ออมสิน ตั้งเป้า Net Zero ปี 2050 ใช้ ESG Score จูงใจลดคาร์บอน

วิทัย รัตนากร
สัมภาษณ์

ปัจจุบัน ESG ได้กลายเป็นเรื่องที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสำคัญ เนื่องจากในการทำธุรกิจให้ยั่งยื่นจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบ 3 ด้าน คือ สิ่งแวดล้อม (environment) สังคม (social) และธรรมาภิบาล (governance) หลายองค์กรได้นำเรื่อง ESG เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาธุรกิจ

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “วิทัย รัตนากร” ผู้อำนวยการธนาคารออมสินถึงแผนการประกาศปักหมุด Net Zero ภายในปี 2050 และการใช้ ESG Score มาประเมินสินเชื่อเป็นธนาคารแรกของไทย

ปักหมุด Net Zero ปี 2050

วิทัยบอกว่า ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (COP27) เมื่อปี 2022 ประเทศไทยแสดงเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2065 และตั้งเป้าจะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 30-40% ในปี 2030

ขณะที่ธนาคารออมสินมีเป้าหมายประกาศปักหมุดทำแผน Net Zero Emissions Roadmap ให้เร็วขึ้นภายในปี 2050 ซึ่งคณะกรรมการธนาคารออมสินได้มีมติอนุมัติแล้ว แต่ถึงวันนั้นพวกเราเกษียณไปหมดแล้ว จึงต้องทำแผนให้ชัดเจน เพื่อให้ผลลัพธ์เกิดขึ้นจริง

กลยุทธ์สู่ Net Zero อันดับแรกได้ทำการประเมินจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก โดยคำนวณจากกิจกรรมต่าง ๆ ของธนาคาร พบปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งองค์กรรวมกัน 1.72 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ (tCO2e) แบ่งเป็น 3 ขอบเขต (Scope) ประกอบด้วย

Advertisment

Scope 1 : การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการเผาไหม้น้ำมัน/LPG พบปริมาณก๊าซเรือนกระจก 15,308 ล้าน tCO2e

Scope 2 : การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมที่เกิดจากการใช้ไฟฟ้า พบปริมาณก๊าซเรือนกระจก 32,194 ล้าน tCO2e

Scope 3 : การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมที่เกิดจากการให้สินเชื่อหรือลงทุน พบปริมาณก๊าซเรือนกระจก 1.68 ล้าน tCO2e

นับตั้งแต่วันนี้ปักหมุดตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกทั้ง 3 ขอบเขตให้ได้ 50% ภายในปี 2030 หรืออีก 7 ปีข้างหน้า โดยธนาคารต้องสนับสนุนเรื่องการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) สนับสนุนโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมปรับพอร์ตธนาคาร

Advertisment

การใช้พลังงานสะอาดภายในสาขาของธนาคารทั้งหมด 1,500 แห่ง ปีนี้มีการทยอยติดตั้งโซลาร์รูฟ 300 สาขา จัดซื้อจัดจ้างเรียบร้อย ปีหน้าเพิ่มเป็น 900 แห่ง ส่วนสาขาที่เหลือมีบางส่วนโครงสร้างไม่สามารถรับน้ำหนักได้ บางส่วนเป็นสาขาในห้าง และพื้นที่เช่าไม่สามารถทำได้ สำหรับเรื่องรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน ถ้าเป็นรถใน กทม.และปริมณฑล ภายใน 3 ปีมีเป้าหมายเปลี่ยนเป็นรถยนต์ EV ทั้งหมด ส่วนต่างจังหวัด ภายใน 5 ปี

อย่างไรก็ตาม การที่เราประกาศตัวเลขชัดเจน ผมเชื่อว่า เราเป็นผู้นำสถาบันการเงินท้องถิ่น หรือหากเทียบกับแบงก์พาณิชย์ที่ประกาศมาก่อน เราน่าจะอยู่ลำดับต้น ๆ และผมยังไม่เคยเห็นมีใครประกาศปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งองค์กรที่ชัดเจน ซึ่งต้องใช้เวลาทำตัวเลขเป็นปี ไม่ง่าย

ใช้ ESG Score ประเมินสินเชื่อแบงก์แรก

ในการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก Scope 3 พบว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการให้สินเชื่อหรือลงทุนมีถึง 1.68 ล้าน tCO2e หรือคิดเป็น 97% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของธนาคาร

ตัวเลขการปล่อยสินเชื่อของธนาคารออมสิน 35% เป็นส่วนของสินเชื่อโรงไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นสินเชื่อหลักของธนาคารออมสิน อยู่ในกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ซึ่งเป็น 1 ใน 4 กลุ่มที่เป็นลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของเรา ซึ่งเป็นตัวสร้างกำไร ตัวสร้างฐาน Portfolio ไปชดเชยกับงานด้านสังคม งานฐานราก ในปี 2030 ต้องเปลี่ยนเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด

ดังนั้น ปีนี้ธนาคารจึงต้องประกาศธุรกิจต้องห้าม (Exclusion List) ในส่วนของโรงไฟฟ้าที่ใช้ “ถ่านหิน” จากนี้ไปไม่มีการให้สินเชื่อหรือการลงทุนในธุรกิจถ่านหิน และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับถ่านหิน แต่ที่ผ่านมาธนาคารมีการปล่อยสินเชื่อโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่อยู่ 1 แห่งมานานแล้ว

หากปี 2030 ยังอยู่ต้องจำหน่ายออกไปขายทิ้งให้หมด เพราะปักหมุดว่า ในปี 2030 ต้องลดคาร์บอนให้ได้ไม่ต่ำกว่า 42% แต่ตอนนี้เราประเมินและเชื่อว่าลดได้ไม่ต่ำกว่า 62%

นอกจากนี้เครื่องมืออีกอันที่ทำให้เกิดแผน Net Zero มีความชัดเจนคือการใช้ ESG Score ซึ่งผมพัฒนามาตั้งแต่อยู่กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ใช้ประเมินบริษัทจดทะเบียนที่เราเข้าไปลงทุน ตอนนั้นที่ปรึกษาใช้บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของ World Bank มาช่วยทำ พอมาอยู่ธนาคารออมสินก็ปรับสินเชื่ออันนี้ให้เป็นขนาดใหญ่ก่อนในปีนี้ และในปี 2024 จะเริ่มเข้าไปดำเนินการในธุรกิจที่เข้าไปลงทุน และเริ่มไปที่ SME ขนาดใหญ่ที่เป็นซัพพลายเชน

การนำ ESG Score มาใช้เป็นโมเดลในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ที่สร้างผลกระทบเชิงบกต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม วงเงินมากกว่า 500 ล้านบาท โดยธนาคารจะเข้าไปประเมินลูกค้า โดยตั้งคำถามประมาณ 65-70 ข้อว่าธุรกิจนั้น ๆ มี ESG เป็นอย่างไร

โดยกำหนดจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1.ธุรกิจที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษ (Negative List) คือได้คะแนนประเมินสิ่งแวดล้อมไม่ดี ได้ประมาณ 0-2 คะแนน ธนาคารจะไม่ปล่อยสินเชื่อให้ แต่จะเข้าไปช่วยปรับให้จัดทำแผนและดำเนินการเรื่อง Net Zero เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับตัว ลดคาร์บอนลงมาให้ได้เพื่อให้คะแนนดีขึ้น

2.ธุรกิจที่ธนาคารสนับสนุน (Positive List) คือ ประเมินได้มากกว่า 2-7 คะแนน ธนาคารจะให้สินเชื่อ และหากได้สูงมากกว่า 8-10 คะแนนจะได้สินเชื่อ รวมถึงสิทธิประโยชน์ เช่น เพิ่มวงเงินสินเชื่อ ลดอัตราดอกเบี้ยพิเศษต่ำกว่าดอกเบี้ยปกติ

สำหรับธุรกิจ Positive List เช่น ที่มี BCG Score สูง, BCG Economy, EV Supply Chain, ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy), บริษัทที่กำหนดแผน Net Zero ในปี 2050, อาคารสีเขียว (Green Building), เทคโนโลยีดูดซับ และกักเก็บคาร์บอน (Clean tech) เช่น การทำโซลาร์รูฟ

ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคล เช่น ธุรกิจ Green Home Loan สินเชื่อบ้านประหยัดพลังงาน, ธุรกิจสีเขียว (Go Green) เพื่อกระตุ้นส่งเสริมสนับสนุน ซึ่งในส่วน BCG เราปล่อยสินเชื่อไปแล้วมากกว่า 20,000 ล้านบาท

ยกตัวอย่าง เมื่อเร็ว ๆ นี้ ธนาคารออมสิน เปิดตัวสินเชื่อ EV Supply Chain ให้ดอกเบี้ย 3.99% ภายใน 2 ปี ธนาคารออมสินไม่มีกำไร เพราะเงินต้น ทุนสำรอง และเงินบริหารจัดการประมาณนี้

Net Zero ชีวิตจริงอาจจะไม่ได้ 0 ทีเดียว ในการคำนวณเปิดโอกาสให้เอา 10% ของแผนปัจจุบันสามารถชดเชยด้วยการปลูกป่า หรือไปทำเทคโนโลยีในการดูดซับคาร์บอนได้ เช่น ปีนี้ธนาคารออมสินพบปริมาณก๊าซเรือนกระจก 1.72 ล้าน tCO2e ตัวเลข 10% เท่ากับ 170,000 ล้าน tCO2e เราปลูกป่ารองรับ โดยจะทำให้ได้ประมาณ 50,000 ไร่ในปี 2033 เริ่มมีความท้าทายอยู่

ปรับแผนรายใหญ่สู่ SME ในห่วงโซ่

วิทัยบอกว่า ตามแผนการทำ Net Zero จะเริ่มจากธุรกิจขนาดใหญ่ที่ไปลงทุนก่อน ถัดไปเป็น ลูกค้าใน Supply Chain ของรายใหญ่ และ SME ขนาดใหญ่ที่ต้องส่งสินค้าให้ Supply Chain เช่น ในการผลิตสินค้า SME รายนั้นต้องมีแผน Net Zero เพื่อส่งสินค้าต่อไปให้กับบริษัทขนาดใหญ่เพื่อส่งออก เราไปช่วยลักษณะอย่างนี้ก่อน

ยกตัวอย่าง เราปล่อยสินเชื่อ EV Supply Chain ให้ตลอดทั้งห่วงโซ่ หรือหากมีบริษัทโชว์รูม EV Car มาขอสินเชื่อ ถือเป็นซัพพลายเชนต่อท้ายต่อหัวได้ว่า รับสินค้ามาจากใคร ใครซื้อของจากเขา เราลดอัตราดอกเบี้ยให้ 3.99% ภายใน 2 ปีแรกถือว่าต่ำมาก ๆ นอกจากนี้ เราจะให้สินเชื่อกับพวก Go Green คนที่ต้องการเปลี่ยนมาใช้ EV Supply Chain หรือตัว Geen Home บ้านประหยัดพลังงาน

สำหรับเป้าหมายวงเงินสินเชื่อ ESG ต่อปี ยังไม่ได้กำหนด

ใช้ ESG Score ประเมินพอร์ตลงทุน

ESG Score เราขับเคลื่อนจากบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่กลายเป็นธุรกิจลงทุนในต้นปีหน้า เพราะฉะนั้นต้นปีหน้า ตราสารหนี้ทั้งหมดที่เราเข้าไปลงทุน หรือเราเข้าไป Underwrite ต้องถูกประเมิน ESG Score แล้วหลังจากนั้นจะเคลื่อนไปที่ SME ขนาดใหญ่ที่เป็นซัพพลสายเออร์ของตัว Net Zero ซึ่ง ต้องให้เวลาปรับตัว