บทบรรณาธิการ : PM 2.5 ต้องแก้ที่แหล่งกำเนิดฝุ่น

PM2.5
Photo by Jack TAYLOR / AFP
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ได้หวนกลับมาเป็นปัญหาทางด้านสุขอนามัยของคนไทยอีกแล้ว จากการรายงานคุณภาพอากาศเฉพาะพื้นที่ กรุงเทพมหานคร พบฝุ่น PM 2.5 เกินกว่าค่ามาตรฐาน ในหลายเขตสำคัญเกินกว่า 100 ไมโครกรัม/ลบ.ม.ใน 24 ชม. รวมไปถึงหลายพื้นที่ในจังหวัดสำคัญของประเทศล้วนแล้วแต่อยู่ในระดับสีแดง หรือมีผลกระทบต่อสุขภาพทั้งสิ้น

ค่าฝุ่น PM 2.5 ที่เกินกว่าค่ามาตรฐานดังกล่าว เฉพาะในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร ต้นตอสำคัญมาจากรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลที่ก่อให้เกิดฝุ่นมลพิษ ขณะที่เมืองชายแดนมีปัจจัยสำคัญมาจากการเผาในที่โล่ง รวมไปถึงการเผาที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ไม่ใช่ปัญหาที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดมาอย่างน้อยตั้งแต่ปี 2560 ที่ผู้คนเริ่มตระหนักถึงพิษภัยของฝุ่นมลพิษ และถูกยกระดับความสำคัญขึ้นมาเป็น “วาระแห่งชาติ” ในปี 2562

ตามมาด้วย แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองของกรมควบคุมมลพิษ โดยครอบคลุมทั้งระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง และระยะยาว ตั้งแต่ปี 2562 จนกระทั่งถึงปี 2567

ตามแผนประเทศไทยจะต้องอยู่ในช่วงของการแก้ไขปัญหาระยะยาว (2565-2567) นั่นหมายถึง ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จะต้องดีขึ้น ทว่าข้อเท็จจริงกลับไม่ได้เป็นไปเช่นนั้น และดูเหมือนว่าจะทวีความรุนแรงขึ้น

กลายมาเป็นคำถามที่สะท้อนกลับไปยังแผนปฏิบัติการการแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ถูกดำเนินการไปมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การป้องกันและลดการเกิดฝุ่น PM 2.5 ที่ต้นทาง หรือที่แหล่งกำเนิดฝุ่น

อาทิ เมื่อลดจำนวนรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลลงไม่ได้ ทำไมถึงไม่รีบบังคับใช้ให้มีการนําน้ำมันเชื้อเพลิงมีกํามะถันไม่เกิน 10 ppm มาใช้ในกรุงเทพมหานคร และกำหนดใช้ทั่วประเทศ หรือมาตรการบังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษจากรถยนต์ใหม่ Euro 6 จากปัจจุบันที่ยังเป็นมาตรฐาน Euro 4

หรือการลดจุดความร้อนที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองในที่โล่ง แม้จะไม่สามารถควบคุมการเผาในที่โล่งข้ามแดน แต่สามารถบังคับไม่ให้มีการเผาไร่อ้อย ร้อยละ 100 ในประเทศได้ทันที โดยมาตรการเหล่านี้แท้จริงแล้วได้ถูกบรรจุไว้ในแผนระยะเร่งด่วนและระยะปานปลาง แต่แทบไม่มีผลในทางปฏิบัติมาตั้งแต่ปี 2562 จนกลายมาเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ฝุ่นมลพิษ ที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี


ดังนั้นการแก้ไขปัญหาเมื่อถึงฤดูกาลฝุ่น PM 2.5 ด้วยการประกาศยกระดับมาตรการป้องกันที่กระทำกันอยู่ในปัจจุบันจึงเป็นเรื่องปลายเหตุ และจะเป็นปัญหาเรื้อรังต่อไป ตราบเท่าที่ต้นตอที่แท้จริงของแหล่งกำเนิดฝุ่นไม่ได้รับการแก้ไข