“สร้างสุข” ในใจ

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

จริง ๆ ความสุขในใจของคนเราเกิดขึ้นไม่กี่อย่างหรอก หนึ่งในนั้นคือสุขภาพแข็งแรง สอง ไม่มีหนี้ และสาม คงเป็นเรื่องของความสำเร็จของคนภายในครอบครัว ผมว่าแค่สัก 3 เรื่องนี้ก็น่าจะทำให้คนเรายิ้มออก ฮัมเพลงตอนอาบน้ำได้ และรู้สึกว่าโลกนี้น่าอยู่มากขึ้น

สำหรับข้อ 1 ในเรื่องของสุขภาพแข็งแรง นั้น ต้องบอกว่าทุกอย่างอยู่ที่ตัวเราทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการกิน การนอน การออกกำลังกาย ถ้าเรามีวินัยเพียงพอ และรู้สึกว่าต้องทำอย่างต่อเนื่อง เราจะมีสุขภาพแข็งแรงได้

เช่นเดียวกับข้อ 2 เรื่องของความสำเร็จของคนภายในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นลูก หลาน พี่น้อง และญาติ ๆ ถ้าเราวางรากฐานชีวิตของพวกเขาตั้งแต่เด็ก ๆทั้งยังมีการบริหารจัดการที่ดีพอ การที่บุคคลภายในครอบครัวจะเดินไปสู่ความสำเร็จ คงไม่ยาก

แต่สำหรับข้อ 3 เรื่องการไม่มีหนี้นั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ค่อนข้างยาก ยกเว้นคนที่คาบช้อนเงินช้อนทองมาตั้งแต่เกิด เพราะเขาไม่เคยมีโอกาสสัมผัสกับคำว่าหนี้เป็นอย่างไร ? ทรมานมากน้อยแค่ไหน ? และเมื่อไหร่หนอจะปลดหนี้ในชีวิตได้เสียที ?

โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ๆ คนที่ต้องหาเช้ากินค่ำ หรือชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน เพราะหนี้ที่เกิดขึ้นนอกจากจะเกิดจากการกู้เงินเพื่อส่งเสียบุตรหลานเรียนหนังสือ, ผ่อนบ้าน, รถยนต์, รถจักรยานยนต์ บางครั้งอาจจะต้องไปกู้หนี้ยืมสินเขามาเพื่อมาดูการเกษตรทั้งระบบ

ถ้าไม่มีหนี้ก็จะไม่ได้สิ่งเหล่านี้มา

พวกเขาจึงยอมที่จะเป็นหนี้ก่อน เพื่อแลกกับรายได้ที่จะตามมาในการเลี้ยงครอบครัวต่อไป ซึ่งคนเหล่านี้ สักวันจะปลดหนี้ได้ แต่ก็มีลูกหนี้อีกหลายประเภทที่ก่อหนี้จากความฟุ่มเฟือยของตัวเอง จนทำให้เป็นดินพอกหางหมู กระทั่งหาทางออกในการปลดหนี้ไม่ได้ ที่สุดจึงไปกู้นอกระบบ

ก็ยิ่งทำให้เขาทุกข์ใจหนักขึ้น เพราะดอกเบี้ยมหาโหด และทำท่าว่าชีวิตนี้คงไม่มีทางปลดหนี้ได้ เมื่อปลดหนี้ไม่ได้ ใจก็ไม่เป็นสุข ครอบครัวก็มีปัญหา และอาจทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมามากมาย จนกลายเป็นปัญหาสังคมต่อไป

ผมกำลังพูดถึงหนี้ครัวเรือนของคนไทยซึ่งทำท่าว่าจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยระบุชัดเจนว่าสถานการณ์หนี้ครัวเรือนในไตรมาส 1-3 ของปี 2562 ทำท่าจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉพาะปี 2561 เรามีหนี้ครัวเรือนสูงถึง 12.8 ล้านล้านบาท นั่นหมายความว่าในปี 2562 หนี้ครัวเรือนจะสูงมากกว่านี้

ดังนั้น เมื่อลองไปดูรายละเอียดกลับปรากฏว่าหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ล้วนมาจากการเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อส่วนบุคคล ผมจึงตั้งคำถามว่า…คนที่เป็นหนี้จะมีความสุขหรือ ? จะยิ้มออกหรือ ? จะทำงานอย่างมีความสุขหรือ ?

ไม่มีทางเลย ยิ่งเมื่อไปดูตัวเลขของกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ปรากฏว่าในปี 2561 ทาง กยศ.ดำเนินการให้กู้ยืมเงินไปแล้วกว่า 583,000 ล้านบาท แต่มีหนี้เสียถึง 75,000 ล้านบาท เยอะมากนะครับ

คำถามจึงย้อนกลับไปว่าเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย ทั้ง ๆ ที่รายงานของ SDG Index and Dashboards Report 2019 ระบุว่าประเทศไทยมีคะแนนเฉลี่ยในเรื่องการขจัดความยากจน 100 คะแนนเต็ม สำหรับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศในปัจจุบัน

คำตอบที่ย้อนแย้งกันนี่เอง ที่ทำให้ “ประชาชาติธุรกิจ” และ “มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ” พร้อมใจกันตั้งคำถามกับสังคมไทยว่า…เราจะปล่อยให้ประชาชนคนไทยอยู่กันแบบตามมีตามเกิดอย่างนี้หรือ

หรือเราจะปล่อยให้คนไทยดำเนินชีวิตแบบไม่ปกติเช่นนี้หรือ

ทั้ง ๆ ที่ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชนสามารถช่วยกันปลดแอกความทุกข์ของคนไทยได้ง่าย ๆ ด้วยการนำศาสตร์พระราชา และแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นกรอบในการดำเนินชีวิต

ผลตรงนี้ จึงกลายเป็นที่มาของงานสัมมนาเพื่อสังคมแห่งปี “ตามแนวพระราชดำริ ภูมิคุ้มกันสังคม วัคซีนธุรกิจยั่งยืน” เพราะเราไม่เพียงจะมี “ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล” มาเป็นองค์ปาฐกอธิบายถึง “ประสบการณ์ 5 ทศวรรษ สืบสานแนวพระราชดำริ” หากเรายังเชิญ “ดร.วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาฉายภาพตัวเลขหนี้ครัวเรือน และแนวทางการแก้ปัญหาด้วยภูมิคุ้มกันในโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย

มากไปกว่านั้น เรายังเชิญทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารกสิกรไทย, บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) และผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) มาไขความกระจ่างในการปลดหนี้สร้างสุข

ขณะที่อีกส่วนหนึ่ง เราเชิญทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมาฉายภาพของตลาดทุนไทยอันเกี่ยวเนื่องกับแนวทางในการยกระดับสังคมชุมชนอย่างบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน), สามพรานริเวอร์ไซด์, กลุ่มเซ็นทรัล และบริษัท แอล พี ซี วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด มาบอกเล่าถึงแนวทางในการสร้างภูมิคุ้มกันสังคม เพื่อยกระดับสังคมชุมชนให้เกิดความยั่งยืนไปพร้อม ๆ กันด้วย

ผมเชื่อว่าถ้าใครไปงานนี้ และมีโอกาสฟังตั้งแต่ต้นจนจบ คงจะทำให้เรา ๆ ท่าน ๆ มีความสุขในใจเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะได้มีแรงบันดาลใจในการทำมาหาเลี้ยงชีพครอบครัวต่อไป

ลองไปฟังดูนะครับ ?


หมายเหตุ : ลงทะเบียนร่วมงานได้ที่นี่