หุ่นยนต์สอนภาษา

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย พิเชษฐ์ ณ นคร

 

โลกยุคดิจิทัล หุ่นยนต์ (robots) กับปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) หรือ AI เป็นเรื่องใกล้ตัวทั้งในชีวิตประจำวัน และการทำงาน ทั้งที่จริง ๆ แล้วหุ่นยนต์เข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิตคนมานานแล้ว เพียงแต่คนส่วนใหญ่อาจมองเป็นความเคยชิน และคาดไม่ถึง อย่างการเบิกเงินสดจากตู้ ATM เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ ตู้น้ำดื่ม ที่ชาร์จโทรศัพท์หยอดเหรียญ เครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ฯลฯ ไม่รวมสินค้าและบริการสารพัดรูปแบบที่ผู้ประกอบการแข่งกันลอนช์ออกสู่ตลาดไม่เว้นแต่ละวัน

ขณะเดียวกัน การนำหุ่นยนต์ กับ AI มาปรับใช้ในการทำงานในเวลานี้ เป้าหมายหลักไม่ได้มีแค่การตอบสนองความต้องการของลูกค้าเพียงเรื่องความสะดวกสบาย หรือความรวดเร็วเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่หุ่นยนต์ และ AI สามารถตอบโจทย์ในแง่ประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการทำงานได้ควบคู่กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการผลิตและโรงงานอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นทั้งคุณภาพในการผลิตสินค้า ความสม่ำเสมอ รวดเร็ว ปลอดภัย หรืองานที่ค่อนข้างเสี่ยงอันตราย

ที่สำคัญท่ามกลางสถานการณ์ที่แรงงานขาดแคลนและหายาก อัตราค่าจ้างมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ การนำหุ่นยนต์ หรือ AI มาใช้ทดแทนแรงงานคนยังช่วยลดต้นทุนการผลิต ทำให้ศักยภาพในการแข่งขันมีเพิ่มขึ้น หุ่นยนต์ AI จึงกลายเป็นทางเลือกใหม่ และเป็นทางออกของโรงงานอุตสาหกรรม กับผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายกลาง รายเล็ก หรือเอสเอ็มอี

เช่นเดียวกับแวดวงการศึกษาซึ่งหลายพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนครูบาอาจารย์ อย่างในพื้นที่ห่างไกล หรือในชนบทไกลปืนเที่ยง ขณะที่โรงเรียน สถานศึกษาบางส่วนนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในการเรียนการสอนเพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่น กระตุ้น หรือดึงดูดความสนใจของเด็กนักเรียน การให้เด็กได้เรียนรู้เทคโนโลยี นวัตกรรม ฯลฯ

ปัจจุบันหลายประเทศเล็งเห็นถึงประโยชน์และความสำคัญในการพัฒนาหุ่นยนต์มาช่วยในการเรียนการสอน การทำกิจกรรมด้านการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟินแลนด์ ฯลฯ แม้ยังไม่แพร่หลายมากนัก

สำหรับประเทศไทยนั้น ช่วง 2-3 ปีก่อนเคยมีข่าวอาจารย์วิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ กับอาจารย์โรงเรียนมัธยม ในจังหวัดแพร่ ได้ร่วมพัฒนาและสร้างหุ่นยนต์ใช้เป็นสื่อในการสอนเช่นเดียวกัน ถือเป็นมิติใหม่ที่สร้างความฮือฮา กระตุ้นความสนใจเด็กนักเรียนได้ไม่น้อย

ล่าสุด มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ร่วมกับบริษัทผลิตหุ่นยนต์ในประเทศไทย ผุดไอเดียเก๋ จัดทำโครงการหุ่นยนต์สอนภาษาระบบ 2 ภาษา ผลิตหุ่นยนต์สอนภาษาอังกฤษ กับภาษาแมนดาริน หรือภาษีจีนกลาง สำหรับเด็กปฐมวัย ให้กับโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ

เพราะเห็นถึงความสำคัญด้านการเรียนรู้ และการสื่อสารภาษาหลักของเด็กปฐมวัย ด้วยการนำนวัตกรรมมัลติมีเดีย จัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษแนวใหม่ DynEd International Inc. จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับการรับรองจากสหภาพยุโรป ตามมาตรฐานสากล CEFR ที่มีการใช้กว่า 70 ประเทศทั่วโลก เป็นแนวทางในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษแบบธรรมชาติ เช่นเดียวกับการเรียนรู้ภาษาแรก หรือภาษาแม่ จากการได้ยิน มองเห็นภาพ เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างเสียงกับภาพ ก่อให้เกิดความเข้าใจช่วยทดแทนแรงงานคุณครูตามชนบทที่ขาดแคลน หรือใช้เป็นสื่อในการเรียนการสอนเพื่อกระตุ้นความสนใจของเด็ก ๆ สอดรับกับนโยบาย Thailand 4.0

ขณะนี้อยู่ระหว่างประชาสัมพันธ์ ให้สถานศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย ในสังกัด อปท.ที่สนใจติดต่อสั่งซื้อ สนนราคาหุ่นยนต์สอนภาษาตัวละ 148,000 บาท แม้ค่อนข้างสูงแต่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา การันตีว่าคุ้มค่าในระยะยาว

เพราะเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาล 1-3 จะได้เรียนภาษาจีน กับภาษาอังกฤษรูปแบบใหม่ DynEd Let”s Go เกิดการพัฒนาทักษะทางภาษาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน มีประสิทธิภาพ