บทบรรณาธิการ : การคำนวณค่าไฟฟ้าอัตโนมัติของ กกพ.

ค่าไฟฟ้า
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือค่า Ft ขายปลีกสำหรับเรียกเก็บในงวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 (งวดที่ 2/2566) เท่ากับ 98.27 สตางค์/หน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.77 บาท/หน่วย

กกพ.ได้แจ้งว่า ค่า Ft ที่ปรับขึ้นไปเป็น 98.27 สตางค์/หน่วยนั้น มาจากการรับฟังความคิดเห็น 3 กรณี ภายใต้หลักการประมาณการงวดค่า Ft งวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 กับแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงจากการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ยอมแบกรับภาระต้นทุนมาตลอดปีที่ผ่านมา คิดเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท โดยกรณีที่ 1 ค่า Ft เรียกเก็บ 293.60 สตางค์/หน่วย คิดเป็นอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวม 6.72 บาท/หน่วย

กรณีที่ 2 ค่า Ft เรียกเก็บ 105.25 สตางค์/หน่วย คิดเป็นอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวม 4.84 บาท/หน่วย และกรณีที่ 3 ค่า Ft เรียกเก็บ 98.72 สตางค์/หน่วย คิดเป็นอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวม 4.77 บาท/หน่วย จากทั้ง 3 กรณีจะเห็นได้ว่า กกพ.ตัดสินใจเลือกกรณีที่ 3 ซึ่งเป็นการเรียกเก็บค่า Ft ที่ต่ำที่สุด เพื่อให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่จะเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้า “ไม่เกิน” ไปกว่า 5 บาท ตามที่รัฐบาลได้ส่งสัญญาณมาก่อนหน้านี้แล้ว

แต่การประกาศค่า Ft รอบใหม่นี้กลับสร้างความผิดหวังให้กับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม-บริการ สะท้อนผ่านมาจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จากข้อเท็จจริงที่ว่า การเก็บค่า Ft ครั้งนี้เป็นการเรียกเก็บในอัตราเดียวกันทั้งภาคที่อยู่อาศัย กับภาคอื่น ๆ นอกครัวเรือนหรือภาคอุตสาหกรรม

ซึ่งแตกต่างไปจากค่า Ft งวดที่ 1/2566 เดือนมกราคม-เมษายน 2566 ที่เรียกเก็บเป็น 2 อัตรา กล่าวคือ ภาคที่อยู่อาศัย 93.43 สตางค์/หน่วย ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 4.72 บาท/หน่วย กับภาคอุตสาหกรรม 194.44 สตางค์/หน่วย ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 5.69 บาท/หน่วย

เท่ากับการจ่ายค่าไฟฟ้าครั้งใหม่ของผู้อยู่อาศัยจะ “แพงกว่าเดิม” 5 สตางค์/หน่วย ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมจ่ายค่าไฟฟ้าลดลง 92 สตางค์ จนกลายมาเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่า ใครต้องแบกรับภาระค่า Ft มากกว่ากันระหว่างผู้อยู่อาศัย หรือภาคอุตสาหกรรม

พร้อมกันนี้ ทางสภาอุตสาหกรรมฯเองยังตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมเข้ามาอีก ไม่ว่าจะเป็น “สมมุติฐาน” ต้นทุนราคาพลังงานโลก ค่าเงินบาท การรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น โครงการไฟฟ้าสีเขียวที่ต้องรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 5,203+3,668 MW ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่ถูกบวกเข้าไปในค่า Ft ทั้งสิ้น ยังไม่รวมภาระต้นทุนค่าผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.


ทั้งหมดจึงกลายมาเป็นคำถามสำคัญที่ กกพ.จะต้องอธิบายต่อสาธารณชนให้กระจ่างแจ้ง ก่อนที่จะเริ่มต้นคำนวณค่า Ft รอบใหม่ที่จะเกิดขึ้นในเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 งวดส่งท้ายของปีนี้