คนไทยยิ่งจนยิ่งเป็นหนี้

A Thai woman holds her child in a queue as people wait to recieve a bag of rice during an annual food distribution by a Chinese foundation in Bangkok, 02 August 2000. Ethnic-Chinese living in Thailand believe food distribution for the poor will help them recieve merit and success in their lives. (ELECTRONIC IMAGE) AFP PHOTO/Pornchai KITTIWONGSAKUL (Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

สามัญสำนึก สมปอง แจ่มเกาะ

ช่วงนี้มีเหตุต้องวิ่งเข้าออกโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าอยู่เนือง ๆ  ไปโรงพยาบาลเห็นแล้วก็ปลงและต้องทำใจ คนไข้-ญาติต้องตื่นนอนตั้งแต่ก่อนไก่โห่ และหอบสังขารเพื่อไปรับบัตรคิวตั้งแต่ตีสี่ตีห้า แต่ก็ต้องขอบคุณบรรดาเจ้าหน้าที่-พยาบาล-ผู้ช่วยพยาบาล ที่เสียสละมาทำงานตั้งแต่เช้ามืดด้วยจิตอาสา

แต่ละวันคนไข้เยอะมาก ๆ โดยเฉพาะผู้สูงอายุคิวยาวรอนาน ต่างจากโรงพยาบาลเอกชนแบบลิบลับเลยทีเดียว

นอกจากวิ่งหาหมอพยาบาล หาหยูกยามากินแก้ป่วย บางวันก็ต้องเข้าวัดฟังสวดพระอภิธรรมของญาติผู้ใหญ่ ญาติสนิทมิตรสหายที่ถึงเวลาละสังขารลาโลกไปหลายคน ความเจ็บป่วย-ความตาย เป็นความทุกข์ ไม่มีใครเลี่ยงได้ คนที่ยังอยู่ก็ต้องดิ้น ต้องสู้กันต่อไป

ตอนนี้ทุกข์อีกอย่างหนึ่งที่คนไทยเกือบทั้งประเทศกำลังเผชิญหน้าอยู่ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องการเป็นหนี้

ไม่ต้องอื่นไกล เมื่อต้น ๆ เดือนกันยายนที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้แถลงรายงานภาวะสังคมไตรมาส 2/2562 ซึ่งพบว่าตัวเลขหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปี 2560

สศช.ระบุว่า คนไทยมีหนี้ครัวเรือนเท่ากับ 13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 6.3% หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีที่สูงถึง 78.7% ทำสถิติสูงสุดในรอบ 9 ไตรมาส หรือ 2 ปี 3 เดือน

ประเด็นที่หนังสือพิมพ์ ทีวี สื่อออนไลน์นำไปพาดหัว หลัก ๆ จะมุ่งไปที่…คนไทยเป็นหนี้สูงติดอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากเกาหลีใต้ และอันดับ 11 จาก 74 ประเทศทั่วโลก

แต่หากใครที่ติดตามเรื่องนี้มาต่อเนื่องก็จะทราบดีว่า ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งจะเกิดขึ้น แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เคยออกโรงมาเตือนเรื่องนี้เป็นระยะ ๆ พร้อมกับมีการออกมาตรการต่าง ๆ มาควบคุมและกำกับ และย้ำเสมอ ๆ ว่าคนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น มากขึ้น และนานขึ้น แม้ใกล้เกษียณหนี้ก็ยังไม่ลด

ขณะที่สถาบันการเงินก็ยอมรับว่า การขยายตัวของจำนวนบัญชีหนี้ครัวเรือนในแต่ละปีส่วนใหญ่เกิดจากการเปิดบัญชีสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตของผู้กู้ที่มีสินเชื่อประเภทนี้อยู่แล้ว

จริงๆแล้ว สัญญาณอันตรายของเศรษฐกิจไทยได้เริ่มก่อตัวขึ้น เริ่มจากเหตุการณ์เรือนักท่องเที่ยวจีนล่มที่ภูเก็ตเมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวร่วงลงอย่างไม่เป็นขบวน ตามมาด้วยสงครามการค้าสหรัฐ-จีนที่เริ่มปะทุขึ้นและฟาดหางใส่ธุรกิจส่งออกจนแทบกระอัก

ย้ำนะครับว่า สิ่งที่ สศช.นำมาแถลงนั้น เป็นตัวเลขเมื่อสิ้นไตรมาส 1 เพียงไตรมาสเดียว ส่วนตัวเลขไตรมาส 2-3-4 จะออกมาอย่างไรคงต้องลุ้นและติดตามชนิดห้ามกะพริบตา

หลายคนอาจจะมองแบบโลกสวยว่า สถานการณ์ในไตรมาส 2-3-4 ที่เหลืออยู่ ตัวเลขหนี้ครัวเรือนไม่น่าจะเพิ่มขึ้น พร้อมกับยกแม่น้ำทั้ง 5 มาอธิบาย ทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มีออกมา หรือมองบวกว่าตอนนี้ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจหลาย ๆ ตัวปรับตัวดีขึ้น ดัชนีการอุปโภคบริโภค การใช้จ่ายภาครัฐ และการท่องเที่ยวที่กำลังขยายตัว

แต่ผมกลับมองตรงกันข้าม และเชื่อว่าตัวเลขหนี้ครัวเรือนจะยังพุ่งขึ้นต่อเนื่องและมีโอกาสสูงที่จะวิ่งไปแตะ หรืออาจจะทะลุ 80% ของจีดีพี

เหตุผลคือ ตอนนี้เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงขาลง เครื่องยนต์เศรษฐกิจทุกตัวแผ่วจนแทบจะไม่มีกำลังขับเคลื่อน และตอนนี้นอกจากตัวเลขสินเชื่อส่วนบุคคลที่ขยับตัวเพิ่มขึ้นมากแล้ว อีกด้านหนึ่งก็ยังพบว่า หนี้นอกระบบก็เติบโตมากขึ้นเช่นกัน ที่หนักกว่านั้นก็คือ คนไทยรายได้ต่อหัวต่ำ และยิ่งจนยิ่งเป็นหนี้

นี่คือ ความเปราะบางของเศรษฐกิจไทย เมื่อหนี้สูงเกินตัว ก็จะฉุดไม่ให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยและกระทบกับกำลังซื้อ คนที่โชคดี คือคนที่ไม่เป็นหนี้