อนาคตยางพาราไทย ในตลาดจีนยังสดใสได้ด้วย FTA

คอลัมน์ แตกประเด็น

โดย อรมน ทรัพย์ทวีธรรม กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญของไทย ปัจจุบันไทยมีเนื้อที่ปลูกยางพารากว่า 23 ล้านไร่ (ครอบคลุมกว่า 60 จังหวัด) และสามารถผลิตยางธรรมชาติได้ 4.9 ล้านตันต่อปี ผลผลิตดังกล่าวได้สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งสร้างรายได้จากการส่งออกให้กับประเทศกว่าปีละ 1.5 แสนล้านบาท ทั้งนี้ ไทยเป็นผู้ส่งออกยางพาราสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก ในปี 2561 ไทยส่งออกยางพารามูลค่ากว่า 4.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ

จีนถือเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 1 ที่ไทยส่งออกยางพาราไปกว่าปีละ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 42.59 ของการส่งออกยางพาราทั้งหมดของไทย โดยจีนเป็นตลาดที่นำเข้ายางพาราอันดับหนึ่งของโลก รับซื้อยางพารากว่าปีละ 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ จีนจึงเป็นตลาดหลักที่ไทยน่าจะรักษาศักยภาพการแข่งขันในสินค้ายางพารามากที่สุด

การบรรลุข้อตกลงระหว่างอาเซียนกับจีนในการกำหนดกฎถิ่นกำเนิดสินค้าใหม่ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) อาเซียน-จีน ให้มีกฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้า (product specific rules หรือ PSRs) ครอบคลุมสินค้ากว่าสองพันรายการหรือครึ่งหนึ่งของรายการสินค้าทั้งหมดเมื่อเดือนตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา เป็นการพัฒนากฎถิ่นกำเนิดสินค้าใหม่ให้มีความสอดคล้องกับรูปแบบการค้าระหว่างประเทศและกระบวนการผลิตของสินค้าในปัจจุบัน โดยเฉพาะในกรณีของสินค้ายางพาราซึ่งเป็นสินค้าที่ผู้ประกอบการไทยให้ความสำคัญ

เนื่องจากจีนเป็นตลาดส่งออกหลักของยางพาราไทยครอบคลุมเกือบครึ่งหนึ่งของการส่งออกทั้งหมด จึงถือว่าเป็นอีกก้าวความสำเร็จที่ไทยสามารถผลักดันกฎเฉพาะรายสินค้าฉบับใหม่ระหว่างอาเซียน-จีนให้สอดคล้องกับความต้องการของไทย โดยเพิ่มความเข้มงวดของกฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะราย กรณีสินค้ายางพาราที่จะได้รับการลดภาษีศุลกากรภายใต้ FTA อาเซียน-จีน จะต้องผลิตขึ้นหรือได้มาทั้งหมดภายในประเทศของตน เปลี่ยนจากหลักเกณฑ์เดิมที่ยอมรับมูลค่าของวัตถุดิบที่ใช้ภายในประเทศไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 โดยสามารถนำมูลค่าของวัตถุดิบจากทุกประเทศสมาชิกมารวมกันได้

การเพิ่มความเข้มงวดของกฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายในสินค้ายางพาราภายใต้ FTA อาเซียน-จีนดังกล่าว จะช่วยป้องกันไม่ให้สินค้าที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในประเทศได้ประโยชน์จากการลดเลิกภาษีศุลกากร และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ผลิตของไทยในตลาดจีน

โดยสินค้าส่วนใหญ่ที่ไทยผลักดันให้ใช้กฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายแบบเข้มงวดนี้ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าเกษตร นอกจากยางพาราแล้วยังมีสินค้าสำคัญของไทย เช่น สินค้าสัตว์มีชีวิต เนื้อสัตว์ ปลามีชีวิต พืชผัก ธัญพืช ข้าว น้ำมันปาล์ม เมล็ดพืช น้ำตาล และเมล็ดโกโก้ เป็นต้น

สำหรับแนวโน้มการส่งออกยางพาราของไทยนั้น ในระยะยาวคาดว่าไทยยังสามารถครองความเป็นผู้นำการส่งออกยางพาราไปยังประเทศคู่ค้าได้ โดยเฉพาะตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ จีน ซึ่งยังคงมีความต้องการนำเข้ายางพาราอย่างต่อเนื่อง

เนื่องจากปริมาณผลผลิตในประเทศจีนยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ อย่างไรก็ตาม สิทธิประโยชน์ที่ไทยได้รับภายใต้ FTA อาเซียน-จีนนั้น คู่แข่งขันสำคัญของไทยที่เป็นผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ คือ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยก็ได้รับประโยชน์เช่นกัน โดยเฉพาะอินโดนีเซียที่เริ่มเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ของไทยในญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และสหรัฐ ทำให้ผู้ส่งออกยางพาราของไทยอาจเผชิญการแข่งขันสูง

นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญที่ควรติดตามอย่างใกล้ชิด คือ สถานการณ์ปัญหาสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่สร้างความกังวลให้หลายฝ่ายชะลอการลงทุน ส่งผลให้เศรษฐกิจของโลกโดยรวมอยู่ในสภาวะถดถอย จึงส่งผลให้ปริมาณความต้องการยางพาราเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ ชะลอตัวตามไปด้วย

ดังนั้น เพื่อรักษาสถานะการเป็นอันดับหนึ่งในการส่งออกสินค้ายางพาราของไทยอย่างยั่งยืน นอกจากข้อได้เปรียบของผู้ส่งออกไทยจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้ FTA แล้ว ผู้ประกอบการของไทยต้องเร่งปรับตัวเพื่อเพิ่มศักยภาพรับการแข่งขันกับต่างประเทศ โดยพัฒนามาตรฐานสินค้าให้เท่าทันกับความต้องการของตลาดด้วย