Chainalysis สตาร์ตอัพที่ทลายภาวะ “นิรนาม” ของคริปโต

บล็อกเชน
คอลัมน์ : Tech Times
ผู้เขียน : มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

กลางปี 2021 Colonial Pipeline ผู้ให้บริการเครือข่ายท่อส่งน้ำมันรายใหญ่ของอเมริกา ถูกแฮกเกอร์โจมตีด้วยมัลแวร์เรียกค่าไถ่ จนต้องปิดท่อส่งน้ำมันไป 6 วัน ก่อให้เกิดความโกลาหลไปทั่วประเทศ สุดท้ายบริษัทจำต้องจ่ายเงินค่าไถ่เป็นเงินบิตคอยน์ 75 เหรียญ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 4.4 ล้านเหรียญในตอนนั้น เพื่อกู้ระบบกลับคืนมา

หนึ่งเดือนให้หลัง กระทรวงยุติธรรมประกาศว่า FBI สามารถตามเก็บบิตคอยน์ที่บริษัทเสียไปกลับคืนมาได้เกือบหมด หลังจากแกะรอยจากที่อยู่ที่บริษัทส่งเงินไปให้ จนพบความเชื่อมโยงกับ DarkSide กลุ่มอาชญากรไซเบอร์ของรัสเซีย

ความสำเร็จนี้ทำลายความเชื่อที่สาวกคริปโตยึดมั่นมาตลอดว่า ธุรกรรมบนบล็อกเชนนั้นมีความปลอดภัยสูงสุด และข้อมูลทุกอย่างจะไม่มีการระบุตัวตน แต่จะเป็นความลับที่รู้กันแค่ระหว่างผู้ส่งกับผู้รับเท่านั้น

ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการแกะรอยคริปโตครั้งนี้คือ Chainalysis สตาร์ตอัพที่ก่อตั้งโดย ไมเคิล กรอนนิเกอร์ ในปี 2014

Chainalysis เป็นสตาร์ตอัพในสาย Blockchain Analytics ที่ใช้ machine learning/statistical analysis ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อสืบเสาะเส้นทางธุรกรรมสกุลเงินคริปโตบนบล็อกเชน

ปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 700 ราย ในกว่า 70 ประเทศ

ไมเคิลจบปริญญาเอกด้านกลศาสตร์ควอนตัม (quantum mechanics) และเริ่มสนใจคริปโตในปี 2011 ก่อนก่อตั้ง Crypto Exchange ที่ชื่อว่า Kraken ขึ้น

ปี 2014 เขาได้รับการว่าจ้างจาก Mt. Gox หนึ่งใน Crypto Exchange ที่ใหญ่ที่สุดในโลกให้ช่วยตามหาเงินที่โดนแฮกไปกว่า 500 ล้านเหรียญ

เสร็จจากคดีนั้น ไมเคิลตัดสินใจลาออกจาก Kraken เพื่อมุ่งมั่นพัฒนาซอฟต์แวร์วิเคราะห์เส้นทางการเงินคริปโตอย่างจริงจังก่อนก่อตั้ง Chainalysis ในนิวยอร์ก

หลังจากนั้นบริษัทได้รับการว่าจ้างให้ไขคดีดัง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคริปโตมาตลอด เช่น คดี Silk Road ที่ช่วยกู้เงินกว่า 1 พันล้านเหรียญกลับคืนมาจากตลาดมืด หรือคดี Lazarus แก๊งแฮกเกอร์และฟอกเงินจากเกาหลีเหนือ

Chainalysis รายงานว่า มูลค่าธุรกรรมคริปโตผิดกฎหมายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2021 ด้วยตัวเลขความเสียหายถึง 1.4 หมื่นล้านเหรียญ แต่ยังดีที่ธุรกรรมเถื่อนเหล่านี้คิดเป็นสัดส่วนแค่ 0.15% ของธุรกรรมคริปโตทั้งหมด

บริษัททำหน้าที่รวบรวมข้อมูลมหาศาล ที่เกี่ยวข้องกับบล็อกเชน ทั้งข้อมูลที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะอยู่แล้ว และข้อมูลที่บริษัทซื้อมาจากแหล่งอื่น และใช้เทคโนโลยีเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก ก่อนจะประมวลผลเพื่อสร้างแผนที่เส้นทางของธุรกรรมต่าง ๆ

นอกจากช่วยหน่วยงานรัฐสืบคดีต่าง ๆ แล้ว Chainalysis ยังมีบริการ Know Your Transaction (KYT) สำหรับเอกชน เพื่อช่วยมอนิเตอร์ธุรกรรมต่าง ๆ แบบเรียลไทม์ด้วย โดยบริษัทมีอัตราการเติบโตสูงสุดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และมีสำนักงานทั้งในออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเกาหลี

แต่บริการของ Chainalysis ก็ทำให้คนที่เชื่อมั่นในธุรกรรมคริปโตหวั่นวิตกว่า “ภาวะนิรนาม” ซึ่งเป็นคุณสมบัติหลักของการทำธุรกรรมบนบล็อกเชนกำลังถูกทำลาย

โรเจอร์ เวอร์ หนึ่งในผู้สนับสนุนคริปโตรุ่นแรก ๆ จนได้ฉายาว่าเป็น “พระเยซูแห่งบิตคอยน์” บอกว่า สิ่งที่ Chainalysis นั้นน่ากลัวมาก เพราะมันหมายความว่าบริษัทสามารถเข้ามาส่องดู หรือแกะรอยธุรกรรมต่าง ๆ บนบล็อกเชนได้

แต่ ไมเคิล ผู้ก่อตั้ง Chainalysis แย้งว่า การช่วยทลายแหล่งอาชญากรไซเบอร์เป็นการช่วยกู้ชื่อเสียงคริปโตกลับคืนมาต่างหาก เพราะมันทำให้อุตสาหกรรมมีความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น และสามารถเติบโตต่อไปอย่างยั่งยืน

ทุกวันนี้ความเห็นที่คนในอุตสาหกรรมมีต่อ Chainalysis ก็ยังคงแบ่งเป็น 2 ขั้ว ด้านหนึ่งมองว่าบริการของ Chainalysis เป็นสิ่งจำเป็นในโลกปัจจุบันที่แฮกเกอร์มีความเก่งกาจมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่อีกขั้วหนึ่งมองว่า บริษัทกำลังทำลายความน่าเชื่อถือของระบบบล็อกเชนมากกว่า

ไม่ว่าจะมองอย่างไร Chainalysis ได้กลายเป็นสตาร์ตอัพ Blockchain Analytics อันดับต้น ๆ ของโลกไปแล้ว และล่าสุดมีมูลค่ากว่า 8.6 พันล้านเหรียญ หลังการระดมทุนรอบล่าสุดที่มี GIC หน่วยงานลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์เป็นนักลงทุนหลัก