ทำลายกำแพงชนชั้น

กำแพงชนชั้น
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : สาโรจน์ มณีรัตน์

ทุกครั้งที่มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้บริหาร นอกจากผลกำไรที่เขาต้องการจะบอกเล่าให้ฟังแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ได้ยินพร้อม ๆ กันคือการพัฒนาคน เพราะ “คน” เป็นผู้สร้าง “ผลกำไร”

ทำไมถึงไม่ใช่โปรดักต์ ?

ทำไมถึงไม่ใช่กลยุทธ์ในการขาย ประชาสัมพันธ์ และการตลาด ? ซึ่งผู้บริหารส่วนใหญ่มักจะบอกว่าจริง ๆ ก็เกี่ยวข้องกันทั้งหมด เพียงแต่ทุกส่วนย่อยที่กล่าวมาล้วนมาจาก “คน” ทั้งสิ้น

“คน” เป็นผู้สร้างโปรดักต์ “คน” เป็นฝ่ายขาย “คน” เป็นประชาสัมพันธ์ และการตลาด

แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะทำให้ “คน” หรือ “พนักงาน” เหล่านั้นเชื่อได้อย่างไรว่าเขาเป็นบุคคลสำคัญ

คำถามตรงนี้ไม่ใช่ผมคนเดียวเท่านั้นที่คิด ผู้บริหารเหล่านั้นก็คิดเช่นเดียวกัน และเขาพยายามหาคำตอบว่าจะทำอย่างไรถึงจะให้พนักงานเหล่านั้นเชื่อว่าสิ่งที่เขาพูดคือความจริง อาจเพราะเราคุ้นชินกับคำพูดของนักการเมืองที่เชื่อถือไม่ได้เลย หรือคำพูดของผู้บริหารบางคนจากการลอยแพพนักงานในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 รวมถึงการเอาตัวรอดของผู้บริหารอีกหลายคนจากวิกฤตโควิด-19 ผ่านมา

ผมเคยถามผู้บริหารบางคนว่าจะทำอย่างไรถึงจะให้ “พนักงาน” เชื่อในคำพูดของคุณ ?

เขาตอบว่า อันดับแรกต้องทำลายกำแพงระหว่างชนชั้นออกให้ได้เสียก่อน เพราะคนเราส่วนใหญ่ชอบคิดไปเองว่าผมหัวหน้า คุณลูกน้อง, ผมอยู่ตำแหน่งสูงกว่าคุณ จนเกิดช่องว่างระหว่างชนชั้นขึ้นมา ยิ่งในระดับผู้บริหารระดับสูง กับพนักงานปฏิบัติด้วย ยิ่งห่างกันใหญ่ ดังนั้น ทางเดียวที่จะทำให้ช่องว่างระหว่างชนชั้นหายไปคือทำลายกำแพงลง

เมื่อทำลายกำแพงเสร็จ ช่องว่างระหว่างความรู้สึกจะหายไป ยิ่งถ้าเราใช้การจิบกาแฟยามเช้ากับพนักงาน หรือจิบชายามบ่ายกับพนักงานเพื่อแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน ยิ่งทำให้ความรู้สึกของพนักงานดีขึ้น แต่คุณต้องแสดงออกอย่างจริงใจนะ

ตรงนี้ไม่เพียงทำให้เรารับรู้ปัญหาของพนักงานโดยตรง ยังมีโอกาสหาทางช่วยเหลือพนักงานอีกทางหนึ่งด้วย สิ่งสำคัญต่อมาคือผู้บริหารต้องพูดถึงทิศทางของบริษัท, เป้าหมายการดำเนินธุรกิจ, ผลกำไร รวมไปถึงเส้นทางการเติบโตของพนักงาน

เพราะสิ่งเหล่านี้เสมือนเป็นแผนที่การดำเนินชีวิตให้พวกเขารู้ว่าต่อไปเราจะทำงานกันอย่างมีเป้าหมาย, มีทางเดินที่ชัดเจน ไม่ใช่เดินอย่างไม่มีความหวัง หรือความฝันใด ๆ เลย สิ่งสำคัญอีกอย่างคือการอบรม และพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในส่วนต่าง ๆ ตรงนี้ไม่เพียงจะช่วยเติมเต็มให้เขามีความแข็งแกร่งในวิชาชีพมากขึ้น

หากยังทำให้เขาเกิดการพัฒนาตัวเองทางอ้อมด้วย เพราะการพัฒนาไม่เพียงทำให้เขาเติบโตทั้งวิธีคิด ความคิด หากยังทำให้เขานำผลของการพัฒนาไปประยุกต์ใช้กับการดำเนินชีวิต และครอบครัวต่อไปในอนาคตด้วย

เมื่อทำทั้งหมดนี้สำเร็จ ทุกอย่างจะสะวิงกลับมาที่องค์กรเอง และถ้าองค์กรไหนมี “คน” หรือ “พนักงาน” เหล่านี้มากขึ้น ๆ เชื่อแน่ว่าความสำเร็จอย่างยั่งยืนก็จะเกิดขึ้นกับองค์กรของคุณ

ผมฟังแล้วรู้สึกดี

และรู้สึกว่าหากผู้บริหารในประเทศไทยมีความคิดเช่นนี้กันมาก ๆ เห็นทีเราคงมีอนาคตที่สดใสเหมือนกับอารยประเทศทั่วไป

ผมเชื่อเช่นนั้นนะ