จุดอ่อนตลาดหุ้นไทย

ตลาดหุ้น
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : อำนาจ ประชาชาติ

เคสหุ้น MORE หรือบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) ที่กำลังร้อนแรงอยู่ในขณะนี้

สะท้อนว่าตลาดหุ้นไทยยังมี “จุดอ่อน”

เป็นจุดอ่อนที่ทำให้มีผู้ที่คิดไม่ดีเข้ามาหาช่องว่าง แสวงหาผลประโยชน์แบบ “ไม่ตรงไปตรงมา” ได้

โดยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการตรวจสอบของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) คือหุ้น MORE มีการซื้อขายอย่างผิดปกติ ตั้งแต่วันที่ 10 พ.ย. 2565

ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นอย่างร้อนแรงตั้งแต่เปิดตลาด +4.3% จากราคาปิดวันก่อนหน้า

มูลค่าการซื้อขายวันนั้นก็สูงถึง 7,143 ล้านบาท จากค่าเฉลี่ย 30 วันก่อนหน้าที่อยู่แค่ 360 ล้านบาทต่อวัน

โดยเฉพาะช่วงเปิดตลาด มีปริมาณการซื้อขายสูงถึง 1,500 ล้านหุ้น มูลค่าเกือบ 4,300 ล้านบาท

สิ่งที่ดูแล้วผิดปกติก็คือ มีการส่งคำสั่งซื้อจากผู้ซื้อเพียง “รายเดียว” ผ่านโบรกเกอร์หลายแห่งที่ราคา 2.90 บาท ส่วนคำสั่งขายมีมาจากหลายราย ที่ระดับราคาใกล้เคียงกับราคาเสนอซื้อ ตั้งแต่ 70 ล้านหุ้นต่อราย จนถึงราว 600 ล้านหุ้นต่อราย

และทันทีที่เปิดตลาด เกิดการจับคู่ซื้อขายกับผู้ขายหลายราย ผ่านโบรกเกอร์หลายแห่ง จากนั้นไม่ถึง 20 นาทีหลังเปิดตลาด ราคาหุ้นก็ดิ่งลงจนไปต่ำสุด หรือติด floor ที่ราคา 1.95 บาท

ต่อมาวันที่ 11 พ.ย. เปิดตลาดปุ๊บ หุ้น MORE ก็ติด floor ทันทีที่ราคา 1.37 บาท ขณะที่การซื้อขายลดลงเหลือแค่ 134 ล้านบาทเท่านั้น

เหตุการณ์ครั้งนี้ถูกเหล่ากูรูในตลาดหุ้นเรียกว่า “ปฏิบัติการปล้นโบรกฯ”

จากที่มีการปั่นวงเงินมาร์จิ้นขึ้นไปสูงระดับหลายพันล้านบาท โดยมีโบรกฯที่เข้ามาเกี่ยวมากกว่า 10 แห่ง แต่ละโบรกฯ มียอดตั้งแต่ระดับใกล้ ๆ 100 ล้านบาท ไปจนถึงกว่า 1,000 ล้านบาท

ซึ่งจะต้องมีการชำระค่าหุ้นกันในวันจันทร์ที่ 14 พ.ย. นั่นทำให้เหล่าบรรดาโบรกเกอร์นั่งกันไม่ติด เพราะ “เดาออก” แล้วว่าจะถูก “เบี้ยวค่าหุ้น” และโบรกฯจะต้องรับภาระการชำระเอง

โชคดีที่เหตุการณ์เกิดขึ้นปลายสัปดาห์ วันพฤหัสบดี ต่อเนื่องถึงวันศุกร์ ทำให้ทั้งโบรกเกอร์และผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ มีเวลาตั้งตัว หาทางรับมือ

มีการดึงหน่วยงานอย่างสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เข้ามาร่วมตรวจสอบ

ซึ่งสุดท้ายแล้ว สำหรับเคสนี้คงจัดการกับผู้กระทำผิดได้ไม่ยากนัก

ขณะที่บรรดาโบรกเกอร์ทั้งหลายก็คงจะได้รับบทเรียน และต่อไปคงจะเข้มงวดการปล่อยมาร์จิ้นให้กับหุ้นที่ไม่ได้มีพื้นฐานดีมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานกำกับดูแลเอง ก็คงต้องมีการปรับปรุงมาตรการกำกับดูแล เพื่อปิดช่องป้องกันการเข้ามาหาประโยชน์ลักษณะนี้ หรือลักษณะอื่น ๆ อย่างพวกหุ้นปั่น หรือบรรดาหุ้นสตอรี่ต่าง ๆ ด้วย

ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของตลาดทุนไทย ว่าทำอย่างไร มาตรการจะช่วยหยุดความเสียหายได้อย่าง “ทันการณ์”


เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อตลาดทุนไทยให้มีมากขึ้นต่อไป