คอลัมน์ : Smart SMEs ผู้เขียน : ดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
ปัจจุบันแนวคิด ESG กำลังได้รับการกล่าวถึงมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในหมู่นักลงทุน ผู้บริโภค และภาคธุรกิจในทุกระดับ โดยนักลงทุนให้ความสำคัญกับการลงทุนในธุรกิจที่มีการดำเนินงานที่คำนึงถึง ESG ผู้บริโภคก็ต้องการซื้อสินค้าและบริการจากธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม และภาคธุรกิจก็ตระหนักถึงความจำเป็นในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
ซึ่ง ESG ที่ย่อมาจาก environmental, social, and governance อันหมายถึง ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ธุรกิจที่คำนึงถึงปัจจัย ESG ย่อมมีการดำเนินงานที่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ขณะเดียวกัน ก็มีความโปร่งใสและรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
สำหรับ SMEs การดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG ย่อมเป็นโอกาสในการเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขัน ซึ่ง SMEs สามารถดำเนินการตามหลัก ESG ผ่าน 8 ขั้นตอน ดังนี้
1.เริ่มต้นด้วยธุรกิจจะต้องพิจารณาเลือกสนับสนุนบนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งเป็นกรอบทิศทางการพัฒนาของโลก ที่องค์การสหประชาชาติกําหนดขึ้น เพื่อให้ประชาคมโลกร่วมกันแก้ปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่ เช่น ความยากจน ความหิวโหย สุขภาพ การศึกษาเท่าเทียม ความเท่าเทียมทางเพศ การจัดการน้ำ พลังงานสะอาด การจ้างงาน โครงสร้างพื้นฐานและนวัตกรรม ความเหลื่อมล้ำ ความสันติสุข เป็นต้น
2.ทำการสำรวจการดำเนินการของธุรกิจในแต่ละวัน รวมถึงภาพรวมของกระบวนการธุรกิจ ที่เริ่มตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบไปจนถึงขั้นตอนสุดท้ายที่ส่งมอบสินค้าให้แก่ลูกค้า ว่าจุดไหนที่เกี่ยวข้องและ มีความพร้อม หรือศักยภาพเพียงพออย่างไรในการสนับสนุนเป้าหมายที่เลือกนั้น ๆ
3.แปลงเป้าหมายที่เลือกสู่เป้าหมายด้านตัวเลขที่วัดได้ มีความเป็นไปได้ บนกรอบเวลาที่ชัดเจน และมีการวางกลยุทธ์ รวมถึงการสร้างวัฒนธรรมองค์กร เพื่อบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนที่ได้กำหนดไว้
4.กำหนดบทบาทหน้าที่ชัดเจน โดยมีทีมงานที่รับผิดชอบตั้งแต่การวางแผน ปฏิบัติ ตรวจสอบ ปรับปรุง รวมทั้งมีการมอบอำนาจตามหน้าที่อย่างเหมาะสม อีกทั้งส่งเสริมให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วม
5.สื่อสารเกี่ยวกับแผนการดำเนินงานด้าน ESG ขององค์กร ให้แก่พนักงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกระดับ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร โดยผู้นำทุกระดับจะมีบทบาทสำคัญในการสื่อสารให้ทุกคนในองค์กรเข้าใจและมีเป้าหมายเดียวกัน
6.ให้ความสำคัญกับการจัดทำรายงานดำเนินงานด้าน ESG อันประกอบไปด้วย วัตถุประสงค์ของรายงานการประเมินและขอบเขตการประเมิน กล่าวถึงการดำเนินงานด้าน ESG ขององค์กรในแต่ละประเด็น บทสรุปผลการประเมินและข้อเสนอแนะ
7.มีการจัดทำรายงานการประเมินด้าน ESG เป็นประจำ ซึ่งจะช่วยให้องค์กรสามารถติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินงานด้าน ESG และปรับปรุงการดำเนินงานให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
8.สุดท้ายองค์กรต้องประเมิน ติดตาม และทบทวนความเสี่ยงด้าน ESG เพื่อระบุความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและประเมินผลกระทบ และบริหารความเสี่ยงด้าน ESG เพื่อลดความเสี่ยง หรือเพื่อเพิ่มโอกาสในการใช้ประโยชน์จากความเสี่ยงนั้น ๆ
การทำธุรกิจตามหลัก ESG ของ SMEs นั้น ต้องไม่มองว่าเป็นการปฏิบัติตามกฎระเบียบ แต่ต้องคำนึงถึงผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลอย่างแท้จริง โดย SMEs สามารถประยุกต์ใช้แนวทางต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับบริบทขององค์กรก็จะบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนได้ไม่ยาก