ดันฝนทิ้งทะเลแก้น้ำท่วม ภัยแล้ง…ดูดน้ำทะเลกลั่นน้ำจืด ?

คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : กฤษณา ไพฑูรย์

การเผชิญปัญหาน้ำท่วมในย่านพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญหลายหัวเมืองในช่วงเดือนที่ผ่านมา เช่น ภูเก็ต, ระยอง, ชลบุรี, จันทบุรี, ชัยภูมิ, ลำปาง ฯลฯ ถือเป็นปัญหาใหญ่ปีนี้น้ำฝนส่วนใหญ่ตกลงมาท้ายเขื่อน และมีปริมาณฝนสูงสุดเฉลี่ย 100-200 มิลลิเมตรอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ผู้บริหารหน่วยราชการท้องถิ่นหลายคนยอมรับว่า การเติบโตขยายตัวของชุมชนเมือง เป็นหนึ่งในปัญหาต้นตอ เนื่องจากไม่มีการจัดการด้านผังเมือง

ทำให้มีการถมพื้นที่ลุ่มต่ำหรือพื้นที่แก้มลิง ที่เป็นพื้นที่รองรับน้ำ ไปทำหมู่บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม รวมถึงการถมคูคลอง ปิดทางไหลของน้ำ ไม่มีทางระบาย ส่งผลให้เกิดภาพน้ำท่วมล้นเข้าใต้อาคารหลายแห่ง ดังที่เห็นภาพของรถยนต์หลายสิบคันถูกน้ำท่วมตั้งแต่ระดับล้อ ระดับครึ่งคัน หรือบางพื้นที่เกือบมิดหลังคา

หรือแม้แต่การถมพื้นที่เพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมในบางจังหวัด เดิมพื้นที่บริเวณดังกล่าวบางแห่งเป็นพื้นที่นา เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำรองรับน้ำ แต่ที่ผ่านมาถูกถมสร้างเป็นนิคมอุตสาหกรรม ทำให้หน่วยราชการต้องปิดประตูเบี่ยงทางไหลของน้ำไปยังพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน เพื่อปกป้องพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม

ทำให้ชาวบ้านที่อยู่อาศัยริมน้ำดั้งเดิมตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ซึ่งสร้างบ้านยกใต้ถุนสูงไว้รองรับน้ำท่วมในฤดูฝนที่มีน้ำไหลหลากอยู่แล้ว ต้องเผชิญปัญหาน้ำท่วมสูงซ้ำซากอย่างผิดวิสัยจากในอดีต

เหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นหลายหน่วยงานตั้งรับไม่ทัน เพราะแผนเดิมที่วางไว้ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมน้อยกว่าปริมาณน้ำที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้า ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์พายุใหญ่ 2 ลูกที่อาจจ่อเข้าประเทศไทยในช่วงเดือนตุลาคม

โดยโจทย์ที่ทุกจังหวัดตั้งในการแก้ปัญหาระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เหมือนกันตอนนี้คือ ทำอย่างไรจะเร่งผลักดัน “น้ำจืด” ออกจากพื้นที่เมืองหลัก ระบายน้ำลงแม่น้ำลำคลอง ลงทะเลให้ได้เร็วที่สุด

แต่มีการฉุกคิดกันสักนิดหรือไม่ว่า ทำอย่างไรที่จะเก็บน้ำไว้ใช้ยามขาดแคลน ?

โดยไม่ต้องแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างในอดีตที่ผ่านมา อย่างภูเก็ต พัทยา เคยต้องไปจ้างบริษัทนำ “น้ำทะเล” แสนเค็ม มากลั่นเป็น “น้ำจืด” ด้วยต้นทุนค่าดำเนินการมหาศาล

แม้แต่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี เคยวางแผนจะใช้เงินมหาศาล เพื่อซื้อน้ำจาก “เขื่อนสตึงมนัม” กัมพูชาต่อท่อเข้ามา เพื่อรองรับการใช้น้ำในอีอีซีอีก 10 ปีข้างหน้า

ดูตัวอย่างญี่ปุ่นเมืองที่เป็นเกาะ มีแผนเก็บน้ำจืดทุกหยดด้วยการทำเขื่อนใต้ดินกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้ง และทำท่อกระจายส่งไปใช้ทั่วเมือง

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เราสูญเสียเงินให้ข้าราชการบินไปดูงานด้านการบริหารจัดการน้ำกันทั่วโลกมาก็หลายครั้ง

คิดกันบ้างหรือไม่ หากสภาพอากาศแปรปรวนที่เกิดขึ้นทั่วโลก อากาศวิปริตขึ้นเรื่อย ๆ ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา หิมะตกในทะเลทรายซาฮารา ทวีปแอฟริกา แม้แต่การเผชิญพายุไต้ฝุ่นใหญ่ “นันมาดอล” ของประเทศญี่ปุ่น ฯลฯ

วันหนึ่งในอนาคตหากฝนไม่ตกลงมา เกิดภาวะแห้งแล้ง “น้ำ” ซึ่งเป็นปัจจัย 4 ในการหล่อเลี้ยงชีวิตของสรรพสิ่งจะทำอย่างไร วันนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาคิดกันสักนิดหรือไม่ จะทำอย่างไรในการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบให้ดีกว่านี้