จีนผงาดที่ 1 ส่งออกข้าว

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

 

การประชุม Thailand Rice Conversation 2019 ได้มีการตั้งวงเสวนาเรื่องแนวโน้มการค้าข้าวโลกจาก “เทรดเดอร์ข้าว” ระดับโลก คือ Mr.Jeremy Zwinger จากบริษัท Rice Trader, Mr.Satish Thampy จากบริษัทโอแล่ม และ Mr.Sminder Bedi จากบริษัท Phoenix

โดยทั้ง 3 ท่านได้ให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกันว่า ระบบการค้าข้าวโลกจะได้รับผลกระทบอย่าง “ถอนรากถอนโคน” จากสงครามการค้าจีน-สหรัฐ ที่ต่างฝ่ายต่างตอบโต้กันด้วยการขึ้นภาษีไปมาระหว่างกัน

สิ่งที่เทรดเดอร์ข้าวเป็นห่วงก็คือ ปริมาณสต๊อกข้าวคงค้างของจีนได้พุ่งขึ้นไปถึงระดับ 117 ล้านตันในปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นปริมาณ “มหาศาล” ในขณะที่ไทยส่งออกข้าวอย่างเก่งที่สุดประมาณปีละ 10 กว่าล้านตันเท่านั้น ปริมาณสต๊อกคงค้างดังกล่าวไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในปีนี้ แต่เป็นสต๊อกสะสม

ในช่วงหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายอุดหนุนการเกษตรของรัฐบาลจีนเอง คล้าย ๆ กับนโยบายของรัฐบาลไทยในอดีตนั่นก็คือ การรับซื้อข้าวเข้าเก็บและมีการคาดการณ์ในวงการค้าข้าวว่า ประเทศจีนจะเปลี่ยนจากประเทศ “ผู้นำเข้าข้าว” กลายเป็นประเทศ “ผู้ส่งออกข้าว”

และด้วยสต๊อกที่มหาศาลมากมายเช่นนี้ รัฐบาลจีนมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งขาย หรือระบายข้าวออกนอกประเทศทันที ก่อนที่สต๊อกข้าวใหม่ในปี 2562 จะโถมทับกันเข้ามาอีก

โดยประมาณกันว่าจีนอาจจะต้องระบายข้าวออกนอกประเทศยาว ๆ ไปจนถึงปี 2563 เพื่อลดสต๊อกที่ล้นเกินมากกว่า 3 เท่าตัวลงมาเป็นอย่างน้อย และนั่นหมายความว่า ลำดับประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกจะเปลี่ยนไป ไม่ใช่อินเดียหรือไทย แต่จะกลายเป็น “จีน” ขยับขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลกได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าสังเกตว่า ปรากฏการณ์สต๊อกข้าวล้นเกินของจีนนั้น “สวนทาง” กับสต๊อกข้าวของประเทศไทย หลังจากที่รัฐบาลชุดปัจจุบันได้เข้ามาแก้ไขปัญหาสต๊อกข้าวที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งมีมากกว่า 18 ล้านตัน ด้วยการขายทั้งภายในและภายนอกจนหมดภายใน 5 ปีที่ผ่านมา โดยการระบายข้าวส่วนหนึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่า มาจากการทำ MOU ขายข้าวแบบ G to G ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน ในปริมาณ 1 ล้านตันแรก และ 1 ล้านตันที่สอง

โดยขณะนี้รัฐบาลไทยได้ขายข้าว G to G ส่งมอบให้กับรัฐบาลจีนไปแล้ว ประมาณ 700,000 ตัน และเหลืออีก 300,000 ตัน จะหมดล้านตันที่หนึ่ง แต่ยังไม่ได้เริ่ม 1 ล้านตัน ที่สอง ซึ่งเชื่อกันในวงการค้าข้าวว่า “อาจจะไม่มีการส่งมอบข้าวล้านตันที่สองอีกแล้ว” เหตุผลสำคัญก็คือ ปริมาณสต๊อกข้าวล้นเกินปกติถึง 3 เท่าของจีนในตอนนี้ จะมีผลทำให้รัฐบาลจีนไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งซื้อข้าวตาม MOU ที่ทำไว้กับรัฐบาลไทยทั้ง 2 ฉบับ

นั่นหมายความว่า การส่งมอบข้าว G to G ที่ผ่านมา ซึ่งช่วยพยุงราคาข้าวภายในประเทศจากผลทางจิตวิทยาส่วนหนึ่งตลอด 5 ปีที่ผ่านมา สำหรับข้าวฤดูกาลใหม่ และรัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศกำลังหมดไป หรือเรียกว่า “ไม่มีตัวช่วยเรื่อง G to G จากจีนเข้ามาอีก”

ตรงกันข้าม จีนเองกำลังจะกลายเป็นคู่แข่งของการขายข้าวกับไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน “ตลาดแอฟริกา” ที่จีนมีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลเหล่านั้น ผ่านทางนโยบายการให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินอยู่แล้ว นอกเหนือไปจากตลาดข้าวในเอเชียที่จะต้องแข่งกับข้าวเวียดนาม ที่มีราคา “ถูกกว่า” ข้าวขาวไทยถึง 20 เหรียญต่อตัน

ขณะที่ภาพรวมการส่งออกข้าวของไทยในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ทำไปได้เพียง 3.1 ล้านตัน หรือลดลงไปถึง 15.7% ด้วยมูลค่า 1,616 ล้านเหรียญ หรือลดลง 12.5% เฉลี่ยส่งออกได้เดือนละล้านกว่าตัน ยิ่งต้องมาเผชิญกับการระบายข้าวในสต๊อกของจีน และคาดการณ์กันว่า จีนจะต้องรุกเข้ามาในตลาดข้าวแข่งขันกับประเทศผู้ผลิตทั้งอินเดีย-ไทย-เวียดนาม ด้วยการออกชุดมาตรการที่ทำให้เงินหยวน “อ่อนค่าลง” มากกว่าปกติ ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการตอบโต้ทางการค้าที่จีนมีต่อสหรัฐด้วยแล้ว

จึงเป็นเรื่องยากที่ไทยจะกลับมาส่งออกข้าวในระดับ 9.5 ล้านตัน ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ได้อีก