กรมอนามัยย้ำ พบสูบกัญชาในที่สาธารณะ แจ้งเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ทันที

ควัน
Photo by Pascal Meier on Unsplash

กรมอนามัยชี้ พบเห็นผู้สูบกัญชา กัญชง หรือ พืชอื่น เกิดกลิ่น ควัน กระทบสุขภาพผู้อยู่ใกล้ แจ้งเจ้าพนักงานได้ทันที เผยระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

วันที่ 2 กรกฎาคม ​2565 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ย้ำ หากมีผู้สูบกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด ทำให้เกิดกลิ่นหรือควัน และส่งผลกระทบต่อสุขภาพต่อผู้ที่อยู่ใกล้เคียง ถือเป็นเหตุรำคาญ พบเห็นสามารถแจ้งเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ทันที

โดยเจ้าพนักงานท้องถิ่น มีอำนาจออกคำแนะนำและออกคำสั่งทางปกครองแก่บุคคลนั้น เพื่อให้แก้ไขหรือระงับเหตุดังกล่าว

กรณีผู้ถูกร้องเรียนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งทางปกครอง ให้เจ้าพนักงานดำเนินการส่งเรื่องให้ผู้มีอำนาจเปรียบเทียบตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข โดยอัตราโทษกรณีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

กรมอนามัย ควัญกัญชา

​นางณีรนุช อาภาจรัส ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมอนามัย เปิดเผยว่า กรณีมีการนำเสนอข่าวพบการขาย กัญชามวน และการสูบในที่หรือทางสาธารณะนั้น

การสูบกัญชาก่อให้เกิดกลิ่นและควันในที่สาธารณะ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่อยู่ใกล้เคียง หรือผู้ที่ต้องประสบภัยกับเหตุนั้น ถือเป็นเหตุรำคาญตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ. 2565 ซึ่งขณะนี้มีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่ 15 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป

โดยหากประชาชนพบเห็นการกระทำดังกล่าวสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนเหตุรำคาญแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ทันที เพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โดยศึกษาข้อมูลเบื้องต้น เช่น สถานที่หรือบริเวณที่ถูกร้องเรียน สถานที่ที่ประชาชนร้องเรียน แหล่งกำเนิดกลิ่นหรือควัน ลักษณะกลิ่น ช่วงเวลาที่ได้รับผลกระทบ เป็นต้น

หากเจ้าพนักงานตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่าเรื่องร้องเรียนไม่เป็นเหตุรำคาญตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นแจ้งผู้ร้องเรียนทราบ และยุติเรื่อง

หากพบว่าเรื่องร้องเรียนนั้น เข้าข่ายเป็นเหตุรำคาญตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้เจ้าพนักงานพิจารณาออกคำแนะนำเพื่อให้ผู้ก่อเหตุปรับปรุงแก้ไขปัญหาเหตุรำคาญ

โดยให้ระบุข้อเท็จจริงที่ตรวจพบ รวมทั้งระบุมาตรการหรือวิธีการที่ใช้การแก้ไข หรือปรับปรุงให้เหตุรำคาญนั้นระงับไปภายในระยะเวลาที่กำหนด จากนั้นเจ้าพนักงานจะติดตามตรวจสอบการดำเนินการตามคำแนะนำของเจ้าพนักงาน ที่กำหนด

หากผู้ถูกร้องเรียนไม่ดำเนินการตามคำแนะนำ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นออกคำสั่งทางปกครอง

โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 27 กรณีเหตุเกิดขึ้นในที่หรือทางสาธารณะ หรือมาตรา 28 กรณีเหตุเกิดในสถานที่เอกชน แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี เพื่อให้ผู้ก่อเหตุดำเนินการปรับปรุงแก้ไข หรือระงับเหตุรำคาญ

ในกรณีผู้ถูกร้องเรียนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งทางปกครอง ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นดำเนินการส่งเรื่องให้ผู้มีอำนาจเปรียบเทียบตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข

โดยอัตราโทษกรณีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นดังกล่าวข้างต้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสองหมื่นห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนกรณีผู้ถูกร้องเรียนปฏิบัติตามคำสั่งทางปกครอง ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นแจ้งผลการดำเนินการให้ผู้ร้องเรียนทราบ และยุติเรื่องต่อไป

นางนภพรรณ นันทพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย กล่าวว่า การนำกัญชา ไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ดังนี้

1) ควันกัญชา ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหอบหืด หลอดลมอักเสบ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

2) เด็กและทารกที่สัมผัสควันกัญชามือสอง อาจได้รับผลกระทบทางจิตประสาทเช่นเดียวกับผู้สูบ

3) กระตุ้นให้เกิดอาการป่วยทางจิตในกลุ่มเสี่ยงที่มีประวัติซึมเศร้าหรือป่วยด้วยโรคจิตเภทอยู่เดิม นอกจากนี้ ยังมีผลการศึกษาที่ระบุว่ากัญชาแบบพันลำ มีอัตราการปล่อย PM2.5 เฉลี่ย 3.5 เท่าของบุหรี่แบบธรรมดา ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจ

ดังนั้น ประชาชนควรตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพ ที่อาจเกิดจากการสูบกัญชา การได้รับควันกัญชามือสอง รวมถึงสถานประกอบการที่อาจมีกิจกรรมรวมกลุ่ม สูบกัญชา ควรมีมาตรการควบคุมไม่ให้เกิดเหตุรำคาญจากกลิ่นหรือควันกัญชา ซึ่งรบกวนประชาชนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง

ขณะเดียวกันหากเจ้าพนักงานท้องถิ่นพบการเห็นการกระทำดังกล่าว ก็สามารถดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ ได้ทันที

เนื่องจากหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้ใช้อำนาจตามกฎหมาย พ.ร.บ.การสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ ร่วมภาคส่วนอื่น เช่น คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ ต้องไปสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้เกิดขึ้น รวมถึงเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการใช้ในทางไม่เหมาะสม หรืออันตราย