“อีวี” ยังไม่ใช่เวลา

อีวี ยังไม่ใช่เวลา
คอลัมน์​: ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : อมร พวงงาม

แม้โตโยต้า ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลก วางแผนลงทุน 70 พันล้านดอลลาร์กับอุตฯรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในอีก 9 ปีข้างหน้า

โดยครึ่งหนึ่งเป็นการลงทุนแบตเตอรี่ไฟฟ้าทั้งหมด

แต่ก็มีคนตั้งข้อสังเกตว่า ยังดูแผ่วกว่าแผนของคู่แข่งบางราย ไม่ว่าจะเป็นโฟล์กสวาเก้น หรือเจเนอรัลมอเตอร์ส

และยิ่งชัดเจนมากขึ้น เมื่อประธานใหญ่ “อากิโกะ โตโยดะ” กล่าวบนเวทีการประชุมตัวแทนจำหน่ายประจำปีของโตโยต้า ในลาสเวกัสเมื่อต้นเดือนที่ผ่านว่า

เป้าหมายของบริษัทยังคงเหมือนเดิม คือเน้นความพึงพอใจให้กับลูกค้าในวงกว้าง

เพราะฉะนั้น กลุ่มรถไฮบริดและปลั๊ก-อินไฮบริด เช่น Prius, รถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน เช่น Mirai และแบตเตอรี่ไฟฟ้าทั้งหมด 15 รุ่น

ยังสามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าภายในปี 2568 นี้ได้สบาย ๆ

เขาไม่เชื่อว่ารถยนต์ไฟฟ้าเพียวๆ จะถูกนำมาใช้อย่างรวดเร็ว

ด้วยเหตุผลสนับสนุน ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ราคา และวิธีที่ลูกค้าเลือกแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค เป็นตัวอย่างของอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น

และสิ่งที่สำคัญคือ การขาดแคลนอย่างมากของลิเทียมและนิกเกิลที่ใช้ผลิตแบตเตอรี่ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ซึ่งนำไปสู่ปัญหาด้านการผลิตและซัพพลายเชน

แม้ว่าเป้าหมายของโตโยต้า คือต้องการปล่อยคาร์บอนให้เป็นกลางภายในปี 2050

แต่นั่นก็ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนทุกอย่างเป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดเท่านั้น

มีข้อมูลล่าสุดว่า นับตั้งแต่ Prius เปิดตัวในปี 1997 โตโยต้ามียอดขายรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามากกว่า 20 ล้านคันทั่วโลก

สามารถหลีกเลี่ยงการปล่อย CO2 ได้ถึง 160 ล้านตัน ซึ่งเทียบเท่ากับรถยนต์แบตเตอรี่ไฟฟ้าทั้งหมด 5.5 ล้านคัน

จำได้ว่ามีนักวิชาการหลายคนพูดถึงการที่โตโยต้ายังไม่ตัดสินใจเข้าสู่ตลาดอีวี

โดยเฉพาะ สุรินทร์ เจนพิทยา เคยเขียนลงกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ เหตุผลหลัก 4-5 ข้อ

ข้อแรก รถไฟฟ้าไม่ได้รักโลกจริง ประธาน “อาคิโอะ โตโยดะ” มองว่า ยิ่งผลิตรถไฟฟ้าออกมามากขึ้นเท่าใด เราก็ต้องใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้นเท่านั้น

และพลังงานที่ว่านี้ก็มาจากถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ อันเป็นตัวเร่งภาวะโลกร้อน

ข้อสอง โครงสร้างพื้นฐานรถไฟฟ้าเสี่ยงภัยพิบัติและลงทุนสูง เขายกตัวอย่างในญี่ปุ่น หากผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอสำหรับรถอีวีทุกคัน

จะต้องใช้งบลงทุนสูงถึง 3.6-9.5 ล้านล้านบาท ด้วยเหตุนี้ทางประธานโตโยดะ จึงมองรถแบบไฮบริดแทน เพื่อกระจายความเสี่ยงมาอยู่ที่เชื้อเพลิงด้วย

ข้อสาม วัตถุดิบแบตเตอรี่ EV ต่อไปจะขาดแคลน โดยเฉพาะ 1.ลิเทียม 2.โคบอลต์ 3.นิกเกิล เหล่านี้เป็น “แร่ที่มีจำกัดและหมดไปได้”

และข้อสุดท้าย โตโยต้าไม่ต้องการแข่งขันในสนามที่เป็นแค่ Red Ocean ดังนั้น โตโยต้าจึงหันมาลงตลาด Blue Ocean แทนที่ยังไม่ค่อยมีใครรู้จักกันอย่าง “รถไฮโดรเจน”

ซึ่งตอนนี้รถไฮโดรเจนในตลาดปัจจุบันมีเพียง 2 เจ้าหลักคือ Toyota Mirai และ Hyundai Nexo

และประธานโตโยดะเคยประกาศว่า ในปีนี้ 2022 โตโยต้าจะเพิ่มการทุ่มพัฒนาถังเชื้อเพลิงไฮโดรเจนให้มีขนาดเล็กลงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น


ใครที่กำลังรอรถอีวี จากแบรนด์โตโยต้า อาจจะต้องเผื่อใจไว้บ้าง