คนอ่านหนังสือมีเสน่ห์

งานมหกรรมหนังสือ
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : สาโรจน์ มณีรัตน์

ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 28 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-23 ตุลาคม 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่ไม่เพียงทำให้เหล่าบรรดาหนอนหนังสือต่างมาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง หากสำนักพิมพ์ต่าง ๆ ยังประสบความสำเร็จทางด้านยอดขายเป็นอย่างมาก

สำนักพิมพ์มติชนก็เช่นกัน

เพราะจากการสำรวจอันดับหนังสือขายดีประจำบูทมติชน ในวันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม 2566 ก่อนงานจะปิดตัวลงในวันที่ 23 ตุลาคม 2566 ปรากฏว่า 10 อันดับหนังสือขายดีมีดังนี้ คือ 1.Amidst the Geo-Political Conflicts สมรภูมิพลิกอำนาจโลก “ปิติ ศรีแสงนาม” และ “จักรี ไชยพินิจ” เขียน 2.ความหวังที่เคลื่อนไหว : โลกขวาๆ ซ้ายๆ และความท้าทายของประชาธิปไตย “ประจักษ์ ก้องกีรติ” เขียน

               

3.ข้างหลังภาพ 14 ตุลาฯ : จากระบอบปฏิวัติของเผด็จการสู่การปฏิวัติของประชาชน โดย “บัณทิต จันทร์โรจนกิจ” 4.สถาปัตย์-สถาปนา : การ(เมือง)ดีไซน์พื้นที่และความนัยสถาปัตยกรรม โดย “ชาตรี ประกิตนนทการ” 5.นิธิ เอียวศรีวงศ์ กับตาข่ายแห่งความทรงจำและนิยามประชาธิปไตย โดย “สายชล สัตยานุรักษ์”

6.โลกนี้ไม่มีใครที่ไร้ค่า โดย “หนุ่มเมืองจันท์” 7.สยามโมเดิร์นเกิร์ล “ภาวิณี บุนนาค” เขียน 8.กินไกลบ้าน : เรื่องเล่าขานร้านอาหารแปลก ๆ The Restaurant : A History of Eating Out โดย “วิลเลียม ซิตเวลล์” แปลโดย “ปิยบุตร หล่อไกรเลิศ” 9.กำศรวลพระยาศรี ณ เพ็ชรภูมิ เขียน และ 10.Amidst the New World Order ไทยในระเบียบโลกใหม่ “ปิติ ศรีแสงนาม” เขียน

กล่าวกันว่า หนังสือขายดีทั้ง 10 อันดับ ไม่เพียงจะเป็นหนังสือไฮไลต์ของสำนักพิมพ์มติชน หากยังเป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมตลอดมา นับจากเริ่มประชาสัมพันธ์ภายในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งนี้้ด้วย ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่บูท J47 ของสำนักพิมพ์มติชน จึงเต็มไปด้วยแฟนคลับมากมาย

ทางหนึ่ง เพื่อมาซื้อหนังสือที่ตัวเองอยากอ่าน อยากได้

ทางหนึ่ง เพื่อมาขอลายเซ็นนักเขียน นักแปลที่ตัวเองชื่นชอบด้วย

ดังนั้น ตลอด 12 วันผ่านมา จึงทำให้สำนักพิมพ์มติชนรู้สึกอิ่มใจเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะมีโอกาสเจอแฟนพันธุ์แท้ของสำนักพิมพ์ตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ หากยังทำให้แฟนานุแฟนเหล่านั้น ต่างเข้ามาสะท้อนกับทีมงานสำนักพิมพ์ด้วยว่า…พวกเขาชอบอ่านงานแบบไหน ?

และอยากให้เราพิมพ์หนังสือประเภทไหนออกมา ?

ซึ่งถือเป็นการพบปะกันระหว่าง “นักอ่าน” กับ “นักทำหนังสือ” รวมถึง “นักเขียน” และ “นักแปล” ด้วย เพราะทุกคนต่างนำประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนมุมมองกัน จนทำให้รู้สึกว่านับเป็นนิมิตหมายที่ดีที่เหล่าบรรดาหนอนหนังสือทุกรุ่นต่างกล้าเปิดใจที่จะพูดคุยอย่างตรงไปตรงมา

เพื่อสำนักพิมพ์จะได้พิมพ์หนังสือออกมาให้ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุด

ตลอดเวลา 12 วันของการจัดงานมหกรรมหนังสือฯ ผมมีความรู้สึกว่าปีนี้น่าคึกคักเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงหลัง ๆ ของการจัดงาน อาจเป็นเพราะเป็นช่วงวันหยุดยาวด้วยหรือเปล่า หรืออาจเป็นเพราะช่วงเวลาของการจัดงานไปตรงกับงานอื่น ๆ อีก 2-3 งาน จึงทำให้ผู้คนคึกคักเป็นพิเศษ

แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม ผมกลับมีความรู้สึกว่างานมหกรรมหนังสือฯ หรืองานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เป็นงานที่น่าสนใจ เป็นงานที่ทำให้รู้สึกว่าประเทศไทยเรายังมีความหวัง หากเยาวชนคนหนุ่มสาวยังอยากหาหนังสืออะไรไปอ่านก็ตาม เพราะการอ่านหนังสือไม่ว่าประเภทใด ล้วนทำให้ผู้อ่านคนนั้นมีเสน่ห์อย่างบอกไม่ถูก ผมคิดเช่นนั้นนะ

ไม่รู้คนอื่นคิดแบบนี้ด้วยหรือเปล่า (ฮา)