กาแฟไทย ก้าวสู่ตลาดโลก

คอลัมน์ สามัญสำนึก โดย พิเชษฐ์ ณ นคร


พฤติกรรมของผู้บริโภคชาวไทยโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่นิยมดื่มกาแฟเพิ่มขึ้น ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกาแฟ ชา โกโก้ขยายตัวเติบโตอย่างรวดเร็ว ขณะที่ร้านขายกาแฟทั้งในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ต่างจังหวัดทุกภูมิภาคก็มีปริมาณเพิ่มขึ้นมาก

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า ช่วง 5 ปีตั้งแต่ปี 2555-2559 ตลาดกาแฟคั่วบดและสำเร็จรูปขยายตัว 7.3% โดยปี 2559 มูลค่าตลาดประมาณ 3.9 หมื่นล้านบาท ปี 2560 คาดว่ามูลค่าตลาดจะสูงขึ้นเป็น 4 หมื่นล้านบาท ตามแนวโน้มเศรษฐกิจ การบริโภค การลงทุนที่ปรับตัวดีขึ้น

เนื่องจากที่ผ่านมาคนไทยยังบริโภคกาแฟอยู่ในระดับต่ำที่ 1.07 กิโลกรัม/คน/ปี เทียบกับคนญี่ปุ่นบริโภคกาแฟ 3.5 กิโลกรัม/คน/ปี โอกาสทางการตลาดจึงยังเปิดกว้าง ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกาแฟมีโอกาสจะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ขณะที่ข้อมูลจากสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย ซึ่งอ้างอิงรายงานของ Euromonitor.com ระบุว่า มี 4 ประเทศในอาเซียนที่ติดอันดับการบริโภคกาแฟโดยเฉลี่ยมากที่สุดติด 50 อันดับแรกของโลก โดยสิงคโปร์ อยู่ในอันดับที่ 36 ไทย อันดับที่ 41 มาเลเซีย อันดับที่ 45 และฟิลิปปินส์ ติดอันดับ 49

ภูมิภาคอาเซียนจึงมีโอกาสที่ดีในการประกอบธุรกิจกาแฟ จากความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์จากที่อยู่ใกล้ประเทศอื่น ๆ

ในเอเชีย ซึ่งเป็นตลาดกาแฟขนาดใหญ่ อย่างเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เขตปกครองพิเศษฮ่องกง จีน โดยเฉพาะญี่ปุ่นนำเข้ากาแฟมากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของโลก และตลาดนำเข้าเติบโตเฉลี่ย 3.5% ต่อปี รองจากสหภาพยุโรป และสหรัฐ

ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยได้ให้การสนับสนุนธุรกิจกาแฟ โดยได้จัดทำ “ยุทธศาสตร์กาแฟปี 2560-2564″ กำหนดวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยเป็นผู้นำการผลิตและการค้ากาแฟคุณภาพในภูมิภาคอาเซียน ก้าวไกลสู่ตลาดโลกภายใต้ภาพลักษณ์กาแฟไทย” เน้นสร้างให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้ากาแฟในอาเซียน

แนวทางหนึ่งในการผลักดันยุทธศาสตร์กาแฟให้ไปถึงเป้าหมาย คือการผนึกกำลังหลายภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนแผนงานโครงการต่าง ๆ ให้เกิดรูปธรรม ล่าสุด สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร สมาพันธ์กาแฟอาเซียน สมาคมบาริสต้าไทย สมาคมกาแฟไทย สมาคมกาแฟและชาไทย จ.เชียงใหม่ และ บจ.เอ็น.ซี.ซี.แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จะร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุม “การพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟในอาเซียน ครั้งที่ 1 ACID 2018 ระหว่าง 22-25 พ.ย. 2561 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่

ภายในงานจะมีการประชุมภาควิชาการโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน ปาฐกถาพิเศษ จากผู้ทรงคุณวุฒิด้านกาแฟที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับทั้งในระดับประเทศ และระดับภูมิภาค การเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์จากตัวแทนประเทศสมาชิกอาเซียน การประชุมเชิงนโยบาย การนำเสนอผลงานทางวิชาการ นิทรรศการ การจำหน่ายสินค้า

การแข่งขันบาริสต้า Brewer Cup Championship ชงกาแฟด้วยมือ โดยใช้กระดาษกรอง ให้ได้รสชาติกาแฟที่ดีที่สุด โดยใช้เมล็ดกาแฟคั่วของเกษตรกรไทย การแข่งขันรายการ Latte Art Championship สร้างสรรค์ลายลาเต้อาร์ต ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ และการทัศนศึกษาเชิงวิชาการและวัฒนธรรม โดยเยี่ยมชมโครงการส่งเสริมการปลูกกาแฟ โรงงานผลิตกาแฟ และร้านกาแฟที่น่าสนใจใน จ.เชียงใหม่

เป็นกิจกรรมที่จะส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเปิดโอกาสทางธุรกิจด้านกาแฟของประเทศไทยตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ผลักดันให้ยุทธศาสตร์กาแฟปี 2560-2564 ของไทยบรรลุเป้าหมาย