณ์สู้รบและภาวะเงินเฟ้อก็กระทบต่อความเชื่อมั่นและความต้องการของผู้บริโภค

“โตโยต้า มอเตอร์” ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่น คาดว่า กำไรสุทธิของบริษัทในปีงบประมาณ 2022 จะอยู่ที่ราว 2.26 ล้านล้านเยน ลดลง 20.7% จากปีก่อนหน้า แม้ว่ารายรับจะเพิ่มขึ้น 5.2% เป็น 33 ล้านล้านเยน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนการผลิตของบริษัทที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ถึง 1.45 ล้านล้านเยน

แม้ว่าจะได้รับแรงกดดันด้านต้นทุน แต่การส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภคในญี่ปุ่นยังคงไม่ใช่ทางเลือก “เออิจิ ฮาโกโมริ” นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ ไดวา ซีเคียวริตีส์ ระบุว่า ต้นทุนที่สูงขึ้น นักลงทุนอาจมองว่า การปรับขึ้นราคารถยนต์ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ผู้ผลิตมักระมัดระวังการขึ้นราคารถยนต์ในญี่ปุ่นเพื่อไม่ให้กระทบต่อชื่อเสียงของบริษัท และที่สำคัญอาจเสียลูกค้าได้

ซึ่งต่างจากตลาดต่างประเทศ อย่างสหรัฐอเมริกาที่ราคารถยนต์มีความผันผวนมากกว่า โดยค่ายรถญี่ปุ่นอาจเลือกใช้กลยุทธ์ในการปรับขึ้นราคารถยนต์รุ่นใหม่ที่เพิ่งเปิดตัว เพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียความเชื่อมั่นของลูกค้า

“เซอิจิ สุงิอุระ” นักวิเคราะห์จากสถาบันวิจัยโทไกโตเกียว ชี้ว่า การปรับขึ้นราคาสินค้าในญี่ปุ่นอาจส่งผลให้บริษัทสูญเสียส่วนแบ่งการตลาด บริษัทต่าง ๆ จึงอาจรอดูสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยน โดยหวังว่าค่าเงินเยนที่อ่อนลงจะช่วยรักษารายได้ส่งออกของบริษัท เพราะไม่มีใครต้องการเป็นผู้นำในการขึ้นราคา