แก้ปม GSP เจรจาอย่างรู้เท่าทัน

REUTERS/Jim Bourg

บทบรรณาธิการ

การประกาศพักสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) บางส่วนของไทยชั่วคราว โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ เมื่อ 25 ต.ค. ซึ่งจะมีผลอีก 6 เดือนข้างหน้า เดือน เม.ย. 2563 กำลังเป็นประเด็นร้อนที่ถูกจับตามองและวิพากษ์วิจารณ์ว่าน่าจะมีอะไรลึก ๆ อยู่เบื้องหลัง

เนื่องจากเหตุผลที่สหรัฐระบุว่า ไทยไม่มีมาตรการปกป้องสิทธิแรงงานตามมาตรฐานระหว่างประเทศนั้น จริง ๆ แล้วช่วงหลายปีที่ผ่านมาไทยปรับแก้ระเบียบกฎหมายจำนวนมาก เพื่อคุ้มครองสิทธิและสวัสดิการภาคแรงงานโดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย

ทั้งยังปฏิบัติสอดคล้องกับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) แม้บางเรื่องอยู่ในระหว่างดำเนินการ อย่างการรับรองอนุสัญญา ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และสิทธิในการจัดตั้งสหภาพและการร่วมเจรจาต่อรอง

ต้องยอมรับว่าการตัดสิทธิ GSP นอกจากกระทบสินค้าไทยที่ส่งไปตลาดสหรัฐ 573 รายการ มูลค่ารวม 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 39,650 ล้านบาท เพราะสินค้าส่งออกไทยจะต้องเสียภาษีปีละ 1,500-1,800 ล้านบาท จากเดิมไม่ต้องเสียภาษีแล้ว ยังทำให้ภาคการส่งออกที่ชะลอตัวอยู่แล้วยิ่งมีปัญหาหนัก

ประกอบกับการใช้สิทธิประกาศตัด GSP ของประธานาธิบดีทรัมป์ เกิดขึ้นหลังสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทยทำหนังสือ คัดค้านการแบนสารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด เพราะหวั่นเกรงว่าจะกระทบการนำเข้าถั่วเหลือง ข้าวสาลีจากสหรัฐเข้ามาในประเทศไทย 2 ประเด็นจึงถูกโยงเป็นคนละเรื่องเดียวกัน

Advertisment

ขณะที่หลายฝ่ายจะมองว่าเหตุผลที่แท้จริงน่าจะมาจากหลายสาเหตุ ทั้งการแบน 3 สารพิษ การกดดันให้ไทยยอมเปิดทางนำเข้าสินค้าเกษตรอย่างเนื้อหมู ชิ้นส่วน หรือเครื่องในหมูที่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง ฯลฯ ซึ่งสหรัฐเรียกร้องมานานแต่ไทยยังไม่สนอง เพราะเกรงเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าปัญหาจะมาจากปมแรงงานหรือหลายเรื่องผสมผสาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศ ฯลฯ ต้องเร่งแก้ก่อนถึงเส้นตายเดือน เม.ย. 2563 ซึ่งภาคการส่งออกจะได้รับผลกระทบ ประเทศชาติจะเสียหาย

Advertisment

โดยบูรณาการทำงานเตรียมความพร้อมก่อนเปิดโต๊ะเจรจาอย่างรู้เท่าทัน เพราะแม้การตัด GSP จะเป็นสิทธิของสหรัฐ แต่ฝ่ายไทยต้องรักษาผลประโยชน์ประเทศ ที่สำคัญอย่าตกเป็นเบี้ยล่างทั้งที่เสียเปรียบ