บทบรรณาธิการ : ต้องไม่ผูกขาดท่อส่งน้ำอีอีซี

ท่อส่งน้ำอีอีซี
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

การลงนามในสัญญาโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก หรือโครงการบริหารท่อส่งน้ำ EEC ระหว่าง กรมธนารักษ์ กับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง ผู้ชนะประมูลในเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ด้านหนึ่งเป็นการสร้างปรากฏการณ์ใหม่ในการบริหารจัดการท่อส่งน้ำสายหลักใน EEC ให้เกิดการแข่งขันในการให้บริการ แต่อีกด้านหนึ่งก็สร้างความกังวลในการจัดการ “น้ำ” ที่จะต้องถูกส่งต่อถึงผู้ใช้ทั้งในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม

เป็นที่ทราบกันดีว่า ระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ซึ่งประกอบไปด้วย โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ โครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) กับ โครงการท่อส่งน้ำดอกกราย

มีผู้บริหารและดำเนินกิจการรายเดิม ได้แก่ บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก หรือ อีสท์วอเตอร์ ขณะที่ผู้ชนะประมูลรายใหม่ ได้แก่ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง ซึ่งจะต้องเข้ามาดำเนินการแทน อีสท์วอเตอร์

หลังการลงนามในสัญญาอายุ 30 ปีกับ กรมธนารักษ์บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จะต้องชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้ กรมธนารักษ์ ตลอดอายุสัญญา เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 25,693.08 ล้านบาท ผลประโยชน์ตอบแทนรายปี (fixed fee) รวมตลอดอายุสัญญาเป็นเงิน 2,908.03 ล้านบาท

และยังมีส่วนแบ่งรายได้รายปี (revenue sharing) จากการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ในอัตราร้อยละ 27 ต่อปีของรายได้รวมตลอดอายุสัญญา รวมเป็นเงิน 21,335.19 ล้านบาท

ด้านอัตราค่าน้ำที่ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จะขายให้กับประชาชนได้รับการยืนยันว่า บริษัทจะขายน้ำให้ การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ในอัตรา 9.50 บาท/ลบ.ม. ตลอดสัญญา 30 ปี โดยไม่มีสูตรขึ้นค่าน้ำอะไรทั้งสิ้น เว้นแต่ กรมชลประทาน จะปรับอัตราเรียกเก็บค่าน้ำ หรือมีการปรับเพิ่มอัตราค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

ส่วนอัตราค่าน้ำที่บริษัทจะจำหน่ายให้กับภาคอุตสาหกรรมก็จะอยู่ที่ไม่เกิน 12.46 บาท/ลบ.ม. ซึ่งทั้ง 2 อัตรานี้ล้วน “ต่ำกว่า” อัตราปัจจุบันที่เสียค่าน้ำกันอยู่ระหว่างอัตราที่ขายให้ กปภ. 9.90 บาท/ลบ.ม. กับค่าน้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรมอยู่ระหว่าง 11-26 บาท/ลบ.ม.

สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า การแข่งขันอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมโดยไม่ยอมให้เกิดการผูกขาด ในกรณีของท่อส่งน้ำภาคตะวันออกจะก่อให้เกิดผลดีทั้ง 2 ฝ่าย ด้านหนึ่งผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมจะได้ประโยชน์จากการบริการด้วยค่าน้ำที่ถูกลง อีกด้านหนึ่ง กรมธนารักษ์ ในฐานะผู้ให้เช่าก็จะได้รับค่าผลประโยชน์ตอบแทนสูงขึ้นเช่นกัน