เศรษฐา ทวีสิน : ถึงเวลาของ เมืองท่องเที่ยวรอง แล้วหรือยัง ?

ท่องเที่ยวเมืองรอง
คอลัมน์ : คิดไปข้างหน้า
ผู้เขียน : เศรษฐา ทวีสิน

อ่านข่าวช่วงปลายปีถึงมุมมองของนักวิเคราะห์ นักเศรษฐศาสตร์หลาย ๆ ราย บ้างก็ว่าจะเป็นปี “เผาจริง” บ้างก็ว่าเศรษฐกิจจะกระเตื้องขึ้น ก็ยังเป็นอะไรที่ท้าทายสำหรับทุกฝ่าย แต่ที่แน่ ๆ ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกถดถอย การส่งออกชะลอตัว

ภาคธุรกิจที่จะช่วยดัน GDP ของประเทศไทยในระยะสั้นก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของการท่องเที่ยว ซึ่งนับว่าเริ่มกระเตื้องขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หลังจากที่วิกฤตโควิดซาลงไป และเชื่อว่าจะขยับสูงขึ้นอีกหลังจากที่จีนประกาศเปิดประเทศ และนักท่องเที่ยวจากจีนหลั่งไหลเข้ามาประเทศไทย ยิ่งถ้าไม่มีเรื่องของการบังคับตรวจผลโควิดก่อนเดินทางเข้าประเทศ ก็ยิ่งเอื้อกับการเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีนมากขึ้น

แต่ถ้าย้อนภาพกลับไปดูช่วงก่อนวิกฤตโควิด จะเห็นได้ว่าแม้รายได้จากการท่องเที่ยวจะดูสูง แต่ในความจริงแล้วต้องยอมรับว่าการท่องเที่ยวไทยเกิดความเหลื่อมล้ำในเชิงพื้นที่ มีเพียง 15 จังหวัดหลัก ๆ ที่นักท่องเที่ยวและรายได้กว่า 80% กระจุกตัวอยู่ ซึ่งก็คือจังหวัดใหญ่ ๆ อย่างเช่น กรุงเทพฯ ชลบุรี เชียงใหม่ ภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี เท่านั้น

สิ่งจำเป็นในช่วงวิกฤตโควิดก็คือ เราต้องสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวไทยให้มาชดเชยการหดตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ดังนั้น เรียกได้ว่าในวิกฤตก็มีโอกาสของการผลักดันการท่องเที่ยวในเมืองรองให้เติบโต ซึ่งตัวเลขการวิเคราะห์จากแพลตฟอร์มอย่าง Facebook ที่จับการเคลื่อนที่ของผู้ใช้งานบ่งบอกว่ามีการกระจายไปยังเมืองรองมากขึ้น

และตัวเลขที่บอกว่า 30% นักท่องเที่ยวไทยเลือกที่จะเดินทางไปเมืองรองในช่วงครึ่งปีแรกของ 2565 ก็สะท้อนได้ว่านักท่องเที่ยวเริ่มมองหาประสบการณ์แปลกใหม่ เอกลักษณ์ท้องถิ่นที่แปลกออกไปจากเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมเดิม ๆ อีกทั้งยังตอบโจทย์เรื่องค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับเมืองหลักในภูมิภาคเดียวกันด้วย จากที่ติดตามข่าว คิดว่าภาครัฐก็เริ่มเห็นความสำคัญของการสนับสนุนการท่องเที่ยวเมืองรอง และเริ่มเห็นภาคเอกชนออกมาสนับสนุน

ซึ่งเรื่องหนึ่งที่สำคัญและหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะเห็นตรงกันก็คือ ยุทธศาสตร์ที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง ไม่เหมือนกับเมืองหลัก ควรแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เนื่องด้วยเมืองรองเหล่านี้มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวที่ต่างกัน มีโครงสร้างพื้นฐานที่อาจจะยังไม่เทียบเท่าเมืองหลัก ทั้งเรื่องของการเดินทาง มาตรฐานที่พัก ฯลฯ

ซึ่งผมเจอข่าวเกี่ยวกับข้อมูลที่เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่รายหนึ่งร่วมมือกับภาครัฐทำออกมาเมื่อปีที่แล้ว (จับวัดจากการเคลื่อนที่ของผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่) ให้ข้อมูลและแนะนำแนวทางที่เป็นประโยชน์น่าสนใจมาก โดยมีการแจกแจงถึงกลุ่มจังหวัดรองที่มีศักยภาพ การกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวในเวลากลางวัน กลางคืน ฯลฯ ทำให้สามารถแจกแจงโอกาสในการสร้างรูปแบบการท่องเที่ยวเมืองรองได้อย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นแบบค้างคืน แบบไปกลับเช้าเย็น หรือการเยือนกลุ่มจังหวัดใกล้เคียงกันในทริปเดียว

ทั้งกรณีข้อมูลจาก Facebook และเครือข่ายโทรศัพท์ที่ผมพูดถึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของความร่วมมือของภาคเอกชนและรัฐในการปูพื้นฐานสนับสนุนการท่องเที่ยวเมืองรอง เราได้เห็นข้อมูลอินไซด์บางอย่างที่แพลตฟอร์มดิจิทัลสามารถชี้นำนโยบายได้อย่างชัดเจนและรวดเร็ว ซึ่งสิ่งที่ต้องบริหารจัดการอย่างเร่งด่วนตามมาก็คือ การสร้าง “ท่อส่ง” ที่จะเอื้อให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติที่เริ่มกลับมาสามารถเข้าถึงเมืองรองเหล่านี้ได้ง่าย

การส่งต่อนักท่องเที่ยวจากเมืองหลักไปยังเมืองรองรอบ ๆ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่จะสามารถกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวได้ง่าย เร็ว แต่เนื่องด้วยบางเมืองรองอาจยังมีโครงสร้างด้านที่พักค้างคืนไม่เพียงพอ ดังนั้น การเดินทางเช้าเย็นกลับจากเมืองหลักก็เป็นตัวเลือกหนึ่ง ระบบขนส่งระหว่างจังหวัดเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราต้องให้ความสำคัญสถานีรถไฟ สัมปทานเดินรถระหว่างจังหวัด เรื่องเหล่านี้ต้องหยิบมาปัดฝุ่นกันใหม่ เพราะถ้าหากจะรอให้โครงสร้างด้านที่พักของเมืองรองเติบโตเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวอาจจะไม่ทันการณ์

หวังว่านโยบายการสนับสนุนการท่องเที่ยวเมืองรองจะมีการดำเนินการอย่างจริงจังและเป็นแผนระยะยาว เพราะอย่าลืมว่านอกจากเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในภาพรวมแล้ว ยังมีส่วนในการช่วยกระจายรายได้จากการท่องเที่ยว ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในเชิงท้องที่และภูมิภาคได้ทางอ้อมด้วยครับ