หนี้สินภาคครัวเรือน…กับดักเศรษฐกิจ

บทบรรณาธิการ

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติ 7 : 0 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ระดับเดิมที่ 1.75% ต่อปี เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ขณะที่เงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย แต่ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

หนึ่งในประเด็นหลักที่ กนง.กังวล คือ ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน ที่ปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่สูง และการก่อหนี้ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหนี้จากสินเชื่อรถยนต์ และการก่อหนี้เพื่อซื้อสินทรัพย์ สวนทางกับรายได้และเศรษฐกิจในภาพรวมที่ชะลอตัวลง

นอกจากจะคงดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดความเสี่ยงแล้วกนง.ชี้ว่าจากนี้ไปต้องใช้หลากหลายเครื่องมือดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ยังอ่อนไหว ทั้งมาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (microprudential) มาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential)เน้นความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้เพิ่มขึ้น

ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งสัญญาณเตือนปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนเป็นระยะ ๆ โดยออกมาตรการคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย ปรับปรุงเกณฑ์กำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อต่อมูลค่าหลักทรัพย์ค้ำประกัน (LTV) เข้มข้นขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงหนี้เสียในสินเชื่อบ้าน

และล่าสุดกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เปิดตัวโครงการคลินิกแก้หนี้ ระยะที่ 2 ขยายขอบเขตถึงหนี้บัตรเครดิต หรือสินเชื่อส่วนบุคคลของ nonbank จากระยะแรกครอบคลุมเฉพาะหนี้ธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากลูกหนี้ของ nonbank มีจำนวนกว่า 80% ของลูกหนี้ภาคครัวเรือนทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากการสำรวจของหลายหน่วยงานที่ชี้ว่า ณ สิ้นปี 2561 หนี้สินภาคครัวเรือนของไทยอยู่ที่ 78.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่อยู่ในระดับ 78.3% ของจีดีพี แต่ตัวเลขยอดหนี้ในปัจจุบันกลับมาเร่งตัวขึ้น แถมพุ่งแซงหน้าจีดีพี จึงน่าห่วงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจในภาพรวม

เพื่อไม่ให้หนี้ภาคครัวเรือนกลายเป็นระเบิดเวลารอปะทุ นอกจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหาทางป้องกันแก้ไขหนี้ภาคครัวเรือนโดยเร่งด่วน ด้วยการขับเคลื่อนนโยบายแก้หนี้ของรัฐบาลให้เป็นรูปธรรมกว่าที่ผ่านมาแล้ว การปลุกจิตสำนึกในการใช้จ่าย ไม่สุรุ่ยสุร่าย สร้างวินัยทางการเงิน สร้างงานสร้างรายได้ เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการควบคู่กัน

เพราะทางเลือกเดียวที่ผู้มีรายได้น้อย คนด้อยโอกาสจะปลอดหนี้ คือการมีรายได้เพิ่ม ใช้จ่ายอย่างประหยัด รู้จักเก็บออม หนี้ภาคครัวเรือนจึงจะไม่พอกพูนกลายเป็นความเสีี่ยง ทำให้เศรษฐกิจติดกับดัก